สื่ออาเซียนถกปัญหาละเมิดสิทธิฯ-"ประดิษฐ์"จี้เลิกประกาศ คสช.ฉบับลิดรอนเสรีภาพ
เสวนาผลกระทบเสรีภาพในสังคมไทย นักสิทธิฯชี้ เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิ-ซ้อมทรมาน ต้องถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม นายกสมาคมนักข่าว จี้ยกเลิกประกาศ คสช.ส่วนที่ละเมิดเสรีภาพสื่อ-ปชช.
เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2557 ที่โรงแรมแรมแบรนด์ สมาคมสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAPA (The Southeast Asian Press Alliance) จัดงานเสวนาหัวข้อ "การละเว้นโทษต่อผู้กระทำผิดและผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกในสังคมไทย" ตอนหนึ่งของการเสวนามีการอภิปรายและเสนอแนะถึงการทำงานของสื่อมวลชนและองค์กรภาคประชาสังคมในท่ามกลางสถานการณ์ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือรายงานข้อเท็จจริงบางอย่าง
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผูู้จัดการโครงการศููนย์ข้อมูลกฏหมายและคดีเสรีภาพ (iLaw) กล่าวว่าประเด็นแรกสุด สิ่งที่เราทำได้คือการทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าข้อเท็จจริงของผู้ที่ถูกละเมิดนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแล้ว ก็หวังอยู่ลึกๆ ว่า กระแสสังคมจะช่วยให้การแสวงหาความเป็นธรรมเกี่ยวกับกรณีนั้นๆ ดำเนินต่อไปได้ ส่วนการแก้ไขประการที่สองที่อาจเป็นการแก้ไขในระยะยาวนั้น ความเห็นส่วนตนเห็นว่ากฎอัยการศึกไม่ควรจะมีอีกแล้ว ส่วนในระยะยาวยิ่งไปกว่านั้น ตนคิดว่า ระบบยุติธรรมของศาลไทยยังมีความกลัวอย่างชัดเจนที่จะก้าวไปให้ไกลกว่าเดิม เช่น กรณีที่ญาติผู้เสียชีวิตฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีสั่งสลายการชุมนุม เมื่อปี พ.ศ.2553 ศาลก็อ้างว่าไม่มีอำนาจ หรือบางคดีศาลพยายามทำให้เรื่องไปตกอยู่ที่อื่นหน่วยงานอื่น ในกรณีเช่นนี้ ตนเห็นว่าการกดดันศาลโดยผู้เสียหาย หรือทนายเองก็น่าจะมีผลทางสังคมบ้าง หรือแม้แต่ในกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือบางคดีที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิเสรีภาพ เช่น กรณีการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112
ด้านนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตนเห็นว่ากฎหมายของไทยนั้นมีอยู่เยอะมาก แต่กระบวนการที่จะนำประเด็นเหล่านี้ให้ไปสู่กระบวนการยุติธรรมยังมีปัญหา ไม่สามารถบังคับใช้ได้ หรือแม้แต่กรณีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้มากขึ้น ตนเคยถามพรรคการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศว่าทำไม คุณไม่แก้กฎหมายที่สังคมต้องการให้แก้ แม้แต่ กฎหมายอาญามาตรา 112 ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.ก็เสนอให้แก้ในประเด็นที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่พรรคเพื่อไทยเมื่อได้รับการเลือกตั้งมาก็ยังไม่แก้ปัญหาเหล่านี้เลย ดังนั้น พรรคการเมืองไทยเมื่อเข้ามามีอำนาจ เขาไม่ได้ทำให้เรื่องนี้ดีขึ้น
นายประดิษฐ์กล่าวว่า แต่ถึงที่สุดแล้ว เชื่อว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้น ประเทศไทยเดินทางมาไกลมากแล้ว และจะไม่มีใครล้มล้างได้ เสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนจะไม่มีวัน ถอยหลังไปจากที่เรามีอยู่ เพียงแต่จะทำอย่างไรจึงจะให้ได้รับการคุ้มครองดูแลมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ คณะทำงานใน สปช. มีการหารือกันว่า จะสื่อสารไปยังรัฐบาลว่าประกาศ คสช. ที่ออกมาในส่วนที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน นั้น มีการหารือกันใน สปช. ว่าจะต้องยกเลิกทั้งหมด
