ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เปรียบปฏิรูปโดยคนจำนวนน้อย เหมือน "อัฐยายซื้อขนมยาย"
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้แก้ไม่ตกระบบเศรษฐกิจไทย เหตุเป็นระบบผูกขาดนาน มองปฏิรูปครั้งนี้เป็นเพียงปรับการร่วมกลุ่มคณาธิปไตยใหม่เท่านั้น ด้านดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เปรียบปฏฺิรูป ไม่ต่างจากอัฐยายซื้อขนมยาย
30 ตุลาคม 2557 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2557 เรื่อง Sustaining Thailand:ก้าวอย่างไรให้ประเทศไทยยั่งยืน โดยภายในงานมีการอภิปรายในหัวข้อ “รัฐไทยกับการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ” ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจไทย โมเดลที่ใช้แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ก็พบปัญหาบางอย่าง เช่น ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการที่ประเทศไทยพึ่งตลาดส่งออกมากเกินไป จึงจำเป็นที่จะต้องปรับโมเดลและปรับโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
หากถามว่า เมื่อทราบปัญหาแล้วทำไมยังแก้ไข้ไม่ได้ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า อันดับแรกในเรื่องของความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ คนเรารู้แบบไม่เต็มที่ ที่ผ่านมาความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์เหมือนเป็นลำดับชั้น 1 2 3 นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถตอบคำถามให้คนทั่วไปเข้าใจได้ทั้งหมด วันนี้จึงมีความรู้แบบไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้คุณภาพของผู้ประกอบการก็ขาดองค์ความรู้ที่จะนำไปต่อยอดในด้านอื่นน้อยมาก ประกอบกับคุณภาพแรงงานในบ้านเราที่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทต่างประเทศ
ประธานสถาบัน TDRI กล่าวถึงระบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ โดยเมืองไทยมีงบประมาณด้านการศึกษามาก แต่คุณภาพของการศึกษากลับสวนทางกับการลงทุน งบบริหารส่วนใหญ่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับนักเรียน ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูป
"ที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีรัฐมนตรีสักกี่คนก็ไม่มีใครกล้าแตะต้องปัญหา อีกทั้งเสถีรยภาพของรัฐบาลมีอายุสั้น ทั้งๆที่ปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาทีต้องใช้เวลาระยะยาวในการแก้ ไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่รัฐบาลที่เข้ามาส่วนใหญ่มีอายุเพียง 2 ปี หรือมากสุด 4 ปีแล้วก็เปลี่ยน มิหนำซ้ำหากรัฐบาลอ่อนแอแต่มาเจอปัญหาที่เข้มแข็งการจะแก้ไขปัญหาได้ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากเข้าไปอีก"
ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือศักยภาพประเทศไทยเรายังต่ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทำได้ยากกว่าสร้างรถไฟรางคู่รางเดียว คือโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำที่จะต้องมีการเวนคืนพื้นที่ซึ่งจะเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่ ารัฐไทยไม่มีปัญญาจัดการถึงแม้จะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพก็ยังไม่สามารถที่จะอัพเกรดประเทศได้
"การปฏิรูปจะต้องตั้งโจทย์ให้ถูก การปฏิรูปไม่ใช่แค่เซ็นแก๊กเดียวแล้วแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ฉะนั้นควรมองปัญหาให้ไกลและยาว ประชาชนต้องชวนกันมาทำโดยไม่ต้องหวังพึ่งรัฐ หรือวิธีนอกระบบ อย่างน้อยสิ่งที่หวังขณะนี้คือการปฏิรูปอย่าสวนทางกับทางที่ควรจะไปก็พอ”
ด้านศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาตราภิชาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่เก่งเทคโนโลยี แม้จะไม่เก่ง แต่ก็สามารถที่จะผันตัวเองและปรับตัวเองจากประเทศที่มีรายได้น้อยมาสู่รายได้ปานกลางได้ ช่วงปี 1980 โชคดีที่ประเทศไทยเข้าไปสู่ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมในระบบโลกและพึ่งการลงทุนต่างประเทศจึงทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นมาพอสมควร หากจะคิดต่อว่าต้องทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นไปได้อีกจะต้องดูว่า สถานการณ์ตอนนี้นักลงทุนต้องการอะไรจากคนไทย
"นักวิเคราะห์ได้วิเคราะห์ไว้แล้วในปี 1990 ว่า สิ่งที่ประเทศจะต้องทำเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจคือการปรับคุณภาพคนงานให้ทันกับความต้องการของบริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศ ในด้านสาธารณูปโภคต้องเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการต่อบริษัท ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งจะต้องทำปฏิรูประบบภาษีให้มีรายได้เพียงพอมาใช้จ่ายและใช้ในการจัดหาสินค้าและบริการ"
