เวทีเสวนา กสม.-ทนายความ รุมจี้สื่อเคารพสิทธิผู้เสียชีวิต-ผู้ถูกกล่าวหาคดีเกาะเต่า
เวทีเสวนา กสม.-กสทช.-หัวหน้าทีมทนาย จี้สื่อเคารพสิทธิ-ให้เกียรติผู้เสียชีวิต คดีเกาะเต่า ไม่ควรเผยแพร่ภาพศพ ซัดตร.พาผู้ต้องหาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ละเมิดสิทธิความเป็นผู้บริสุทธิ์ หวั่นสร้างอคติชาติพันธุ์
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2557 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอทเซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเสวนาหัวข้อ "สิทธิผู้ตกเป็นข่าว VS สิทธิการรับรู้ข่าวสาร แค่ไหน เพียงใด ในข่าวอาชญากรรม" ตอนหนึ่งของงานเสวนามีการอภิปรายถึงการรายงานข่าวอาชญากรรมของสื่อมวลชนในคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่ เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)กล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในกรณีคดีเกาะเต่าที่ในตอนนี้มีเหยื่อคือแรงงานข้ามชาติทั้ง 2 ราย ว่าเมื่อมีการเสนอข่าวของสื่อมวลชน สิ่งที่อยากให้ความสำคัญคือการให้ความเคารพศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์ สื่อควรระวังว่าอย่าไปเรียกเขาว่าเป็นจำเลย อีกทั้งการที่ผู้สื่อข่าวไปนำเสนอในสิทธิที่เป็นเรื่องส่วนตัว เช่นการรายงานว่าเขารับสารภาพนั้นก็ไม่ควรอย่างยิ่ง แม้แต่ในประเด็นนี้ กสม. ก็พูดไม่ได้ เพราะมีผลต่อทางคดี เจ้าตัวเขาต้องเป็นคนพูดเองเท่านั้นหรือทนายความพูด และตอนนี้เขาก็ปฏิเสธแล้วว่าเขาไม่ได้รับสารภาพแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กรณีสื่อบางคนก็อยากรู้ข้อมูลก็ตามไปสัมภาษณ์ล่าม แต่สื่อควรต้องรู้ด้วยว่าชาวเมียนมาร์ทั้งสองท่านอพยพมาจากรัฐอาระกัน ซึ่งมีความขัดแย้งกันมากระหว่างพุทธและมุสลิม ถ้าไทยใช้ล่ามที่มีอคติทางชาติพันธุ์ก็ต้องดูว่า จะไปกระทบสำนวนคดีหรือไม่ กระทบชาติพันธุ์หรือไม่ และสื่อไม่ควรทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาและผู้ตัดสิน นี่เป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง
นพ.นิรันดร์กล่าวว่าอยากให้สื่อเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจำเป็นมาก เนื่องจากขณะนี้ โลกอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งปัจจุบัน นอกจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ปัญหาอีกประการคือ เรื่องสังคมโซเชียลมีเดีย ที่กรณีมีภาพที่ไม่เหมาะสมปรากฏออกไป อาจเกิดขึ้นจากหน่วยกู้ภัยด้วย มูลนิธิ หรือผู้ประสบเหตุเอง ที่ใช้โทรศัพท์มือถอืที่ถ่ายภาพได้แล้วก็ส่งแพร่หลายออกไปทางสังคมออนไลน์ ขณะที่ภาพที่เผยแพร่โดยสื่อเองก็มี เหล่านี้ ขอให้ตระหนักและเคารพศีลธรรมในวิชาชีพ เราต้องเรียนรู้และตระหนักเรื่องจิตสำนึก แต่ตนไม่โทษสื่อหรือตำรวจเพียงฝ่ายเดียว เพราะสังคมไทยอยู่ภายใต้อคติเรื่องเรื่องชาติพันธุ์
“สื่อเองก็ต้องรู้เท่าทัน ไม่เช่นนั้น เราจะกลายเป็นเหยื่อของอคติทางชาติพันธุ์” นพ.นิรันดร์ระบุ
