คสช.กับภารกิจดับไฟใต้...งานเก่ายังเป็นเงื่อนไข-งานใหม่ก็สะดุด
สถานการณ์ไฟใต้ช่วง 4 เดือนแรกภายใต้การบริหารงานความมั่นคงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือห้วงเดือน มิ.ย.ถึง ก.ย.57 ทิศทางเหตุรุนแรงและความสูญเสียลดลงอย่างชัดเจน ทว่าเมื่อถึงเดือน ต.ค. มีรัฐบาลเต็มตัวแล้ว สถิติความรุนแรงเริ่มดีดกลับขึ้นมา
เฉพาะเดือน ต.ค.มีเหตุเผาโรงเรียน 6 แห่งใน อ.ทุ่งยางแดง และ อ.มายอ เมื่อ 12 ต.ค. มีเผา อบต. 2 แห่งที่ อ.หนองจิก เมื่อ 27 ต.ค. และมีเหตุระเบิดร้านคาราโอเกะ 4 แห่งใน อ.เมือง เมื่อค่ำวันที่ 31 ต.ค. ทั้งหมดเกิดขึ้นใน จ.ปัตตานี
พิจารณาเฉพาะเหตุระเบิดร้านคาราโอเกะ 4 แห่ง พบว่าวัตถุระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดเดียวกันทั้งหมด คือ เป็นระเบิดแบบตั้งเวลา บรรจุในท่อเหล็กทรงกลมที่อัดดินระเบิดเอาไว้ เมื่อลอบนำระเบิดเข้าไปวาง คนร้ายได้วิ่งออกจากร้าน จากนั้นไม่กี่นาทีระเบิดก็ทำงาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บเล็กน้อยอีกจำนวนหนึ่ง
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงเมื่อวันที่ 1 พ.ย. หลังเกิดเหตุ 1 วัน ก็ไม่ได้สรุปอะไรมากไปกว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง สอดคล้องกับรายงานของหน่วยข่าวความมั่นคงที่สรุปว่าเป็นการพยายามก่อเหตุช่วงก่อนหรือหลังวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ (25 ต.ค.) ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังเต็มที่แล้ว แต่ผู้ก่อการหันไปทำเป้าหมายที่ไม่มีการระวังป้องกันแทน
ทว่าหากลองไปถามชาวบ้านร้านตลาดคนเดินถนนทั่วไป ส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่าเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะเป็นที่รู้ๆ กันดีว่าร้านคาราโอเกะลักษณะนี้มีบริการอื่นควบหลายอย่าง ซึ่งไม่ค่อยจะถูกต้องนัก และอาจต้องมีรายการ "จ่าย" ให้ผู้รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมาย
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่จากชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ระบุว่าลักษณะการประกอบระเบิดแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งเหตุระเบิดใหญ่กว่า 20 จุดใน อ.เมืองปัตตานี เมื่อ 24 พ.ค.57 หลัง คสช.ยึดอำนาจเพียง 2 วัน ฉะนั้นจึงน่าจะเป็นฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มเดิมๆ แต่อาจเบนเป้าไปยังจุดที่ไม่มีการ รปภ. และยังได้ใจชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ที่ไม่อยากให้มีสถานบริการลักษณะนี้เปิดอยู่
ไม่ว่าเหตุผลที่เป็นเบื้องหลังของการก่อเหตุจะเป็นเช่นไร แต่ก็ต้องยอมรับว่าภารกิจการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ คสช.และรัฐบาลที่เน้นงานความมั่นคงนั้น ยังไม่เข้าเป้าหรือมีผลงานเด่นชัดเท่าที่ควร
เริ่มจาก "งานใหม่" ที่ประกาศว่าจะเร่งผลักดัน ได้แก่
1.กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงขณะนี้ "แผนแม่บทการพูดคุย" ยังไม่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอไปตั้งแต่เดือน ส.ค.57 แต่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และมีรัฐบาล ก็ส่งต่อแผนไปให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พิจารณา