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวอีกว่า เรื่องคุณภาพแรงงาน และเทคโนโลยีมีการปรับปรุงแล้วในระดับหนึ่งแต่เนื่องจากนโยบายในการดำเนินงานเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ดำเนินนโยบายแบบไม่เป็นชิ้นเป็นอันจึงทำให้เกิดปัญหาการเมืองตามมาและส่งผลให้การเมืองของไทยไร้เสถียรภาพ
“การปฏิรูปไม่ว่าจะปฏิรูปอะไรต้องมีบุคคลหลายภาคส่วนเข้าไปช่วยกัน เนื่องจากสังคมเรามีความซับซ้อนมาก ถ้าจะปฏิรูปทุกคนที่เป็นคู่ขัดแย้งต้องมีส่วนร่วม หรือถ้าจะบอกว่า ฉันชนะแล้วจะให้อีกฝ่ายยอมรับก็จะดูงงๆ" ศ.ดร.ผาสุก กล่าว และว่า การปฏิรูปที่จะปรับเปลี่ยนโดยคนจำนวนน้อยมากและมากีดกันคู่ขัดแย้งออกไปไม่ให้มีส่วนร่วม เชื่อว่า ผลที่ออกมาก็เหมือน "อัฐยายซื้อขนมยาย" คือเป็นที่พอใจของคนอีกกลุ่มหนึ่งแต่ไม่ใช่ทุกคนในประเทศ และที่สำคัญคือคนทั้งประเทศไม่ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการการปฏิรูปครั้งนี้
ขณะที่ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก และตกทอดจากอดีตสืบมาจนปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผ่านการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่โดยจำกัดกลุ่มคนที่เป็นผู้นำที่นำเข้าสู่สมัยใหม่ อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดที่คนจำนวนน้อยเพียงหยิบมือมีผลต่อตลาด70-80 % และจะไม่มีทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจยังเป็นแบบผูกขาด
"หากไล่ย้อนไปในประวัติศาสตร์ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นอาณานิคมที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์การกู้เอกราช และไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนสังคมทั้งสังคม"ศ.ดร.นิธิ กล่าว และยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซีย สมัยก่อน ไม่มีชาวอินโดนีเซีย แต่มีคนหลายเผ่า เขาทำให้สังคมเปลี่ยนทั้งสังคมโดยการทำให้ฉันกับเขาเป็นคนพวกเดียวกันและเสมอภาคกัน ทำให้เกิดความรู้สึกอยู่ร่วมชาติเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงมนุษย์ เพราะชาติเป็นรัฐชนิดเดียวในโลกนี้ที่ยอมรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่ประเทศไทยไม่เคยเปลี่ยนจุดนี้ได้
ศ.ดร.นิธิ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ตลกมากอีกเรื่องหนึ่งคือถามว่า ฐานทางการเมืองมีอะไร ต้องมีกลุ่มคณาธิปไตย ทหาร ข้าราชการ การเมือง ร่วมกับกลุ่มทุนมีการแบ่งผลประโยชน์ ซึ่งฐานนี้คือปัญหาคอร์รัปชันที่ไม่เคยมีใครพูดถึง ทุกคนอยากจะทำลายสิ่งนี้ ด้วยการบอกการเลือกตั้งไม่ดีแล้วหันไปรัฐประหารเพื่อที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตลกสิ้นดี
“การปฏิรูปครั้งนี้ไม่ใช่การปฏิรูปที่เราพูดถึงแต่เป็นการปรับการรวมกลุ่มคณาธิปไตยใหม่ขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง ถามว่าระบบผูกขาดจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ตอบได้ว่ามีแน่นอน”
ส่วนนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 15 ปีที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับที่จำกัด เนื่องจากงบประมาณส่วนใหญ่ของไทย หากฟังจากที่คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.)แถลงไปจะพบว่างบประมาณส่วนใหญ่ ประมาณ78.8% จะอยู่ในรายจ่ายปกติ ส่วนการบริหารในระดับรัฐนั้นหลายประเทศในระบบเศรษฐกิจรัฐจะทำหน้าที่ในการออกนโยบายเพื่อให้ภาคธุรกิจไปดำเนินการในระบบกลไกตลาด
"แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีอำนาจรัฐเกิดขึ้น ทำให้รัฐกลายเป็นพื้นฐานของระบบ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า ระบบเศรษฐกิจพัง เพราะเราเข้าไปแทรกแซงกลไกการตลาด" นายบรรยง กล่าว และว่า โครงการรับจำนำข้าวรัฐเข้าไปทำบทบาทหน้าที่แทนตลาด สุดท้ายเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นหากจะให้เศรษฐกิจเดินหน้ารัฐอย่าเข้ามายุ่งปล่อยให้ภาคธุรกิจทำหน้าที่ไปตามระบบกลไก อย่ายึดตลาดมาไว้เอง
สำหรับวิธีการแก้ไขระบบเศรษฐกิจเบื้องต้น นายบรรยง กล่าวว่า ต้องลดขนาดอำนาจรัฐ และทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพและสุดท้ายป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล นั่นก็คือ การคอร์รัปชัน ทั้งนี้ในต่างประเทศจะใช้ราชการเข้ามาช่วยจัดการ แต่บริบทในเมืองไทยนั้นเลยจุดนั้นไปแล้ว เพราะหากจะทำเช่นนั้นได้ข้าราชการจะต้องมีความเข้มแข็งซึ่งระบบราชการในเมืองไทยถูกทำลายไปหมดแล้วหากจะสร้างใหม่ก็สร้างไม่ได้อีกแล้ว