ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : เสียงต่างจะทำให้ได้ยินความเป็นจริงในสังคมไทย
นักวิชาการที่มีประสบการณ์จัดการความขัดแย้งอย่างศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองว่าการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆจะสำเร็จหรือไม่นั้น การยอมรับของประชาชนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นเครื่องตัดสิน เพราะ การปฏิรูปทุกแห่งในโลก ไม่ใช่สิ่งที่เข้มแข็งนัก หากแต่ค่อนข้างเปราะบางด้วยซ้ำ และไม่สามารถอยู่ด้วยตัวเองได้ถ้าไม่มีแรงสนับสนุนจากสังคม
ด้วยเหตุดังกล่าว การปฏิรูปจะสำเร็จลงไม่ได้ หากไม่มีการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทยที่เขามองว่า “หลบใน” หรือ “ยืดเยื้อ” ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ “การปรองดองที่ยืดเยื้อ” ผสานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเพื่อช่วยเยียวยาสังคมไทย และการทำเช่นนั้น หมายถึงการเปิดโอกาสให้เสียงในสังคม รวมทั้งเสียงต่างที่เข้มข้นได้มีโอกาสได้ยินไปถึงผู้มีอำนาจในช่วงเวลาของการปฏิรูปครั้งนี้
@: อาจารย์พูดถึงเสียงต่าง ความเห็นที่แตกต่างในสังคมไทยในเวลานี้ ที่เราเดินเข้าถึงช่วงเวลาของการปฏิรูปในประเด็นต่างๆแล้ว อาจารย์ก็ยังมองว่าจำเป็นที่จะต้องฟังเสียงต่าง เพราะอะไร สำคัญอย่างไร
ศ. ชัยวัฒน์: ผมคิดว่า เวลาเราคิดเรื่องการปฏิรูป พูดให้ถึงที่สุด เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคม ทีนี้ ต้องถามว่ามันปฏิรูปในเงื่อนไขอะไร
ในประเทศของเรา สภาพแวดล้อมทางการเมือง สังคมที่เป็นอยู่ คือความขัดแย้ง มันก็มีคนซึ่งไม่เห็นพ้องกับทิศทางที่ไปมาตั้งนานแล้ว จนกระทั่งนำมาสู่การยึดอำนาจของ คสช. ซึ่งคณะ คสช. ก็พูดเองว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำรัฐประหารก็เพราะความขัดแย้งกำลังจะกลายเป็นความรุนแรง ก็เลยต้องการจะป้องกัน
ถ้าอันนั้นใช่ ปัญหาสำคัญก็คือว่า เมื่อการรัฐประหารดำเนินมาหลายเดือนแล้ว มันไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งเหล่านั้นหายไป อาการของความขัดแย้งชนิดนี้ ผมอยากจะเรียกว่า “ความขัดแย้งหลบใน”
ทีนี้ ถ้ามันหลบใน วิธีที่จะอยู่กับมันจะทำอย่างไร มันไม่ใช่แค่อยู่เฉยๆ ผมเข้าใจว่า รัฐบาลก็ดี คสช. ก็ดี ยึดอำนาจมาแล้วก็คงไม่ใช่ว่าจะอยู่ไปวันๆ เขาก็มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเหมือนกัน สังคมไทยก็มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเหมือนกัน คนทั่วไปเองก็มี สปช. ก็มี
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่สำคัญในความเห็นผมก็คือ ทำอย่างไรจึงจะได้ยินความจริงเกี่ยวกับสังคมไทยในขณะนี้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้คนซึ่งเห็นต่างสามารถสะท้อนความเห็นของเขาออกมาได้
