ดร.ณรงค์ ชี้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยเหมาะกว่าอัดงบฯ จ้างขุดลอกคลอง
นักเศรษฐศาสตร์ จุฬา บอกอย่าคาดหวังโครงการจ้างเกษตรกรขุดลอกคูคลอง เหตุชาวนาไทยไม่อยากทำ ส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยสูง แนะรัฐฯ ใช้เครื่องจักรคุ้มกว่า ย้ำชัดหากจะช่วยชาวนา หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรเน้นไปที่ลดต้นทุนพลังงานทุกชนิด
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ออกมาตรการให้กรมชลประทานดำเนินการจ้างแรงงานที่เป็นเกษตร จำนวน 7.54 ล้านคนต่อวัน ซ่อมแซมคูคลองในฤดูแล้ง และระบบส่งน้ำของกรมชลประทานที่มีการใช้งานติดต่อมาเป็นระยะเวลานาน โดยใช้งบประมาณรวม 4,200 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 – 30 เมษายน 2558 รวมระยะเวลา 6 เดือน ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง 26 จังหวัด เนื่องจากเป็นพื้นที่ห้ามทำนาปรังในฤดูกาลนี้นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความเป็นไปได้เกี่ยวโครงการดังกล่าว อีกทั้งความคิดเห็นที่มีต่อนโยบายขุดลอกคูคลองของรัฐบาล
รศ.ดร. ณรงค์ กล่าวถึงนโยบายการจ้างเกษตรกร ซึ่งเป็นชาวนาขุดลอกคูคลองว่า อย่าไปคาดหวังกับโครงการนี้ เพราะในปัจจุบันไม่มีชาวนาคนไหนอยากจะทำ ด้วยอายุของชาวนาไทยเฉลี่ยสูงขึ้น 58 ปีขึ้นไป คนอายุน้อยๆก็หันไปทำงานในโรงงานมากกว่าการทำนา ประกอบกับเครื่องจักรเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยในการขุดลอกได้ดีกว่าแรงงานคน ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงงานคนกับเครื่องจักรแล้ว เครื่องจักรถูกกว่าคน
"ชาวนาไทยกว่าร้อยละกว่า 90 ไม่ได้ทำนาเอง แต่ไปจ้างคนอื่นทำ" นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว พร้อมกับยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาโดยให้ไปใช้วิธีการอื่น อาทิ การแนะนำให้ชาวนาหันไปปลูกพืชที่กินน้ำน้อย และต้องแนะนำถึงกระบวนการดำเนินการด้วย หรือแม้กระทั่งช่องทางการตลาดในการขายพืชชนิดนั้นๆ
รศ.ดร. ณรงค์ กล่าวด้วยว่า หากจะช่วยชาวนาจริงๆ หรือจะกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ ควรที่จะลดต้นทุนพลังงานทุกชนิด เพราะว่าพลังงานอย่างน้ำมัน ถือเป็นค่าขนส่งนั้นมีต้นทุนที่สูง จึงทำให้ต้นทุนอื่นๆสูงตาม ดังนั้น การลดต้นทุนดีกว่าไปจ้างชาวนาขุดคลอง ส่วนการทุจริตที่กังวลว่าอาจจะเกิดขึ้นในการจ่ายเงินให้กับเกษตรนั้น ก็เป็นเรื่องของกระบวนการที่จะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นด้วย