'ประยุทธ์' สั่ง มท.-เกษตรฯ เร่งขึ้นทะเบียนผู้ไร้ที่ดิน เตรียมจัดสรรที่ทำกินชุมชน
‘พล.อ.ประยุทธ์’ สั่งก.มหาดไทย-เกษตรฯ เร่งขึ้นทะเบียนผู้ไร้ที่ดิน เผยเตรียมบริหารจัดสรรที่ดินบูรณาการลักษณะที่ทำกินชุมชน ขอ ปชช.ให้ข้อมูลถูกต้อง ไม่บิดเบือน ระบุเตรียมพาประเทศสู่ศูนย์กลางจัดการโรคเอดส์ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
วันที่ 31 ตุลาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติถึงการจัดสรรที่ดินแก่ผู้ยากไร้ว่า จะเน้นการบริหารจัดการแบบบูรณาการ ผ่านการดูรูปแบบของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และจัดสรรแก่เกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจต้องจัดสรรในลักษณะที่ดินทำกินชุมชน ไม่ใช่รายบุคคล ซึ่งต้องมีการจัดแยกกลุ่มราษฎร ว่ากลุ่มใดสามารถอยู่ทำกินได้ กลุ่มใดไม่สามารถอยู่ทำกินได้ ที่สำคัญ ต้องหาที่ดินทำกินรองรับราษฎรที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ในเขตผิดกฎหมาย
“ประชาชนต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือน หรือเลิกเชื่อในคำกล่าวของคนที่จะช่วยเหลือท่านได้ โดยท่านต้องหันมาร่วมมือกับภาครัฐ” นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า ผมทราบดีพี่น้องเดือดร้อน แต่เราต้องการความร่วมมืออย่างจริงใจและโปร่งใสจากทุกฝ่าย จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน
ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เร่งขึ้นทะเบียนผู้ไม่มีที่ดินทำกินให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงผู้บุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่ง คสช.ได้ให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่บุกรุกป่า โดยจะทำอย่างไรกับคนทั้งสองประเภทเหล่านี้
สำหรับกรณีกฎหมายนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้รวบรวมให้มีการจัดระเบียบกฎหมายที่ล้าสมัย และปรับปรุงร่างกฎหมายใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากล ซึ่งได้รวบรวมตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยกลุ่มงานด้านกฎหมายและการยุติธรรมของ คสช.
“ได้ส่งมอบข้อมูลให้แก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการเร่งปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่ค้างอยู่จำนวนมาก รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเสนอร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ รวมทั้งเปิดช่องให้ภาคประชาชน ธุรกิจ และเอกชน ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ในการทำธุรกิจการค้าต่าง ๆ”
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้เสนอร่างกฎหมายหลายประเภท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเสนอร่าง 37 ฉบับ ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมาย 39 ฉบับ ขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. 61 ฉบับ และการประกาศใช้เป็นกฎหมาย 4 ฉบับ ส่วนกฎหมายที่ประกาศบังคับใช้แล้วจะใช้เลยนั้น อาจส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนได้ จึงต้องมีระยะเวลากำหนดที่เพียงพอ เพื่อทำความเข้าใจแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการเข้าพบผู้อำนวยการใหญ่ องค์การโรคเอดส์ แห่งสหประชาชาติ และรองเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งท่านได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานและบทบาทที่สำคัญของไทยในการแก้ปัญหาโรคเอดส์อย่างยั่งยืน และยกย่องไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของภูมิภาคและโลกที่ดำเนินการด้านนี้อย่างจริงจังและสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคควรเรียนรู้จากไทย
“จากสถิติที่ผ่านมา เราสามารถลดการติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารกอย่างมีประสิทธิภาพ และทางโครงการเชื่อว่าไทยจะสามารถยุติการติดเชื้อรายใหม่ได้ภายในปี 2563” นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ในโอกาสเดียวกันนี้ได้ชี้แจงถึงความมุ่งมั่นของไทย ที่เน้นการเข้าถึงการรักษา การเข้าถึงยา โดยไม่คิดถึงระดับเม็ดเลือดขาว การเปิดพื้นที่ 19 จังหวัด เพื่อให้มีการใช้เข็มฉีดยาที่สะอาด การเร่งพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง การดำเนินโครงการเพื่อลดการติดเชื้อของผู้ใช้ยาเสพติด และการจัดสรรงบประมาณในการจัดการกับปัญหาโรคเอดส์
อย่างไรก็ดี เรายังต้องการรับการสนับสนุนของกองทุนโลกเพื่อต่อสู้กับโรคติดต่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคเอดส์ วัณโรค หรือโรคมาลาเรีย และที่สำคัญ ได้ชี้แจงความพร้อมของไทยจะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ในการลดอัตราติดเชื้อเอชไอวีกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชีย-แปซีฟิก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภูมิภาคสำหรับการจัดการ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์โพสต์จัง