“เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ปฏิรูปศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน
"เราต้องการสร้างศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน เพราะคิดว่าจะเป็นดุลภาคในการถ่วงดุลระหว่างภาครัฐ เอกชน กับภาคสังคมหรือภาคประชาชน จะได้เป็นพลังในการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทยไปสู่เป้าหมายที่เป็นอารยะได้จริง"
“เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ มีบทประพันธ์เป็นที่ยอมรับและได้ รางวัลอันทรงเกียรติมากมาย
นอกจากนี้ยังเป็นประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป ทำงานในนามสมัชชาเพื่อการปฏิรูปประเทศมายาวนานกว่า 3-4ปี มีเครือข่ายครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นประธานมูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน
หลายเดือนก่อน อาจารย์เนาวรัตน์และผองเพื่อนศิลปินหลายคน ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับม็อบกปปส.
ล่าสุด ในวัย 74 ปี อาจารย์เนาวรัตน์เข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป(สปช.) ด้วยความหวังว่า สังคมไทยจะเกิดการปฏิรูปจากทุกภาคส่วนสังคมอย่างแท้จริง
สำนักข่าวอิศรา สนทนากับ อาจารย์เนาวรัตน์ ว่าด้วยศิลปินกับการปฏิรูปในหลายประเด็นดังนี้
……………
@ อาจารย์จะเข้าไปทำอะไรในสภาปฏิรูปบ้างครับ
ผมเข้าไปทำงานปฏิรูปด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้แยกออกมาเป็นกรรมาธิการวิสามัญ โดยเฉพาะ เรื่องศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ผมคิดว่าผมคงจะไปอยู่ตรงนั้น
ซึ่งจริงๆแล้วผมทำเรื่องนี้มาก่อนที่จะมีกระแสปฏิรูปหรือก่อนจะมีสภาปฏิรูป ผมทำในนามสมัชชาเพื่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีคุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน ผมเป็นหนึ่งในเครือข่าย คือเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป เราทำมาแล้ว 3-4 ปี มีเครือข่ายทุกภาคทั่วประเทศ ก็คิดว่าก็จะนำข้อมูลที่มีอยู่มาช่วยกันดู ให้ความคิด และสร้างข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปเรื่องงานศิลปวัฒนธรรม
@ มีข้อเสนอสำคัญอะไรจากเครือข่ายจะนำเสนอต่อสภาปฏิรูปบ้าง
เราต้องการสร้างศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน เพราะเราคิดว่าจะเป็นดุลภาคในการถ่วงดุลกันระหว่างภาครัฐ เอกชน กับภาคสังคมหรือภาคประชาชน จะได้เป็นพลังในการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทยไปสู่เป้าหมายที่เป็นอารยะได้จริง
ทุกวันนี้เราถูกกำหนดได้แค่ภาคราชการหรือภาครัฐและธุรกิจเอกชนเท่านั้น ภาคสังคมหรือภาคประชาชนขาดหายไป ในสภาพอย่างนี้ สิ่งที่เกิดก็คือ ของเก่าก็หาย ของใหม่ก็หด เมื่อรากวัฒนธรรมเก่าแทบหายไปหมด ทำให้เกิดวัฒนธรรมไร้ราก ก็เกิดรากลอย ก็จะต้องไปพันเถาวัลย์ฝรั่ง พันเถาเกาหลี หมวยตี๋หลียุ่นแหม่ม ความเป็นไทยกลายเป็นเชย
กลายเป็นว่าตามเขาเราเก่ง คิดเองเราโง่ นั่นเป็นเพราะว่าเราขาดดุลยภาคของภาคประชาสังคม ดังนั้นผมจะเข้าไปผลักดันเรื่องศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าไปเป็นคู่ต่อสู้นะครับ แต่จะเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่ขาดมากกว่า
@อาจารย์จะเข้าไปผลักดันให้เกิดไทยป๊อบอย่านั้นหรือเปล่าครับ แทนที่จะมีแต่เคป๊อป เจป๊อป