“ในคณะทำงาน ของ สปช. เราหารือกันว่าควรจะประกาศ เป็นพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศต่างๆ ของ คสช. ที่มีผลต่อการควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน นี่เป็นเรื่องท้าทายสังคมและเราต้องกล้าที่จะทำเรื่องนี้” นายประดิษฐ์ระบุ และกล่าวว่า กรณีความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมา เมื่อใครขึ้นมามีอำนาจหรือการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ก็จะปกป้องตัวเอง และส่งผลต่อการสอบบสวนทางกระบวนการยุติธรรม เป็นผลของการไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง รวมทั้งรัฐบาลของทั้งสองพรรคใหญ่ล้วนมีฐานของผู้ชุมนุม เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วกระบวนการสอบสวน ดำเนินการตามกฎหมายจึงไม่มีประสิทธิภาพ แต่หากถามว่าปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น สังคมไทยรับรู้ไหม เชื่อว่ารับรู้
“ข้อมูลเหล่านี้ มีการรวบรวม ไว้ในขบวนการสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าการตัดตอนยาเสพติด เรื่องนี้ก็ยังไม่หมดอายุความ คดีต่างๆ อีกหลายคดี ผมคิดว่าสังคมไทยรับรู้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในคดีใหญ่ๆ แต่สำหรับคดีเล็กๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สังคมยังไม่รับรู้มากนัก ทำอย่างไร เราจะให้เรื่องเหล่านี้ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตนเชื่อว่าสื่อรับรู้ แต่อาจจะมีปัญหาในการเปิดเผยข้อเท็จจริง สำหรับผม เรื่องที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือปัญหา ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เรื่องราวของปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ได้รับการเสนอมากนัก” นายประดิษฐ์ระบุ
ด้านนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่าสิ่งที่องค์กรทำมาตลอด คือการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ประชาชนทั้งแก่คนที่ตกเป็นผู้เสียหายและคนในชุมชน รวมทั้งทำการเผยแพร่เอกสารที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ที่มุ่งเน้นให้เกิดการตระหนักในสังคมคือยุติการคุกคาม การละเมิดสิทธิเสรีภาพและการซ้อมทรมาน และต้องไม่ให้คนผิดลอยนวล ดังนั้น จึงมีการทำข้อมูลบันทึกข้อเท็จจริงทางคดี รวมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้ข่าวที่นำเสนอมีความเที่ยงตรงที่สุด ทำอย่างไร จะทำให้เกิดการเยียวยาแก่ผู้ที่เสียหาย และไมใช่แค่เยียวยาเหยื่อ แต่เรากำลังบอกเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อคุณทำผิดคุณต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า นอกจากประเด็นเรื่องการยุติการซ้อมทรมานและไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดลอยนวลแล้ว นักสิทธิมนุษยชนยังให้ความสำคัญกับเป็นความอิสระขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม แต่ในหลายคดี มีข้อสังเกตเช่นคดีสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่ใช้ระยะเวลาในการไต่สวนการตายนานถึง 3 ปีครึ่ง มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมกว่าคดีการไต่สวนการตายอื่นๆ แต่เมื่อถึงวันฟังคำสั่งปรากฏว่ามีการเลื่อนฟังคำสั่งออกไปอีก 1 เดือน อ้างเหตุผลว่าผู้เสียหายมาไม่ครบ ทั้งที่ญาติผู้เสียชีวิตมีทนายอยู่แล้ว
"ในที่สุด หลังจากพิจารณา 3 ปีครึ่ง สรุปว่าตายเพราะขาดอากาศหายใจ ทั้งที่ มีประจักษ์พยานตั้งมากมาย”
นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมยังมีอำนาจอยู่มากในสังคมไทย แต่เราไม่ค่อยกล้าวิเคราะห์ วิจารณ์ผู้มีอำนาจ นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไม่ใช่ แค่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประวัติศาสตร์ของการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในประวัติศาสตร์ทางการเมืองบางช่วงที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงการเปลี่ยนผ่านในอนาคต ว่าสังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าหรือจะถอยหลังกลับเราคงยังไม่สามารถตอบได้ จริงอยู่ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอาจไม่ใช่การปกครองที่ทุกคนเห็นด้วย แต่มันคือการปกครองที่ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง หากเรายังถูกปิดกั้นเสรีภาพในการพูดถึงความจริงแล้วสังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตได้อย่างไร
บรรยายภาพ จากซ้าย : นายยิ่งชีพ, น.ส.พรเพ็ญ, นายประดิษฐ์
ภาพประกอบจาก : www.prachatai.comn,pcusa.info,www.manager.co.th