ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ จี้รัฐสร้างระบบเอื้อ ออมก่อนแก่ รับ ‘โลกชราลง ผู้สูงอายุพุ่ง’
สมาชิกสภาปฏิรูป ยันโจทย์ใหญ่สังคมไทยจะจัดระบบอย่างไรสอดรับสังคมชราภาพ ชี้ยกภาระหมดให้รัฐอย่างเดียวไม่ได้ ยันปชช.ต้องช่วยตัวเองขณะที่ยังทำงานได้ด้วย แนะรัฐสร้างระบบให้เอื้อ พร้อมช่วยคนที่ตกหล่นจากระบบบำนาญต่างๆ
วันที่ 31 ตุลาคม 2557 มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดงานเสวนาวิชาการ “เดินหน้าการออมสู่ระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อสังคมสูงวัยไทยที่มีคุณภาพ” ทั้งนี้ภายในงานมีการบรรยายพิเศษโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาสยาม ในหัวข้อเรื่อง “ทางเลือกและรูปแบบการออมสู่วัยสูงอายุ” ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ
ดร.สมชัย กล่าวถึงแนวโน้มหลักของโลก(Mega Trend) แบ่งได้ 4 แนวโน้ม คือ 1.แนวโน้มการปรับดุลอำนาจของมหาอำนาจเศรษฐกิจการเมือง เศรษฐกิจของโลก 2.แนวโน้มแห่งการเปิดเสรีทางการค้า 3.การเคลื่อนย้ายทุนข้ามชาติ และ 4.แนวโน้มโลกชราลง (Aged Society) ประชากรในโลกมีอายุสูงขึ้น สาเหตุหนึ่งคือการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นทำให้คนไม่ค่อยเสียชีวิตเร็วเหมือนในอดีต คนออกกำลังกายกินอาหารที่เป็นประโยชน์ ทำให้คนอายุยืนขึ้น รวมถึงการวางแผนครอบครัวประสบความสำเร็จในหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศไทยจำนวนการเกิดน้อยลง
ศ.ดร.สมชัย กล่าวว่า สังคมของโลก เป็นสังคมวัยชราแล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมวัยชราเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ยิ่งเมื่อดูในแง่ของการพัฒนาการเศรษฐกิจ แตกต่างจากประเทศในสแกนดิเนเวีย ที่เข้าสู่สังคมวัยชราเมื่อประเทศได้พัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว จึงพร้อมเผชิญภาวะนี้ เนื่องจากคนมีรายได้สูง มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเต็มที่ มีสิ่งอำนาวยความสะดวกมากมาย รวมถึงคนมีเงินออมมาก
“ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่ รายได้ระดับปานกลาง พยายามตะเกียกตะกายให้เป็นประเทศรายได้ระดับสูง ซึ่งยังไปไม่ถึง ต้องมาเจอปัญหาโครงสร้างประชากรอีก” สมาชิก สปช. กล่าว และว่า สำหรับทางเลือกในการดูแลผู้สูงอายุหลายชาติในโลก จัดการอยู่ 2 แบบ 1.ให้ครอบครัวดูแล มีการเอื้ออาทรกัน 2.ระบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนในครอบครัว ซึ่งโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยจะจัดระบบอย่างไรกับสังคมชราภาพ
ศ.ดร.สมชัย กล่าวถึงระบบการออมเพื่อชราภาพ 3 เสาหลัก คือ 1.ประกันสังคม รวมถึงการประกันชราภาพ ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้ากองทุนประกันสังคม กว่า 23 ล้านคน 2.การออมแบบบังคับ โดยออกกฎหมายบังคับให้ทำการออมเพื่อการชราภาพ ตรงนี้ประเทศไทยพยายามให้มี แต่ยังไม่สำเร็จ และ 3.การออมโดยสมัครใจแบบมีข้อผูกพัน และไม่มีข้อผูกพัน หยุดออมไม่ได้ อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น รวมถึงการออมแบบสมัครใจ โดยไม่มีข้อผูกพัน ผ่านธนาคาร หรือออมเพื่ออนาคต เป็นต้น