พูดอย่างถึงที่สุด ในทางการเมือง มันก็เป็นประโยชน์มากที่จะได้ยินเสียงของคนซึ่งไม่เห็นตรงกับรัฐบาลเลย ไม่เห็นตรงกับ สปช. เลย ไม่เห็นตรงกับ คสช.เลย ซึ่งมันอาจเป็นเสียงที่สำคัญในแง่ของการเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบนี้
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ผมคิดว่าเสียงต่างในยามนี้เป็นความจำเป็น เพราะว่ามันจะทำให้เราได้ยินความเป็นจริงในสังคมไทย
ที่น่ากลัวที่สุดในสังคมไทยตอนนี้ มันไม่ใช่อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช. )แต่มันเป็นปัญหาที่มาจากอำนาจเบ็ดเสร็จที่มีอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่อำนาจของ คสช. อย่างเดียว แต่คืออำนาจทุกชนิดแหละ
อำนาจสูงๆนี่ หูก็ไม่ค่อยได้ยิน ตาก็ไม่ค่อยเห็นความจริง อันนี้แหละ คือปัญหา หมายความว่าเวลามีความเห็นอย่างอื่น ทัศนะอย่างอื่น ความรู้สึกอย่างอื่น ที่ไม่ตรงกับเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีหรือ คสช. กำหนดไว้ จะมีโอกาสได้ยินเสียงเหล่านั้นจริงจังแค่ไหน ผมคิดว่าอันนี้สำคัญ
เสียงต่างจะมาปิดจุดอ่อนอันนี้ ถ้ากระบวนการปฏิรูปเป็นกระบวนการที่รัฐบาลหรือสังคมไทยต้องการจะเดินไปจริงๆ มันมีความจำเป็นที่จะต้องปิดจุดอ่อนในเรื่องไม่ได้ยินความจริงในสังคม ด้วยการเปิดพื้นที่ให้กับเสียงที่ต่าง
@: ตอนนี้อาจารย์เห็นสัญญาณที่จะฟังเสียงของความเห็นต่างเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ หลังจากที่ผ่านการรัฐประหารมาหลายเดือน และกำลังเข้าสู่ช่วงการปกิรูปประเทศที่ต้องฟังเสียงประชาชน
ศ. ชัยวัฒน์: แม้แต่เสียงต่าง มันก็มีหลายแบบด้วย อย่างเสียงต่างที่ไม่ต่างมาก ที่ผู้มีอำนาจฟังได้ หรือที่เรียกว่า พวกนี้พูดกันรู้เรื่อง ปัญหาของเราก็คือว่า ปัญหาไม่ได้มาจากความขัดแย้งของคนที่พอพูดกันรู้เรื่อง ปัญหามันมาจากเสียงของคนอีกพวกหนึ่งซึ่งถูกกันออกไปเพราะถูกหาว่าพูดไม่รู้เรื่อง
โจทย์ก็คือว่า จะทำยังไงให้เขาได้เข้ามาอยู่ในกระบวนการของการส่งเสียงเพื่อช่วยประคับประคองกระบวนการปฏิรูปให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องและตรงความเป็นจริง
ผมอยากจะเชื่อว่ารัฐบาล หรือ คสช. อยากทำการปฏิรูปจริงจัง ในกระบวนการนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับข้อเท็จจริงและความเป็นจริงจากฝ่ายต่างๆ ดังนั้น การมีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเปิดโอกาสให้เสียงที่ต่างอย่างเข้มข้นได้แสดงออก จึงจำเป็นต่อกระบวนการปฏิรูป เป้าหมาย และภารกิจ ที่รัฐบาลปวารณาตัวไว้ตั้งแต่ต้น
@ : จะสร้างขึ้นได้อย่างไร ด้วยวิธีไหน