ก็ไม่ถึงกับไทยป๊อปหรอก เราก็รับวัฒนธรรมชาติอื่นด้วยนั่นแหละ เพียงแต่ขอให้มีพื้นที่ของไทยบ้างที่มันไม่เชย ทุกวันนี้พอพูดเรื่องไทยแล้วบอกว่าเชย ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการไม่รู้จักตัวเอง
@ ศิลปินจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่ตรงนี้ยังไง
ศิลปินจะต้องตระหนักในสิทธิและศักยภาพที่ตนมีในการไปสร้างสรรค์งานศิลปะ มีพื้นที่สร้างสรรค์งานได้อย่างเต็มที่ แต่องค์กรภาครัฐต้องมาดูแลตรงนี้ด้วย มาช่วยวางแผนแม่บทของชาติเลยด้วยซ้ำไปว่า เราจะผลักดันศิลปวัฒนธรรมโดยละเลยศิลปินไม่ได้ เพราะศิลปินก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีหน้าที่สร้างสรรค์สังคม
@ ฟังดูเป็นนามธรรม จะเห็นเป็นรูปธรรมอย่างไรครับ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ภาพทั้งหลายที่เราเห็นในถนนเป็นภาพโฆษณาทั้งนั้น เพื่อธุรกิจทั้งนั้น ผมถือว่านี่เป็นภาพประดับเมืองนะ ถึงคนจะไม่ได้สนใจแต่มันซึมซับ แต่มันกลายเป็นเรื่องธุรกิจซะส่วนมาก
เหมือนสมัยก่อน เราเข้าไปในร้านกาแฟก็สั่งโอเลี้ยงทั้งที่ไม่ได้อยากกินโอเลี้ยง แต่พอเข้าไปในร้าน เราก็สั่งสินค้าที่ผ่านหูผ่านตา เพราะมันถูกกำหนด
หรือคุณถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ท่านเพิ่งเสียชีวิต หลังจากนั้นอาทิตย์กว่าๆ อาจารย์ประหยัด พงษดำ ก็เสียชีวิต ผมอยากให้ประชาชนรู้จัก 2 คนนี้ด้วยภาพของเขา คุณมีมั๊ยภาพของถวัลย์ ดัชนี ภาพของประหยัด พงษ์ดำ ในสถานีรถไฟฟ้า บนทางด่วน หรือตามมุมเมืองสำคัญ มีภาพเหล่านี้ให้เห็นบ้างได้มั๊ย
หรือเขาหรือใครที่ยังไม่ตายก็เถอะ แต่มีงานแบบนี้ให้ปรากฏบ้างได้มั๊ย ไม่ใช่แค่ป้ายโฆษณาเชิงธุรกิจอย่างเดียว ต้องการพื้นที่อย่างนี้แหละ ถ้าเราช่วยกันคิด มันให้รสนิยมกับคนโดยไม่รู้ตัวนะ ไม่อย่างนั้นทุกวันนี้แกลลอรีก็ไม่ค่อยมีคนไป มีแต่ไปดูงานตอนวันเปิดกับวันปิดงาน
@ รสนิยมสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากมั๊ยครับ เปลี่ยนไปอย่างไร
เปลี่ยนไปมาก ก็อย่างที่ผมบอกเราขาดราก เก่าหายใหม่หด เมื่อรากไม่มีก็เกิดรากลอย รากลอยเราก็ต้องไปพันกิ่งต่างชาติ เคป๊อป เราก็โหนห้อยตามเขาไปโดยไม่รู้จักตัวเอง
@แล้วเราจะดึงรากที่อาจารย์ว่ากลับมาได้อย่างไร ในห้วงแห่งการปฏิรูป
เราก็จะชูให้เห็นมากกว่า เราปฏิรูปไม่ได้หรอก ปฏิรูปอยู่ที่สังคม อยูที่รัฐบาล อยู่ที่ระบบที่ขับเคลื่อนสังคม ปฏิรูปเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะชูให้เห็นว่าเราต้องการอย่างนี้ สังคมเอามั๊ย แต่เราไม่ได้ชูเองนะ ผมก็จะสะท้อนข้อมูลที่เรามี ต้องฟังเสียงของกลุ่มต่างๆในสังคมให้รอบด้าน ไปคุย ไปสัมมนากันมาเพื่อให้ได้ข้อสรุป มีข้อเสนอเข้าสู่สภาปฏิรูป หรือช่องทางที่ควรจะต้องเป็น
@ แวดวงศิลปินในเครือข่ายอาจารย์ วันนี้เขามองสังคมไทยอย่างไร
เขามองว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง พอไม่เป็นตัวของตัวเองก็เป็นเหยื่อของผู้ที่แสวงโอกาสที่จะมาเทคโอเวอร์ได้ง่ายมาก
@ แล้วจะปฏิรูปแบบไหนดีไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการเทคโอเวอร์
จิตสำนึกของคน ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับการศึกษา สื่อมวลชน แต่เราก็ละเลยภาคเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะสังคมเหมือนต้นไม้ ผมมองว่าสังคมเป็นลำต้น เศรษฐกิจคือราก การเมืองคือยอด กิ่ง ก้าน สาขา ใบ ซึ่งสัมพันธ์กันหมด