“ภาระการเลี้ยงดูประชาชน ไม่อาจให้เป็นหน้าที่ของรัฐได้ ไม่มีรัฐใดเลี้ยงดูประชาชนทั้งประเทศได้หมด ฉะนั้นรัฐบาลมีหน้าที่จัดระบบให้สังคมดูแลกันเอง พยายามช่วยตัวเองขณะที่ยังทำงานได้ สร้างระบบที่มีความปลอดภัยทางสังคม ”
สำหรับคนที่ตกจากระบบการออมเพื่อชราภาพทั้ง 3 แบบ ศ.ดร.สมชัย กล่าวว่า จึงเป็นหน้าที่รัฐต้องนำเงินภาษีมาช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนความทุกข์ยากให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ นี่คือสังคมสงเคราะห์ เชื่อว่ารัฐจะใช้เงินไม่มาก และไม่ทำให้รัฐบาลล่มจมด้วย
ด้านนพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวถึงกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) ที่สามารถผลักดันออกมาเป็นกฎหมายแล้ว ผ่านมากว่า 2 ปี ยังไม่มีการดำเนินการเปิดรับสมาชิก ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการและปฏิบัติให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ และเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตคนวัยทำงานในอนาคต
“กอช.จะเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่จะสร้างให้ผู้สูงอายุมีความสุขในชีวิตได้ ผู้สูงอายุที่จะมีความสุขได้ต้องมีสุขภาพดี มีงานทำ และมีความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งงบประมาณที่รัฐจะให้กับกอช. ยังน้อยกว่า งบประชานิยมที่ผ่านๆ มา”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย ตัวแทนจากเยาวชน ,มอเตอร์ไซค์รับจ้าง,แท็กซี่,แม่ค้าหาบเร่,เกษตรกรมและคนงาน นำโดยนางสาวอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) ประกาศเดินหน้า การออมสู่ระบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ เนื่องในโอกาสวันออมแห่งชาติ 31 ตุลาคม 2557 โดยมีเนื้อหาหลัก 4 ข้อ คือ
1.โอกาสของผู้สุงอายุที่จะดูแลตัวเองจากการเกษียณอายุทำอย่างยากลำบากมาก และจะเป็นวิกฤติที่สำคัญของประเทศในอนาคต เป็นวิกฤติที่รู้ล่วงหน้าและเกิดขึ้นแน่นอน แต่สังคมส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ที่จะต้องเดินหน้าการส่งเสริมการออม และการปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้สูงอายุและครอบครัว
2.ความท้าทายใหม่ในการสร้างหลักประกัน ประกอบด้วยบันได 3 ขั้น คือ บทบาทของรัฐที่จะต้องปรับเบี้ยเลี้ยงยังชีพขั้นพื้นฐานให้ทุกกลุ่มได้รับสิทธิ ,สร้างวินัยการออมให้กับกลุ่มอาชีพต่างๆ ทั้งแรงงานนในระบบและนอกระบบ และสุดท้ายกระตุ้นหรือส่งเสริมให้สามารถออมได้เพิ่มขึ้น
3.ระบบการออมในปัจจุบันยังไม่เอื้อการสร้างหลักประกันที่ดีและมั่นคงได้ นอกจากนี้ การออมภาคประชาชน มีการออมผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชน มีทั่วประเทศ ก็ยังขาดการเชื่อมโยงกับระบบหลักที่มีอยู่
4.ถึงแม้ยังมีการอนุมัติให้เกิดการบังคับใช้ พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ (กอช.) แล้ว กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการออกระเบียบเพื่อการรับสมาชิก แต่ยังคงมีพระราชกฤษฎีกาให้กองทุนประกันสังคม จัดสวัสดิการด้านชราภาพให้แก่แรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน และใช้หลักการเดี่ยวกันกับ กอช. จึงเป็นความซับซ้อนในการดำเนินงาน