สพฐ.-กรมป้องกันสาธารณภัย-ไจก้า ต่อยอดหลักสูตรรับมือภัยพิบัติในโรงเรียน
สพฐ.ขยายผลจัดการศึกษาภัยพิบัติ ต่อยอดพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จว.นำร่องเป็น 15 จว. 4 ภาค เล็งนักเรียน-ครู-ชุมชน เกิดทักษะรับมือภัยพิบัติธรรมชาติในอนาคต
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA ) ดำเนิน “โครงการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 – พ.ศ.2551 โดยสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งอบรมครูโรงเรียนต้นแบบ ขยายผลให้นักเรียนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจ
โดยนำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ โรงเรียนบ้านน้ำฮู อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งประสบภัยดินถล่ม โรงเรียนบ้านหาดหงส์ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งประสบอุทกภัย และโรงเรียนท่าฉัตรชัย อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งประสบภัยสึนามิ ซึ่งได้สื่อการเรียนการสอนเป็นหนังสือและคู่มือการเรียนรู้เรื่องดินถล่ม อุทกภัย และภัยสึนามิ 6 เล่มเผยแพร่ไปยังโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ
ทั้งนี้เพื่อต่อยอดโครงการดังกล่าว ทั้งสามหน่วยงานจึงร่วมกันทำโครงการระยะที่สองในปี พ.ศ.2553 – พ.ศ.2556 ขึ้น โดยเลือกโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัยใน 4 ภูมิภาค จัดทำแนวปฏิบัติการจัดการภัยพิบัติในสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา ระยะก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และภายหลังเกิดภัย และขยายผลไปยังโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา 41 แห่ง 15 จังหวัด เน้นให้เรียนรู้ลักษณะภูมิศาสตร์ท้องถิ่น การประเมินความเสี่ยง ทำแผนที่เสี่ยงภัย แผนอพยพ การซ้อมอพยพหนีภัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารวิกฤติการณ์ระดับชาติ เมื่อเกิดภัยก็จะส่งผลให้เกิดความเสียหายและสูญเสียน้อยลงได้ในอนาคต
“ที่ส่งผลให้สถานศึกษาทุกแห่งตระหนักในปัญหาภัยพิบัติ บุคลากรทางการศึกษาได้ความรู้ ความเข้าใจ และมีแนวปฏิบัติในการป้องกันจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดเครือข่ายในการร่วมมือในสถานศึกษาและชุมชนได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว.
ที่มาภาพ : http://modernine.mcot.net/inside.php?modid=3310&modtype=3