สถาบันอนาคตไทยศึกษาชี้นโยบาย Digital Economy ต้องตอบโจทย์การสร้างมูลค่าเพิ่ม
สถาบันอนาคตไทยศึกษาชี้นโยบาย Digital Economy ต้องตอบโจทย์การสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่เน้นที่การเพิ่มหน่วยงานภาครัฐ ย้ำโครงการจะสำเร็จต้องต้องมีเป้าหมายและตัวชี้วัดชัดเจน
เมื่อเร็วๆนี้สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับนโยบาย Digital Economy ซึ่งเป็นนโยบายที่ช่วยในการขับเคลื่อนเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจจะช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวถึงการนำแนวคิดDigital Economy ไปใช้ว่า จะต้องเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มเพราะไม่ใช่ทุกอย่างที่เป็นดิจิตอลจะมีมูลค่าเพิ่มสูง ในขณะที่สินค้าบางอย่างที่ไม่ได้เป็นดิจิตอลกลับสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงได้เช่นฮาร์ดดิสก์สินค้าดิจิตอลที่เราส่งออกมากเป็นอันดับ2ของโลกแต่มูลค่าเพิ่มที่ได้จากการส่งสินค้าอิเล็กโทรนิกส์เพิ่มขึ้นน้อยมากเพียง5%ต่อปีเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียอินโดนีเซียฟิลิปปินส์และเวียดนามแต่สำหรับยางพาราที่เราส่งออกมากเช่นกันแต่เป็นสินค้าขั้นต้นอย่างยางแผ่นหรือน้ำยางเป็นหลัก หากนำไปแปรรูปเป็นยางรถยนต์จะได้มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง7เท่า
ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวด้วยว่า ล่าสุดมีข่าวว่ารัฐจะเพิ่มหน่วยงานใหม่อีก 3 กรมเพื่อมาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งความจริงแล้วนโยบายนี้ไม่ควรไปเน้นที่การเพิ่มหน่วยงานใหม่ของภาครัฐ เนื่องจากความสำเร็จของนโยบายนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเพิ่มกรมกองขึ้นมาทำภารกิจเพียงอย่างเดียวแต่สิ่งที่ควรทำคือการปรับปรุงกระบวนการของภาครัฐให้เกิดผลจริงโดยเฉพาะตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ต้องเน้นวัดผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ และควรเพิ่มคุณภาพของบุคลากรด้านไอทีมากกว่าปริมาณเนื่องจากในปีหนึ่งๆมีบัณฑิตที่จบสาขานี้ถึงปีละ10,000 คน ซึ่ง1ใน6ของคนที่จบสาขานี้ตกงาน และเกือบ40% ของบัณฑิตสาขาคอมฯ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการหรือเสมียน
“สิ่งที่ต้องทำคือจะต้องทำให้เอกชนและภาควิชาการเกิดความร่วมมือและนำไปสู่การสร้างธุรกิจ Digital เพราะประสบการณ์ความสำเร็จจากการพัฒนา Digital Economy ในต่างประเทศส่วนใหญ่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาควิชาการ”
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กล่าวอีกว่า ดังนั้นการที่นโยบายนี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีเป้าหมายในการพัฒนา และตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อให้เห็นผลจริงมิเช่นนั้นก็คงจะไม่ต่างอะไรกับนโยบายอื่นๆที่ผ่านมาซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีในการสร้างมูลค่าเพิ่มเช่นกันอย่าง Knowledge-based Economy หรือCreative Economyแต่สุดท้ายกลับไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร
ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวแห่งชาติ