นักนิเทศฯ ชี้คนไทยไม่เข้าใจ “สิทธิส่วนบุคคล” ยันละเมิดมากสุดในสื่อออนไลน์
นักวิชาการชี้ ไทยไม่มีกฎหมายด้าน “สิทธิส่วนบุคคล” เหตุเพราะความไม่ต่อเนื่องทางการเมือง หวังให้เกิดแต่ต้องศึกษาข้อมูลจากประเทศอื่นๆอย่างละเอียด
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง “กฎหมายกับความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ ” ณ ห้องประชุม สุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
รองศาสตราจารย์คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซ็นจอห์น กล่าวถึงเรื่องสิทธิส่วนบุคคลว่า ในปัจจุบันเรื่องสิทธิส่วนบุคคลมีความหมายที่กว้างเป็นอย่างมาก และเกี่ยวโยงเป็นส่วนๆ อาทิ เกี่ยวกับกฎหมาย การเข้าถึงข้อมูล สิทธิมนุษยชน การสื่อสารที่บุคคลอื่นไม่สามารถนำข้อมูลหรือเข้ามาสอดส่องข้อมูลได้ หรือควบคุมข้อมูลได้ เป็นต้น พร้อมตั้งคำถาม ยุคนี้ให้ความสำคัญในเรื่องของการควบคุมข้อมูลส่วนตัวที่จะปรากฏในสื่อออนไลน์ได้มากน้อยเพียงใด
คณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซ็นจอห์น กล่าวถึงกฎหมายการควบคุมข้อมูลในสื่อออนไลน์ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ในบริบทของรัฐและบริบทของเอกชน ในส่วนของรัฐที่เข้าถึงความเป็นส่วนตัวของประชาชน เช่น การเข้ามามีอำนาจในการตรวจสอบข้อมูลการศึกษา ครอบครัว การตรวจสอบหาประวัติการใช้สารเสพติด การปราบปรามยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งในกรณีนี้รัฐได้มีการออกกฎหมายจำนวนมากที่นำมาใช้การสอดส่องในข้อมูล เป็นสิ่งที่รัฐสามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
"อีกส่วนหนึ่งคือบริบทของเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ อาจเป็นความสัมพันธ์ในเชิงบุคคลหรือเหตุผลทางธุรกิจ อาทิ การขายตรงที่มีการติดแท๊ก (Tag) ขายตรงในโลกออนไลน์ หรือการส่งข้อความเชิงธุรกิจในอีเมล์ส่วนตัวของบุคคล เป็นต้น
"ส่วนตัวมองว่าการละเมิดอย่างการติดแท็กในเฟซบุ๊คสำคัญที่สุด เหตุเพราะว่า ในขณะนี้กำลังจะมีการออก พ.ร.บ.สิทธิส่วนบุคค แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าวกลับกลายเป็นการบ่งบอกเพียงแค่ว่า บุคคลอื่น นอกเหนือจากเจ้าของข้อมูลไม่มีใครจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพียงแค่นั้น เช่นการติดแท๊ก การขายโฆษณา ฯลฯ ซึ่งหากผู้ร่างกฎหมายคำนึงถึงเหตุผลอื่นๆเข้าไปประกอบด้วยกฎหมายฉบับที่กำลังจะออกมาจะมีช่องโหว่น้อยหรือเป็นไปได้ทำให้ไม่มีช่องโหว่เลย ”รศ.คณาธิป กล่าว
รศ.คณาธิป ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยที่ได้ศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2556 เรื่องพฤติกรรมการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ว่า งานวิจัยชิ้นนี้แบ่งกลุ่ม 3 กลุ่ม คือ ข้อมูลของผู้อื่นเชิงบวก ข้อมูลของผู้อื่นเชิงลบ และข้อมูลของตนเอง ซึ่งสามกลุ่มนี้ได้เชื่อมโยงเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายได้ กล่าวโดยสรุปคือการนำข้อมูลของบุคคลอื่นไปแพร่ในสังคมออนไลน์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงลบ หรือเชิงบวกก็ตาม ในกรณีเช่นนี้อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและมีความผิดใน พ.รบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ยกตัวอย่าง การนำข้อมูลส่วนตัวอย่างประวัติส่วนตัว รูปถ่าย เลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่หรืออีเมล์ที่ไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของ เป็นต้น
“ตอนนี้กำลังมีกฎหมายตัวใหม่ที่กำลังจะออกคือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบสิ่งยั่วยุ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้สกัดทุกสิ่งที่ไหนที่เป็นสิ่งยั่วยุ ให้กระทำสิ่งนั้นๆ อาทิ ครอบครองสิ่งบางอย่าง การขมขื่น ถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกมาผู้ที่ขมขื่นจะไม่ถูกลงโทษ แต่ผู้ที่ถูกลงโทษคือคนที่เผยแพร่สิ่งยั่วยุให้เกิดอารมณ์ เช่น สื่อชนิดนี้น่าจะทำให้คนไปขมขื่นทางเพศหรือไม่ หากผิดตามที่กฎหมายระบุจะได้รับการลงโทษ แม้ไทยมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว หากเกิดขึ้นอีกอาจก่อให้เกิดความซับซ้อนของการตีความได้”รศ.คณาธิป กล่าวและว่า หากถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกมาน่าจะก่อให้เกิดปัญหาในการตีความในทางกฎหมายตามมา แต่หากจะออกจริงๆควรศึกษาและดูตัวอย่างของประเทศอื่นอย่างละเอียดก่อน
