กฤษฎีกาชี้มหิดลรับบริจาคที่ดิน-สิ่งก่อสร้าง100ล.จาก"บ้านปู"ต้องเสียภาษี
"กฤษฎีกา"ฟันธง"มหิดล"ได้รับบริจาคที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างจากเอกชน ต้องเสียภาษี-ค่าธรรมเนียม เหตุไม่ได้มีสถานะเป็นส่วนราชการเข้าข่ายได้รับการยกเว้น แต่หากรัฐบาลเห็นสมควรสามารถเสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติมกม. 103 ทวิ ประมวลกม.ที่ดิน หรือกม.จัดตั้งมหาวิทยาลัยช่วยเหลือได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นเรื่องการยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ที่บริจาคให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล ภายหลังจากที่บริษัท บ. มีความประสงค์บริจาคที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่ามหาวิทยาลัยไม่อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 103 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในอันที่จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม เพราะไม่ใช่ส่วนราชการตามประมวลกฎหมายที่ดิน
โดยมหาวิทยาลัย ได้ทำเรื่องขอสอบถามความเห็นใน 2 ประเด็น คือ 1.มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐถือเป็นส่วนราชการ ตามความหมายของประมวลกฎหมายที่ดินในอันที่จะได้รับการยกเว้นภาษีอากรและได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือไม่
2. การดำเนินการของมหาวิทยาลัยตามวัตถุประสงค์ไม่มีความแตกต่างจากราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับการยกเว้นภาษีอากรและได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือไม่
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้พิจารณาข้อหารือของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) และผู้แทนมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นว่าข้อหารือของมหาวิทยาลัยมหิดลมีประเด็นต้องพิจารณาประเด็นเดียวว่า การบริจาคอสังหาริมทรัพย์ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่บริจาคให้แก่ทางราชการตามมาตรา 103 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หรือไม่
ก่อนจะมีความเห็นว่า มาตรา 103 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520 บัญญัติให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรณีการบริจาคอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ทางราชการนั้น เป็นบทยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 103 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 ที่บัญญัติให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงสำหรับการดำเนินการต่าง ๆ ทุกกรณีที่เกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น การพิจารณาคำว่า "ทางราชการ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด โดยพิจารณาจากเจตนารมณ์ประกอบกับถ้อยคำในกฎหมาย
เมื่อพิจารณามาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติให้มหาวิทยาลัยมหิดลมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ประกอบกับมาตรา 16 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้มหาวิทยาลัยมหิดลมีรายได้และทรัพย์สินเป็นของตนเอง โดยรายได้ของมหาวิทยาลัยไม่ต้องนำส่งคลัง และได้รับงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและการประกันคุณภาพการศึกษา สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลและบริหารกิจการของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย อันเป็นการแสดงถึงลักษณะของการบริหารงานที่มิใช่การบริหารราชการ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การที่มหาวิทยาลัยมหิดลรับบริจาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า "ทางราชการ" ที่จะได้รับยกเว้นค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่ผู้บริจาคอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 103 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในกรณีที่มีการบริจาคอสังหาริมทรัพย์ให้แก่มหาวิทยาลัย ก็เป็นการสมควรที่จะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 103 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หรือกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแต่ละแห่งได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวต่อไป
จากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2556 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เคยระบุว่า จะบริจาคที่ดินและทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท ในจังหวัดลำปางให้กับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การศึกษา วิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนในประเทศและภูมิภาคอาเซียน
โดยนายชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่บ้านปูมอบให้กับคณะสิ่งแวดล้อมฯ ม.มหิดลนี้ มีพื้นที่ประมาณ 144 ไร่ และเคยเป็นเหมืองลำปางเดิม ตั้งที่ ต.แม่กัวะ อ.สบปราบ และ ต.แม่ทะ จ.ลำปาง เดิมตรงจุดนี้เคยเป็นสำนักงานปฏิบัติการภาคสนาม และบ้านพักพนักงานของเหมืองลำปางมาก่อน โดยมีจุดประสงค์ให้คณะสิ่งแวดล้อมฯ ใช้ประโยชน์การศึกษาและการวิจัย โดยเฉพาะการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนต่อไป
ขณะที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตอธิการบดี ม.มหิดล ระบุว่า คณะสิ่งแวดล้อมฯ มีแผนที่จะพัฒนาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่บริษัทบ้านปูฯ มอบให้ จัดตั้งเป็น "ศูนย์การศึกษา วิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการจัดการลุ่มน้ำอย่างบูรณาการ ในภาคเหนือ (ศูนย์ลำปาง) เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัย และบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นฐานการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ แลกเปลี่ยน และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และภาคประชาชน ในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ระดับภูมิภาคต่อไป
(อ่านความเห็นฉบับเต็ม ที่นี่ http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2557&lawPath=c2_1018_2557)