กรมสวัสดิการฯ แจงไม่มีอำนาจออกกม.ยกเลิกใช้แร่ใยหิน
กรมสวัสดิการฯ แจงไม่มีอำนาจออก กม.ยกเลิกการใช้ นำเข้า ส่งออก แร่ใยหิน ระบุเป็นหน้าที่กรมโรงงานฯ ‘สมบุญ สีคำดอกแค’ เตรียมยื่นหนังสือจี้ ก.อุตสาหกรรมอีกรอบ เชื่อสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยเกิดขึ้นในยุครัฐบาล ‘ประยุทธ์’
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยต่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าการยื่นข้อเสนอของเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินประเทศไทยต่อกระทรวงแรงงาน (รง.) เพื่อขอให้ออกกฎหมายให้แร่ใยหินที่เป็นอันตรายประเภท 3 เปลี่ยนเป็นประเภท 4 และออกประกาศกรณีที่อนุญาตให้มีฝุ่นแร่ใยหินในชั้นบรรยากาศ 0.5 มิลลิกรัม เปลี่ยนเป็น 0.1 มิลลิกรัม
ล่าสุด ตนเองได้รับหนังสือจากกระทรวงแรงงาน ที่ รง 0510/15210 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2557 เรื่อง ผลการดำเนินการช่วยเหลือคนงานกรณีตึก ยูเพลส คอนโดถล่ม และข้อเสนอของเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย ลงนามโดย น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านประกันความมั่นคงในการทำงาน
โดยรายละเอียดการดำเนินการชี้แจงในหนังสือฉบับดังกล่าว ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ กล่าวว่า การออกกฎหมายให้แร่ใยหินที่เป็นอันตรายประเภทที่ 3 (วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องรับใบอนุญาต) เปลี่ยนเป็นประเภทที่ 4 (วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง) ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งกรมสวัสดิการฯ จะประสานไปยังกรมโรงงานฯ ดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ตอนที่เราไปยื่นหนังสือกระทรวงอุตฯ เขาให้เหตุผลกับเราว่าอำนาจหน้าที่ในการเปลี่ยนประเภทวัตถุอันตรายนั้นเป็นของกระทรวงแรงงาน” นางสมบุญ กล่าว ทว่า กระทรวงแรงงานกลับมีหนังสือชี้แจงว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นความจริง
ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการขอให้ออกประกาศกรณีที่อนุญาตให้มีฝุ่นแร่ใยหินในชั้นบรรยากาศ 0.5 มิลลิกรัม เปลี่ยนเป็น 0.1 มิลลิกรัมนั้น กรมสวัสดิการฯ ได้แก้ไขค่ามาตรฐานของปริมาณฝุ่นแร่ใยหินจาก 5 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลบ.ซม. เป็น 0.1 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลบ.ซม. แทน ทั้งนี้ ได้มีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสแร่ใยหิน รวมทั้งจัดทำแผ่นพับ เรื่อง การป้องกันอันตรายจากการใช้แร่ใยหิน ให้กับผู้เกี่ยวข้องทราบ
“หลังจากนี้เราจะทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง ในประเด็นอำนาจหน้าที่เปลี่ยนแร่ใยหินที่เป็นอันตราย ประเภทที่ 4 ว่าขึ้นอยู่กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม” นางสมบุญ กล่าว และว่าที่ผ่านมามักไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประสบปัญหาเข้าไปถึงรัฐบาล ด้วยเจ้าหน้าที่อาจมองว่าเป็นประเด็นเล็กน้อย ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีมติชัดเจน ไทยสมควรยกเลิกการใช้แร่ชนิดนี้
เมื่อถามถึงการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ระบุว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากไม่มีข้อเสนอแนะให้แก้ไข คาดว่าจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและมีมติจัดตั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม สาเหตุความล่าช้าเกิดจากกระทรวงแรงงานมีการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยครั้ง ทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง โดยสุดท้าย เชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ หากผู้ปฏิบัติงานมีความขะมักเขม้น .