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ สภาทนายความ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือผู้ต้องสงสัยจากคดีสังหารนักท่องเที่ยวอังกฤษที่เกาะเต่าของสภาทนายความ กล่าวว่าในยุคปัจจุบัน สื่อมีความสำคัญมาก ในสังคมไทยมีคนเสพสื่อ เสพข่าวด้วยความคืบหน้ารวดเร็วกว่าในยุคก่อนมาก ซึ่งความรวดเร็วของการสื่อสารที่เร็วกว่าทุกยุคที่ผ่านมานี้ ในแง่หนึ่งทำให้เกิดปัญหาอีกด้าน คือการละเมิดความเป็นส่วนตัวและละเมิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น รูปศพ ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถเผยแพร่ได้ เพราะละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนที่เป็นเหยื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เสียชีวิตไปแล้ว เขาไม่มีโอกาสโต้ตอบสื่อหรือคนภายนอกเลย
นายสุรพงษ์กล่าวด้วยว่า อีกประเด็นที่สำคัญคือการให้เกียรติผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือเสียชีวิต ควรได้รับการคำนึงถึงด้วย แต่กรณีเกาะเต่า สื่อก็กลับละเลยหลักดังกล่าว เช่น มีการรายงานว่ามีการร่วมเพศกันของผู้ที่เสียชีวิตไป โดยที่เขาไม่มีโอกาสแก้ตัวเลย หรือเรื่องที่มีการพูดว่าผู้เสียชีวิตสวมบิกินี่ แล้วสื่อก็นำเอาคำพูดนั้นมารายงาน ทั้งที่ไม่เป็นความจริง สื่อนำเสนอโดยไม่ได้คัดกรองก่อน ซึ่งเขาไม่มีโอกาสชี้แจง แล้วก็พบในเวลาต่อมาว่าไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ ในกรณีของแรงงานข้ามชาติที่ถูกตั้งข้อหา ตามหลักแล้ว คนทุกคนแม้เป็นผู้ต้องหาแล้ว ตามกฎหมายก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าศาลจะตัดสินเป็นที่สุด แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ายังมีแนวคิดที่สื่อยังนำคำพูดมาถ่ายทอดต่อราวกับว่าเขาไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ ขอให้ระวัง เพราะว่าหากเขาบริสุทธิ์แล้วไปว่าเขาว่าไม่บริสุทธิ์ ตรงนี้ไม่ควรอย่างยิ่ง
นายสุรพงษ์กล่าวว่าการทำแผนประกอบคำรับสารภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาทิ การแถลงข่าวจับกุมผู้ค้ายาเสพติดโดยเฉพาะเรื่องการทำแผนประกอบคำรับสารภาพและการแถลงข่าว ตามหลักการแล้วทำไม่ได้ เพราะเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ คุณจะเอายาเสพติดมาวาง แล้วบังคับให้เขาชี้นั้นทำไม่ได้ เพราะนั่นเป็นการบังคับให้เขายอมรับนะครับ ยกเว้นเจ้าตัวเขาแถลงเองหรือยินยอมแถลงโดยสมัครใจ ถ้าเขามีสิทธิ์ก็ทำได้ หรือถ้าเจ้าตัวเขาพูดเองหรือญาติยินยอมให้เปิดเผย ไม่เช่นนั้นทำไม่ได้เลยไม่ว่าโดยตำรวจ เอ็นจีโอ แม้แต่จะใช้วิธีการสวมหมวก ปิดบังใบหน้าหน้าก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่แค่ประเด็นว่าละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่ แต่การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ยังละเมิดความเป็นผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากตามกฎหมายแล้ว เขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสิน แต่แล้วตำรวจไปกล่าวหาเขา