ศ. ชัยวัฒน์: การสร้างพื้นที่ปลอดภัย จะทำได้ด้วยวิธีไหน ก็ต้องทำ ซึ่งอาจจะขัดกับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้พอสมควร เช่น ตอนนี้บรรยากาศของสังคมไทยอยู่ภายใต้กฏอัยการศึก เท่าที่ผมเข้าใจ ต่อให้ คสช. หรือรัฐบาลพอจะมีนโยบายเปิดอยู่บ้าง เปิดโอกาสอยู่บ้าง แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ เขาก็ต้องทำหน้าที่ของเขาภายใต้กฏอัยการศึก เขาอาจจะบอกว่า เรื่องอย่างนี้ ไม่ต้องจัด ไม่ต้องพูด ไม่ต้องฟัง ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ของเขา แต่ผลที่เกิดจากการทำหน้าที่ภายใต้บริบทนี้ คือโอกาสที่สังคมไทย รัฐบาล สปช. หรือ คสช. จะได้ยินความจริงจากอีกฝ่ายซึ่งแตกต่างอย่างเข้มข้นก็จะลดลง ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่จะสัมฤทธิผลในเรื่องของการปรองดองในรูปของการปฏิรูปก็จะลดลงด้วย
@: หมายความว่าเงื่อนไขสำคัญ น่าจะอยู่ที่การใช้อำนาจตามกฏอัยการศึกด้วยเหมือนกันใช่หรือไม่คะ
ศ. ชัยวัฒน์: พูดให้ถึงที่สุด พื้นที่ปลอดภัยนี่ มันจะต้องหมายความว่า สังคมไทยมีเสรีภาพมากขึ้นในการแสดงออกในประเด็นเหล่านี้ คนคงไม่อยากแสดงออกถ้าไม่แน่ใจว่าแสดงแล้ว มันจะเป็นทุกข์หรือเป็นสุขกับเขา การคืนความสุข ส่วนหนึ่งของความสุขก็คือเสรีภาพนะ
@ : ถ้าเสียงเหล่านี้ไม่พร้อมที่จะออกมาพูดอะไรให้ฟังเลย ไม่ว่าจะด้วยความกลัว หรืออำนาจสั่งห้ามไม่ให้พูดในเวลานี้ ผลลัพธ์ในการปฏิรูปที่จะผ่านไปอย่างราบรื่นนี่ มันจะเป็นอย่างไร
ศ. ชัยวัฒน์: คือมันก็กลับมาที่เดิม การปฏิรูปที่คุณเรียกว่า “การปฏิรูปอย่างราบรื่น” นี่ คำถามที่ผมว่าน่าสนใจคือการปฏิรูปนั้นจริงจังแค่ไหน เป็นการปฏิรูปที่จะแก้ปัญหาประเทศในระยะยาวแค่ไหน เป็นการปฏิรูปที่สังคมส่วนใหญ่เอาด้วยแค่ไหน ของพวกนี้ค่อนข้างสำคัญ
ทีนี้ การเอาด้วยของคนในสังคม ผมว่ามันบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้โดยการตรากฏหมาย แต่มันทำได้โดยการทำให้คนรู้สึกว่าเขามีกรรมสิทธิ์เหนือกระบวนการปฏิรูป เวลานี้ คำถามก็คือว่ากรรมสิทธิ์ในการปฏิรูปมันของใคร ทำโดยใคร ในนามของใคร ซึ่งถ้าไม่มีกรรมสิทธิ์ในการปฏิรูป สิ่งที่จะได้ก็คือ ก็คงปฏิรูป ก ข ค ง 11 ด้าน อะไรก็แล้วแต่ แต่มันไม่ใช่ของเรา เนื้อหามันก็จะเป็นอีกอย่าง การสนับสนุนที่มาจากแรงใจของผู้คนในสังคมมันก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง
มันก็คงจะทำให้ยากขึ้น เอาเข้าจริง การปฏิรูปทุกแห่งในโลก มันไม่ใช่ของที่เข้มแข็งอะไรนัก มันเป็นของที่ค่อนข้างเปราะบาง และมันอยู่โดยตนเองไม่ได้ถ้าไม่มีแรงสนับสนุนจากสังคม
@ : ความเห็นต่างที่เข้มข้นในเวลานี้ คิดว่าน่ากังวลแค่ไหนสำหรับหลังการปฏิรูป
ศ. ชัยวัฒน์: ผมเข้าใจแบบนี้ว่าปัญหาของการปฏิรูปภายใต้บริบทของรัฐบาลปัจจุบัน อาจเพราะมาจากทหาร เพราะฉะนั้น เวลาท่านคิด ท่านก็คิดเป็นขั้นเป็นตอน ก็เลยเริ่มต้นจากปรองดองก่อน พอปรองดองเสร็จก็ไปสู่การปฏิรูป ปฏิรูปเสร็จก็ไปสู่กติกา
แต่ปัญหาก็คือเวลาเรามองเรื่องความขัดแย้งขนาดใหญ่ มันไม่ได้เกิดภายในวันสองวันนี้ หรือหกเดือนที่ผ่านมา มันมากกว่านั้นเยอะเป็นสิบกว่าปี ทั้งหมดนี้ที่กำลังเกิดขึ้น มันเป็นลักษณะของความขัดแย้งยืดเยื้อ ถ้ามันเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อ วิธีสำคัญที่ต้องทำก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเอาฝ่ายต่างๆมาเชื่อมต่อกันในเรื่องของความปรองดอง
