เอ็นจีโอจี้ไทยเร่งทำ 'ภาคยานุวัติ' คุมสารปรอท หลังชวดโอกาสร่วมอนุสัญญามินามาตะฯ
ภาคประชาสังคมจี้รัฐบาลเร่งเข้าทำ ‘ภาคยานุวัติ’ ขับเคลื่อนนโยบายป้องกันสารปรอทปนเปื้อน หลังยุค ‘ยิ่งลักษณ์’ มีมติครม. ไม่ลงนามอนุสัญญามินามาตะ ‘เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง’ เผยสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ประเทศ
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 มูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (IPEN) และภาคีเครือข่าย แถลงข่าว ‘ข้อเรียกร้องของประชาชนต่อรัฐบาลไทย เรื่อง อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยการจัดการสารปรอท และการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษสารปรอทในประเทศไทย’ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายแมนนี คาลอนโซ ประธานร่วม IPEN กล่าวว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2556 อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยการจัดการสารปรอท ได้รับการรับรองจากที่ประชุมคณะฑูตระหว่างประเทศ ณ ประเทศญี่ปุ่น หลังจากการเจรจาระหว่างรัฐยาวนานกว่า 3 ปี ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 128 ประเทศ ให้การรับรองอนุสัญญาฉบับนี้ และอีก 7 ประเทศที่ให้สัตยาบัน ได้แก่ Djibouti, Gabon, Guinea, Guyana, Monaco, United States และ Uraguay แต่ไทยยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญานี้ภายใน 1 ปี ของกำหนดเวลา
โดยอนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยสารปรอทออกสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางดิน น้ำ และอากาศ ฉะนั้นการแก้ปัญหาระดับโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นนำไปสู่การลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ประธานร่วม IPEN จึงวิงวอนให้เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์จากโรคมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างหลักการป้องกันไม่ให้เกิดสารปรอทปนเปื้อนในพื้นที่ก่อนจะสายเกินแก้ ทั้งนี้ ในฐานะเครือข่ายฯ เรามีความห่วงใยสถานการณ์ปัญหาชุมชน ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี รวมถึงพื้นที่อื่น ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องเร่งเข้าร่วมในอนุสัญญาฯ ฉบับนี้
ด้านน.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงอนุสัญญาฯ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องสารปรอท แต่ไทยมิได้ลงนามตามกรอบเวลา ด้วยสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 8 ตุลาคม 2556 ไม่ลงนามในอนุสัญญาฯ อาจเกิดจากมีบุคคลในรัฐบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงาน ส่งผลให้สถานภาพของไทยด้อยกว่าหลายประเทศ
ทั้งนี้ จำเป็นที่ไทยต้องเข้าร่วมภาคยานุวัติ (ACCESSION) ตามอนุสัญญาฯ แต่สถานภาพก็ไม่เท่าเทียมกับการเป็นอนุภาคี และอาจไม่ได้รับงบประมาณช่วยเหลือบางประการ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ทั้งที่ผ่านมาไทยพยายามดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย ตลอดจนศึกษาวิจัยให้เห็นถึงอันตรายจากสารปรอท หากสุดท้ายกลับไม่เกิดขึ้น นับว่าสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ประเทศมาก
ขณะที่ดร.อาภา หวังเกียรติ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ม.รังสิต กล่าวว่า คนในโลกรู้เท่าทันผลกระทบต่อสารพิษน้อยมาก เพราะฐานข้อมูลเบื้องต้นที่เราใช้ในการศึกษา ส่วนใหญ่นำมาจากการทดลองในหนู ซึ่งมีอายุสั้น ขณะที่คนมีอายุยาวนานกว่า 60 ปี เพราะฉะนั้นฐานข้อมูลดังกล่าวบอกไม่ได้ถึงสารพิษเรื้อรังที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น สารปรอทจึงมีโทษสาหัจสากรรจ์
“ปรอทจัดเป็นสารตกค้างในสิ่งแวดล้อมยาวนาน โดยสามารถเข้าไปสะสมในห่วงโซ่อาหารได้ และจะมีการเพิ่มความเข้มข้นของสารพิษตามลำดับขั้นการผลิต” นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กล่าว และว่ายิ่งสัตว์มีขนาดใหญ่ก็จะสะสมมากขึ้น ท้ายที่สุด ผู้บริโภคคนสุดท้ายจะได้รับสารพิษมากที่สุด ตลอดจนส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ และทารกในครรภ์ดังเช่นกรณีผู้ป่วยโรคมินามาตะ
ดร.อาภา กล่าวต่อว่า ขณะนี้สากลยอมรับและตระหนักปรอทเป็นสารอันตรายที่เป็นภัยคุกคามส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชีวิต รวมถึงลูกหลานในอนาคต ซึ่งไทยถือเป็นแหล่งศักยภาพที่จะกำเนิดสารพิษชนิดนี้ เช่น การใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรม การสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม เตาเผาขยะ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีการเติมสารปรอทด้วย
ส่วนนายสมบุญ พัชรไพบูลย์ ตัวแทนชุมชน ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงผลกระทบจากการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษสารปรอทว่า พบสารปรอทปนเปื้อนจากปลาที่ชาวบ้านจับมาเป็นอาหารบริเวณหนองน้ำรอบโรงงานอุตสาหกรรม แม้ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษจะลงพื้นที่แก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ส่วนตัวจึงเห็นว่า สาเหตุความล่าช้าเกิดจากการไม่มีกฎหมายรองรับ ฉะนั้น หากไม่มีการเข้าร่วมในอนุสัญญาฯ เชื่อว่าอนาคตลูกหลานไทยคงเกิดมาพิการเหมือนประเทศญี่ปุ่น เพราะสารปรอทที่สะสมในพื้นที่ยากต่อการย่อยสลายได้
ท้ายที่สุด เครือข่ายภาคประชาสังคมมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลต่างประเทศที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ แล้วจะต้องเร่งให้สัตยาบัน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ส่วนไทยที่พลาดการร่วมลงนามก็ยังสามารถเข้าร่วมอีกครั้งหนึ่งได้ผ่านการทำภาคยานุวัติ รวมถึงขอให้สำรวจและฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารปรอทในประเทศ เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ควรสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี และแนะนำให้ศึกษาประวัติศาสตร์ของผู้ป่วยโรคมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น นำมาเป็นบทเรียนสู่การวางแผนป้องกันต่อไป และขอให้เปิดเผยผลการศึกษารายชื่อแหล่งกำเนิดสารปรอทในประเทศสู่สาธารณะ ตลอดจนเพิ่มรายงานการปล่อยสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมไว้ในโครงการนำร่องสารมลพิษปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม .
ภาพประกอบ:เพ็ญโฉม เเซ่ตั้ง-กรีนนิวส์ทีวี