นายสุรพงษ์กล่าวด้วยว่า อีกประเด็นสำคัญที่อยากฝากสื่อ ในการรายงานข่าวคดีเกาะเต่าคือ เรื่องการเหยียดหยามเชื้อชาติ เช่นหนังสือพิมพ์บางฉบับมีการพาดหัวข่าวว่า “2 พม่า โหดไม่เครียด อัยการฝากขัง ผัด 3” บรรณาธิการปล่อยให้พาดหัวแบบนี้ได้อย่างไร การพาดหัวในแนวแบบนี้ ไม่ควร การพาดหัวข่าวที่เหยียดหยามชาติพันธุ์นั้นทำไม่ได้ ไม่ว่าเขาจะผิดจริงหรือไม่ อย่าเหมารวมให้เกิดการเกลียดชังกัน นอกจากนี้ อยากให้สื่อเป็นธรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง เพราะระหว่างความถูกกับความผิดไม่มีความเป็นกลาง แต่ควรเสนอความจริงในเชิงสร้างสรรค์
นายสุรพงษ์กล่าวว่าเพราะปัจจุบันนี้ ข่าวในเชิงสืบสวน ยังมีนักข่าวนำเสนอกันน้อยมาก เช่น กรณีคดีเกาะเต่า มีสื่อไหนบ้างที่ถามชาวบ้านบนเกาะเต่า หรือสืบสวนเอง เอาความจริงออกมา การทำข่าวเชิงลึก ไม่ใช่เพียงแค่นำเสนอข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น การนำเสนอข้อมูลจากตำรวจแล้วอ้างว่านั่นเป็นการสืบสวนนั้นยังไม่ใช่ เพราะนั่นเป็นการให้ข้อมูลจากตำรวจฝ่ายเดียว แต่การทำข่าวสืบสวนที่แท้จริงสื่อต้องมีความกล้าที่จะนำเอาความจริงออกมา
“สื่อไม่ใช่กระบอกเสียงใคร แต่มีหน้าที่หาความจริง” นายสุรพงษ์ระบุ
ด้านนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและอนุกรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวว่าขอให้ตระหนักในสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งตนเชื่อว่าสื่อมวลชนจะไม่รายงานผิดพลาดหรือบกพร่อง ถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐเคารพสิทธิของผู้ต้องหาตั้งแต่แรก
“เช่นในกรณีคดีเกาะเต่า เป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาของระบบกระบวนการยุติธรรม เพราะผู้ต้องหาควรได้พบทนายความและได้รับข้อมูลที่ถ้วนถี่ แต่กรณีเกาะเต่า ผู้ต้องหาไม่ได้พบกับบุคคลอื่นเลยเป็นเวลา ยาวนานพอสมควร ดังนั้น เราต้องเร่งรัดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าควรให้สิทธิผู้ต้องหา นับตั้งแต่เมื่อเขาตกเป็นผู้ต้องหา” นางสาวพรเพ็ญระบุ
ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.กล่าวว่า อยากฝากไปยังสื่อแต่ละคนว่าการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวเช่น พาสปอร์ต ก็อาจต้องระวังทั้งหน้าตาและการเปิดเผยตัวตนของผู้เสียหาย ทั้งในรูปแบบออนไลน์หรือในหนังสือพิมพ์ หรือกรณีที่สถานีโทรทัศน์บางช่องอาจจะมีการนำเอาคลิปต่างๆ มาเผยแพร่ก็ต้องระวัง เนื่องจากข้อมูลในคลิปอาจมีกระบวนการนำเสนอที่ผ่านการคัดกรองไม่มากพอ
“แม้แต่กรณีคดีเกาะเต่า ทีวีสาธารณะบางสถานีก็ยังพลาด เพราะมีการนำเอาพาสปอร์ตของผู้เสียชีวิต มาเผยแพร่ออกอากาศ ทั้งที่พาสปอร์ตนั้นไม่ควรถูกเผยแพร่” นางสาวสุภิญญาระบุ และกล่าวทิ้งท้ายว่ายุคนี้ เป็นยุคที่คนเปิดเผยตัวตน ขอให้ระวังเรื่องอัตลักษณ์และหากสื่อใดที่คิดจะตามไปถึงครอบครัว พ่อแม่ของผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา ก็ขอให้ระมัดระวังเรื่องการผลิตซ้ำอคติ
*บรรยายภาพ จากซ้าย : นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์, นายสุรพงษ์ กองจันทึก