ฉะนั้นเวลาเรามองปัญหา เราจะมองปัญหาเฉพาะส่วนไม่ได้เลย ถ้าเราจะปฏิรูปต้องมอบครบ 3 ส่วนนี้ ถามว่าวันนี้เศรษฐกิจเราเป็นแบบไหน เรากลายเป็นสังคมบริโภค ละเลยสังคมการผลิต ตรงนี้เราต้องดึงกลับมา แม้จะยากมากก็ตาม แต่นี่แหละคือสาเหตุหนึ่งที่ต้องปฏิรูป
หรือการเมือง ก็ต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งหรือการเข้ามาสู่อำนาจเท่านั้น แต่ประชาธิปไตยสำหรับผมหมายถึงอำนาจอันชอบธรรมของประชาชนในการบริหารและจัดการในเรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก ทุกวันนี้เราละเลยตรงนี้ การเข้ามาสู่อำนาจ เหมือนได้ใบขับขี่มาแล้วจะขับรถผิดจราจรยังไงก็ได้ โดยอ้างว่ามีใบขับขี่ ไม่ได้
ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้เกิดสังคมที่เกิดผลผลิตด้านวัฒนธรรมให้ดีขึ้น ถ้าวัฒนธรรมงอกเงยในทางที่ดีก็เป็นอารยธรรม ถ้างอกเงยในทางที่ไม่ดีก็เป็นงอกง่อยหรือเป็นหายนะธรรม ฉะนั้นสังคมต้องการความเป็นอารยธรรม
@ อาจารย์หมายถึงทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ
ถูกต้อง ถามว่าทำไมต้องยึดอำนาจ เพราะอำนาจที่ใช้ไม่ถูกต้องหรือเปล่า หรือคนที่ยึดมาแล้วทำไม่ถูกต้องอีก ก็ต้องออกไปอีก ฉะนั้นอำนาจต้องเป็นอำนาจที่ชอบธรรมของประชาชน แต่ถ้าคุณทำเรื่องไม่ชอบธรรม มีอะไรทำให้มันชอบธรรมขึ้นมาล่ะ เราก็ต้องทำ นั่นคือการปฏิรูป
@ อาจารย์คาดหวังกับการปฏิรูปครั้งนี้มากน้อยแค่ไหนครับ
อย่างน้อยเราก็ได้เข้าไปชูประเด็นปัญหาให้สังคมได้รับรู้ ไม่ใช่การชูประเด็นจากสภาปฏิรูปเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่สังคมต้องยอมรับได้ด้วยว่าเป็นปัญหาที่ต้องร่วมปฏิรูป ไม่ใช่ปัญหาสำหรับนักปฏิรูปเท่านั้น แต่ต้องฟังเสียงของภาคสังคมเป็นหลัก วันนี้พลังพลเมืองยังอยู่ พลเมืองก็คือกำลังของเมืองที่ยังมีอยู่ หากว่าผิดไปจากเจตนารมณ์ของการปฏิรูป ก็อยู่ไม่ได้หรอก
@ มองแนวโน้มสังคมไทยในห้วงการปฏิรูปอย่างไรบ้าง
โดยส่วนตัว ผมอยากให้สังคมไทยกลับไปสู่พื้นฐานการผลิต เพราะทรัพยากรของเรามหาศาล เราต้องดูแลจัดสรรด้วยความสามารถที่เรามีอยู่จริงๆ แต่ก็เป็นภาพที่พร่ามัวพอสมควรหากเรายังไม่ก้าวข้ามการปฏิรูป
แต่การปฏิรูปคงไม่ใช่ทางสู่ความสำเร็จทุกอย่าง เป็นแค่กุญแจดอกหนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้คนเห็นว่า สังคมเราอยู่อย่างนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วนะ นั่นคือการขับเคลื่อนจริงๆของสังคม แต่อีก 5 ปี ไม่รู้ว่าจะไปถึงตรงนั้นได้หรือเปล่า เพราะแค่ให้รู้ว่าสิ่งไหนถูก สิ่งไหนไม่ถูก ไม่ใช่แค่สักแต่ว่ารู้น แต่ต้องรู้ประจักษ์จริงๆ ซึ่งก็กลับไปที่การศึกษากับสื่อมวลชนที่จะช่วยได้มาก อย่างการศึกษาเราลงทุนมหาศาล แต่ผลปรากฏว่าเราอยู่ท้ายๆอาเซียน
@แล้วจะปฏิรูปการศึกษาแบบไหนให้ได้ผลสักที
ต้องปฏิรูปอย่างหนักเลย เอาออกจากกระทรวงศึกษาก็ยังได้ เพราะเนื้อหาจริงๆเด็กของเราเกิดทัศนคติแย่มาก ทุกวันนี้เรายังมีทัศนคติว่าตามเขาแล้วเก่ง คิดเองเราโง่ ตราบใดที่สำนึกยังมีอยู่ประเทศชาติฉิบหายแน่
@ สิ่งที่อาจารย์เป็นห่วงสังคมไทยมากที่สุด
เด็กครับ เพราะเยาวชนเป็นดอกไม้ของชาติ อย่างผมเป็นใบไม้รอวันผลิใบไปตามลู่ลม แต่ดอกไม้ของชาติเราต้องดูแล เพราะอย่าลืมว่าดอกไม้จะมีเกสร มีดอกสวยงาม ต้องดูแล ความงดงามของประเทศในอนาคตอยู่ตรงนี้ครับ อยู่ที่เยาวชน