ครม.ตั้งรองปธ.ศาลฎีกาเป็นกรรมการคดีพิเศษส่อขัด กม.-ก.ต.ยังไม่เห็นชอบ
ครม.มีมติแต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษชุดใหม่ ดึง "วิรัช ชินวินิจกุล" รองประธานศาลฎีกาเข้าร่วม ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ตกใจ ส่อขัดกฎหมายตุลาการ-ยังไม่ได้รับอนุมัติจาก ก.ต.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 พ.ย.57 มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ(กพค.) ตามที่ กระทรวงยุติธรรม เสนอ จำนวน 9 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพค.ที่หมดวาระ ประกอบด้วย
1.นายวิรัช ชินวินิจกุล (รองประธานศาลฎีกา) ด้านกฎหมาย, 2. นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์(ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี) ด้านกฎหมาย 3.นายสุเจตน์ จันทรังษ์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 4.นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์(อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) ด้านเศรษฐศาสตร์
5.นายธวัชชัย ยงกิตติกุล (ผู้จัดการสมาคมธนาคารไทย)ด้านการเงินการธนาคาร 6.นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม ด้านความมั่นคงประเทศ 7.นายสันทัด สมชีวิตา ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ด้านอุตสาหกรรม 9.นายประมนต์ สุธีวงศ์(ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป
แหล่งข่าวจากศาลยุติธรรมเปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า การที่ครม.แต่งตั้งนายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกาเป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.พ.ค.สร้างความตกใจให้แก่ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่เป็นอย่างมากเพราะไม่เคยทราบเรื่องมาก่อนและยังไม่เคยนำเรื่องดังกล่าวขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ซึ่งอาจขัดต่อ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 59(3)ที่ระบุว่า ข้าราชการตุลาการต้องไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในหน่วยงานของรัฐที่มีลักษณะขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตุลาการตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่สำคัญ ก.พ.ค.มีอำนาจหน้าที่ในการเกี่ยวกับการอนุมัติให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีไว้สอบสวนซึ่งในที่สุดคดีเหล่านี้ ต้องส่งให้ศาลพิจารณา ดังนั้นการเข้าไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.พ.ค.จึงมีลักษณะขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอย่างชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อหน้านี้ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 23 กันยายน แต่งตั้งนายอดุลย์ ขันทอง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม(พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา)ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง และ นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ(สนช.)ได้ขอตัวนายธานี สิงหนาถ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และนายสุริยันต์ หงษ์วิไล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไปเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการประจำตัว สนช.ด้วย แต่ปรากฏว่า ก.ต.ยังไม่ให้ความเห็นชอบ เพราะ ก.ต.มีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย จนต้องเลื่อนการพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง คาดว่าจะนำเข้าพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 พ.ย.57 นี้
อ่านประกอบ
ปธ.ศาลฎีกาย้ำจุดยืนผู้พิพากษาเป็นกลาง-อิสระ หลังถูกดึงนั่งกุนซือ"รมต.-สนช."
อำนาจการเมือง : บททดสอบ"สถาบันตุลาการ"
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก innnews.co.th