2.การพูดคุยจริงยังไม่เกิดขึ้น แม้รัฐบาลจะพยายามโหมตีข่าว แต่เมื่อเวทีแรกยังไม่ปรากฏให้เห็น ก็ไม่สามารถดึงความสนใจหรือการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ได้ หนำซ้ำยังมีข่าวตัวแทนรัฐบาลไทยไปพบปะกับรองประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่มีประวัติช่วยไทยจัดวงพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เรื่องจึงยิ่งไปกันใหญ่
3.งานส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงการแถลงเพื่อชิงพื้นที่สื่อ หรือไม่ก็แก้ไขปัญหาของฝ่ายรัฐเอง เช่น เรื่องเอกภาพ เรื่องบูรณาการงบประมาณ ฯลฯ ส่วนผลที่ส่งถึงพื้นที่ยังไม่มีชัดๆ หรือหากจะมีก็เป็นเรื่องระยะยาว อาทิ การซ่อมแซมถนนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้แอสฟัลท์ผสมยางพารา เป็นต้น
ส่วน "งานเก่า" ที่เป็นปัญหาพื้นฐาน ก็พบว่ายังไม่ได้ถูกแก้ หรือไม่ได้ทำให้เคลียร์แต่ประการใด ได้แก่
1.คดีตากใบ เมื่อคนพื้นที่ยังข้องใจ โดยเฉพาะวาทกรรม "ขาดอากาศหายใจ" (จนทำให้มีคนตาย 78 ราย) กลายเป็นเงื่อนไข เหตุใดรัฐบาลจึงไม่เป็นเจ้าภาพรื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่ หรือสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านผู้เสียหายฟ้องคดีเอง โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะได้พิสูจน์กันในศาล
เช่นเดียวกับคดีคาใจอื่นๆ (คาใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ก่อ) ก็น่าจะรื้อขึ้นมา หรือรายงานผลการสืบสวนสอบสวนให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับคดีที่มีประชาชนเป็นผู้ต้องหา หากเจ้าหน้าที่กระทำผิดก็จัดการแบบไม่ไว้หน้า ถ้าทำเรื่องเหล่านี้ได้ ชาวบ้านจะเชื่อมั่นศรัทธาในรัฐมากขึ้น
2.แม้จะมีการปลดหมาย "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" มีโครงการพาคนกลับบ้านจำนวนกว่า 600 รายแล้ว แต่รูปแบบการทำงานเป็นการทำในสเกลเล็กๆ ซึ่งแม้จะส่งผลดีและประชาชนในพื้นที่สนับสนุน แต่ไม่มีผลในแง่จิตวิทยาภาพกว้างว่ารัฐมีความจริงใจ เพราะคดีใหญ่ๆ ดังเช่น คดีตากใบ และคดีซ้อมทรมานต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจน
3.เรื่องใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นก็ยังมีหลายเรื่องที่กลายเป็นเงื่อนไข แม้เจ้าหน้าที่จะชี้แจงว่าเป็นแค่ความพลั้งพลาดก็ตามที เช่น 23 ต.ค.เจ้าหน้าที่ประจำด่านลอยใน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ยิงรถต้องสงสัยผิดพลาด ทำให้เด็กหญิงวัยแค่ 10 ขวบเสียชีวิต, 21 ส.ค.เจ้าหน้าที่ทหารยิงวัยรุ่นชายวัย 14 ปีเสียชีวิตที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทีแรกอ้างว่าเป็นเหตุปะทะ แต่ตรวจสอบภายหลังพบว่าเจ้าหน้าที่ยิง และยังนำปืนเถื่อนยัดใส่มือศพเพื่ออำพรางคดี เป็นต้น
4.ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และสินค้าหนีภาษี เพราะมีขายกันเกร่อในพื้นที่ แต่ไม่มีการจัดการ ยิ่งเจ้าหน้าที่ตั้งด่านบนถนนสายหลักแทบทุกสาย ยิ่งทำให้ประชาชนข้องใจว่า ขบวนการค้าของผิดกฎหมายพวกนี้ผ่านด่านต่างๆ ไปได้อย่างไรในเมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เต็มไปหมด (ทั้งที่มีความเป็นไปได้หลายอย่าง ไม่ใช่แค่จ่ายส่วยอย่างเดียว เช่น ใช้เส้นทางลัดเลาะ แต่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเพราะส่วย)