ฉะนั้น ความปรองดองที่ทำไปแล้ว ที่ฝ่าย คสช. ว่าทำไปแล้วนี่ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเป็นความปรองดองที่มีผลดี ยั่งยืนต่อการปฏิรูป ต่อกติกาอย่างไร
ถ้าในความเห็นเรา การปรองดอง มันก็ต้องทำยืดเยื้อ พอๆกับเรื่องของความขัดแย้ง
ถ้าอย่างนั้น ในตัวของการปฏิรูป กติกา อาจจำเป็นต้องมีเรื่องของการปรองดองอยู่ ถ้าคิดแบบนี้ได้โดยเอื้อให้คนซึ่งเห็นต่างอย่างเข้มข้น เขาอาจค่อยๆหันเข้ามา แต่ก็อาจไม่ง่าย
สมมุติว่าในที่สุดเราสามารถทำบางอย่างในเรื่องของการปฏิรูปได้ ถามว่าทำปฏิรูปได้แปลว่าอะไร คำตอบที่หนึ่งก็คือมีกฏหมายบางฉบับที่ออกโดย สปช. ว่า ปฏิรูป A B C ก ข ค อย่างนี้ แล้ว สนช. ก็ออกกฏหมายตาม อย่างนี้จะเรียกว่าสำเร็จแล้วหรือ
ผมเห็นแค่ว่ามันก็มีกฏหมายออกมา เช่น ทรัพยากร พลังงาน อะไรก็ว่าไป แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้การปฏิรูปเป็นผลจริงๆคือการเห็นพ้องต้องด้วย การร่วมมือร่วมใจของภาคสังคม
@ : อาจารย์ยกตัวอย่างได้หรือไม่ว่าการปฏิรูปที่จะใส่วิธีการปรองดองเข้าไป จะทำอย่างไร
ศ. ชัยวัฒน์: ถ้าให้คิดเร็วๆ เราลองดูอย่างพื้นที่ที่เราคุ้นอย่างการปฏิรูปการศึกษา สมมุติว่าถ้าพูดถึงปฏิรูปการศึกษา เวลาเขาถามก็จะถามว่าใครเป็น stakeholders บ้าง แต่ผมคิดว่าถามแค่นี้ไม่พอ เพราะมันอาจรวมไปถึงปัญหาของคนซึ่งไม่เห็นพ้องต้องด้วย เช่นเด็กจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการสอบที่กระทรวงศึกษาทำอยู่ เสียงพวกนั้นก็อาจค่อนข้างสำคัญพอสมควรเลยที่จะเอาเข้ามา ประเด็นอย่างนี้แหละที่อาจจะต้องทำมากขึ้น
@ : ตัวอย่างนี้อาจเป็นกลุ่มคนที่เห็นต่างที่ยังพอคุยกันได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนที่เห็นต่างอย่างเข้มข้นละคะ จะอยู่ในกระบวนการปฏิรูปอย่างไร
ศ. ชัยวัฒน์: มันอาจจะไม่สามารถทำได้โดยเปิดเผยนัก พื้นที่ปลอดภัยก็อาจจะไม่ใช่พื้นที่ที่เขาไว้ใจ ยอมพูดในที่สาธารณะเพราะเงื่อนไขยังไม่อำนวย ถ้าเป็นอย่างนี้ สะพานก็ต้องยื่นไปในที่มืด ในเงา แล้วก็หาวิธีเชื่อมโยงกับเขาให้ได้ เพราะถ้าไม่ทำ สิ่งที่จะได้ มันก็จะเปราะบางเกินไป
พูดให้ถึงที่สุด การปฏิรูป กติกาใหม่ การจัดการกับสังคมไทย การแก้ปัญหาซึ่งหมักหมมมานานทำไม่ได้ถ้าไม่ได้ยืนอยู่บนฐานของความเป็นจริง แล้วมันไม่มีวิธีที่จะได้ยินเสียงของความเป็นจริง ถ้าคุณไม่ให้เสรีภาพกับคนได้แสดงความคิดความเห็นของเขา
หมายเหตุ - บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดย ณาตยา แวววีรคุปต์ ในรายการ เวทีสาธารณะ ตอน เสียงคนเห็นต่างที่ต้องฟังก่อนปฏิรูป ออกอากาศ วันที่ 25 ตุลาคม 2557 ไทยพีบีเอส
ขอบคุณภาพ - กรุงเทพธุรกิจ