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องสิทธิส่วนบุคคลหรือคำว่า “privacy” ภาพแรกที่หลายคนนึกถึงภาพของสื่อที่ทำหน้าที่ในด้านนี้ เหตุเพราะคนจดจำภาพของ ปาปารัชชี่ (paparazzi) หรือคนชอบแอบถ่ายภาพของคนดัง บุคคลเหล่านี้ถือว่าไม่ใช่นักข่าว ไม่ใช่นักวารสารศาสตร์ แต่เป็นการหากินบนการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น โดยที่เจ้าของภาพไม่ยินยอมและพยายามนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ต่อจากนั้นปาปารัชชี่เหล่านั้นก็จะนำภาพถ่ายที่ได้ไปขายต่อสื่อและภาพเหล่านั้นจะลงตีพิมพ์ในนิตยสารบันเทิงหลายฉบับ อาทิ ก๊อซซิปสตาร์ ดาราเดลี่ สไปซี่ หรืออุปซ์ เป็นต้น จากนั้นผู้ที่เสพข่าวจากหนังสือต่างๆเหล่านี้ก็คือประชาชนทั่วไป ดังนั้นจึงเรียกใช้กับบริบทการซื้อขายดังกล่าวว่า “วงจรอุบาทว์”
ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวต่อว่า ในบริบทของสังคมที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมแตกต่างกันได้มีการจัดลำดับความคิดเห็นโดยการสำรวจชุดข้อมูลเดียวกันของแต่ละประเทศต่อการลุกล้ำที่มีผลทางจิตใจและร่ายกายมากที่สุด อาทิ ในอเมริกาบอกว่า การที่ตำรวจเข้าไปบุกรุกบ้านหรือพื้นที่ส่วนตัว มีการค้นบ้านคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลสูงที่สุด หากตำรวจไม่มีหมายค้นเถือว่าตำรวจไม่มีสิทธิที่จะเข้าสู่เคหสถานของคนอเมริกาได้เลย
"ขณะที่แคนาดามองอีกอย่างว่า การที่โจรปล้นบ้าน ถือเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุดเพราะสังคมแคนาดามีอาชญากรรมน้อยมาก ส่วนในประเทศไทยเองข้อมูลระบุว่า การเปิดเผยความลับของบุคคลใดบุคคลหนึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกยอมรับในสังคม แต่คนไทยก็มีแนวโน้มที่จะนำเรื่องส่วนตัวของคนอื่นมาเผยแพร่เพราะความเข้าใจผิดหรือมั่วของการไม่เข้าใจคำว่า “privacy” "
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวด้วยว่า รัฐหรือประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเรื่องของสิทธิของบุคคลสำคัญอย่างมาก และมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนที่ควรจะได้รับ ดังนั้นรัฐมีหน้าที่คุ้มครองด้านดังกล่าวกับประชาชน ซึ่งมีกฎหมายบังคับใช้ในแต่ละประเทศ
ในบริบทของสื่อออนไลน์ นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าวถึงการทิ้งตัวตนของบุคคลไว้ว่า สื่อออนไลน์ทุกประเภทที่ไม่ว่าจะเข้าจากที่ไหนก็ตาม เป็นการทิ้งตัวตนว่าบุคคลนั้นมีข้อมูลที่ชัดเจนและไม่สามารถลบได้ แล้วว่าคุณได้เข้าอินเตอร์เน๊ตไปทำอะไร ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่ถกเถียงเรื่องสิทธิในสังคมไทยในปัจจุบัน
ยกตัวอย่างบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card ในประเทศอื่นกระบวนการใช้บัตรไม่ว่าจะเป็นทางราชการหรือเอกชนสามรถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ส่วนประเทศไทยบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card เป็นชนิดที่ล้าหลัง ด้อยประสิทธิภาพ เพราะถึงแม้ว่าจะมีบัตรแบบดังกล่าวแต่ไทยเองก็ยังคงต้องถ่ายเอกสารและรับรองสำเนาถูกต้องอยู่ดี
“สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านสิทธิส่วนบุคคลในประเทศไทยมีความพยายามออกกฎหมายตั้งแต่ปี 2533 จนมาสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือแม้รัฐบาลสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ตามแต่ร่างกฎหมายได้ตกไปเนื่องจากความไม่ต่อเนื่องทางการเมือง”ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าว