ตัวอย่างคดีสำคัญ คือ "คดีเสี่ยโจ้" หรือ นายสหชัย เจียรเสริมสิน นักธุรกิจชื่อดังชายแดนใต้ที่ถูกตั้งข้อสงสัยพัวพันการค้าน้ำมันเถื่อน เขาหลบหนีคำพิพากษาศาลปัตตานีในคดีปลอมแปลงเอกสารและดวงตราประทับของทางราชการ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลหรือฝ่ายความมั่นคงในส่วนกลาง มีแต่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตรวจสอบกันเอง แล้วสุดท้ายก็ทำท่าจะโยนบาปให้ตำรวจนายเดียวที่มีหน้าที่คุมตัวเสี่ยโจ้ขณะอยู่ในศาลว่าบกพร่องต่อหน้าที่เท่านั้น คดีนี้ทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐไม่ได้จริงใจจริงจังกับการจัดการเรื่องผิดกฎหมาย
5.พื้นที่นี้ใช้กฎหมายพิเศษในการจัดวางกำลังตำรวจ ทหารเพื่อรักษาความปลอดภัย กฎหมายเหล่านี้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กลับไม่อาจจำกัดเสรีภาพของผู้ก่อเหตุอย่างเห็นผล ทำให้ประชาชนยิ่งไม่เชื่อมั่นในรัฐ เฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่ออายุทุกๆ 3 เดือนมาแล้วถึง 37 ครั้ง (เกือบ 10 ปี)
ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนไม่ร่วมมือกับรัฐ ฉะนั้นโครงการประเภท "ทุ่งยางแดงโมเดล" ซึ่งหวังระดมพลังของภาคประชาชนมาร่วมเฝ้าระวังพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียน ด้วยการเสริมความพร้อมของยุทโธปกรณ์ เสื้อเกราะ วิทยุสื่อสาร และอาวุธปืน แม้จะเป็นแนวทางที่ดี แต่เมื่อ "ใจ" ยังไม่มีส่วนร่วม การปฏิบัติก็เป็นแค่แกนๆ หรือทำไปเพราะหวังเงินงบประมาณ
คนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ทราบดีว่าการเผาสถานที่ราชการขนาดเล็กในอำเภอห่างไกลนั้นทำได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน อบต. หรือทรัพย์สินอื่นๆ ของทางราชการ เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) เพราะกลางคืนเจ้าหน้าที่ไม่ได้ออกมาตั้งด่านจริงจัง (ด้วยเหตุผลป้องกันความสูญเสียจากการถูกซุ่มโจมตี) ทำให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุยึดถนนได้ มีเสรีภาพในการปฏิบัติ เมื่อไปถึงจุดที่ต้องการเผา มีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เฝ้าอยู่ 2-3 คน หากคนร้ายมีมากกว่า ย่อมไม่มีใครอยากเสี่ยงตาย
เพราะตายไปก็ไม่ได้รับเงินเยียวยาหลักล้านเหมือนเจ้าหน้าที่ เนื่องจากตัวเองเป็นแค่กองกำลังอาสาสมัคร!
ที่สำคัญ คือ ไม่รู้จะเสี่ยงไปเพื่ออะไร ในเมื่อความรู้สึกของคนในพื้นที่จำนวนมากชี้ชัดว่า รัฐไม่ได้แสดงให้เห็นว่าตัวเองดีกว่ากลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด ขณะที่ฝ่ายขบวนการเกาะติดพื้้นที่ อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว แถมพูดภาษาเดียวกัน เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน ย่อมทำให้เกิดความเกรงใจ หรือไม่อยากยุ่ง
ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดเหตุรุนแรงใดๆ ขึ้นในพื้นที่จึงไม่มีแรงต้านใดๆ จากภาคประชาชน เพราะฝ่ายความมั่นคงไม่สามารถคุมพื้นที่ได้จริง แม้จะพยายามโชว์ตัวเลขหมู่บ้านสีแดง หรือหมู่บ้านเสริมความมั่นคง ว่าลดลงเหลือเพียงร้อยกว่าหมู่บ้านก็ตาม
ฉะนั้นหากรัฐยังไม่สามารถขจัดเงื่อนไขเก่า หยุดสร้างเงื่อนไขใหม่ และสถาปนาความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับยืนข้างความถูกต้องจริงๆ ก็ยากที่จะได้รับความร่วมมือจากประชาชน
และสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ก็จะไม่ดีขึ้นอย่างถาวร เพียงแต่เปลี่ยนเป้าหมายความรุนแรงวนไปวนมาเท่านั้นเอง!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนที่แสดงจุดเกิดเหตุระเบิดร้านคาราโอเกะ 4 แห่งในเขต อ.เมืองปัตตานี เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 31 ต.ค.57
ขอบคุณ : ภาพแผนที่จากหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี