ดาหน้าสู้ถึงที่สุด! ผู้ประกันตนจี้ สนช.ถอนร่าง กม.ประกันสังคม ฉบับรัฐบาล
ภาคประชาชนค้าน สนช.ดันร่างกม.ประกันสังคม ฉบับรัฐบาล เหตุไม่ครอบคลุมคนทำงานทั้งประเทศ จี้ถอนร่างกลับทบทวนใหม่ ‘วิไลวรรณ แซ่เตีย’ เผยรีบร้อนไปไม่เกิดประโยชน์ เตรียมดาหน้าสู้ถึงที่สุด ‘ปธ.องค์การแรงงานฯ’ ระบุต้องบรรจุ 4 ข้อเรียกร้องปฏิรูประบบ ชูครอบคลุม-อิสระ-โปร่งใส-ยืดหยุ่น เป็นธรรม
วันที่ 29 ตุลาคม 2557 เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา ‘ปฏิรูปประกันสังคม ปฏิรูปประเทศไทย’ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับรัฐบาล เป็นหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร่งรัดให้เกิดขึ้น และจะมีการผลักดันในวันที่ 30 ตุลาคม 2557 แต่รายละเอียดยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน โดยเฉพาะการเรียกร้องให้การบริหารจัดการกองทุนฯ มีความเป็นอิสระ และเปิดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร เพื่อให้เกิดการตัดสินใจคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
“สนช.ต้องถอนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ออกจากวาระการพิจารณา เพื่อนำกลับมาทบทวนใหม่ และนำไปสู่การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยยึดหลักปฏิรูปกฎหมายบนพื้นฐานสิทธิประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่หากยืนยันไม่ถอนร่างฯ จะกลายเป็นบรรทัดฐานสู่การเดินหน้า พ.ร.บ.ฉบับอื่นต่อไป พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลและ สนช.ต้องเร่งรัดผลักดันกฎหมายมากมายเกินขอบเขต” รองประธาน คปก. กล่าว
ด้านดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า การปฏิรูปกองทุนประกันสังคมต้องเดินไปในทิศทางเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้สมาชิกกองทุนมีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนเนื้อหาโดยละเอียดต้องหารืออีกครั้งหนึ่ง แต่หลักการสำคัญ ต้องไม่เน้นเฉพาะความเป็นอิสระและตรวจสอบได้เท่านั้น หากจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนและทั่วถึงด้วย เพราะขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงแรงงานทั้งหมด
“ระบบประกันสังคมไทยถอดแบบมาจากสวีเดน แต่ 10 ปี หลังมานี้ สวีเดนปฏิรูปโดยแยกบริหารการเงิน แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน เพิ่มอำนาจการตรวจสอบได้ จึงอยากให้ศึกษาหลักการจากประเทศดังกล่าว ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นเป้าหมายสุดท้าย” สมาชิก สปช. กล่าว และว่า สำหรับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม แม้จะ ‘ปะผุ’ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ต้องทำไป แต่กฎหมายยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม สปช.จะเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วมปรับปรุงกฎหมายให้ยั่งยืนอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หลักการ 4 ประการ ของภาคีเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด เพราะตลอด 24 ปี ที่ผ่านมา ตั้งข้อสังเกตถึงบอร์ดบริหารกองทุนฯ เก่งเพียงกลุ่มเดียว อีกทั้ง การเลือกตั้งให้ได้มาของคณะกรรมการไม่ชอบธรรม ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิในการเลือกผู้แทนของตนเอง จึงถึงเวลาแล้วต้องใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูป มิใช่จะให้เรารอไปนานขนาดไหน
ทั้งนี้ วันที่ 30 ตุลาคม 2557 ภาคีเครือข่ายจะมีการรวมตัวกันเรียกร้องให้ สนช.ถอนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับรัฐบาลออกมาก่อน เพราะหากเนื้อหาไม่ดีแล้วรีบร้อนไป สุดท้ายกฎหมายก็ไม่สร้างประโยชน์ให้ประชาชน โดยยืนยันจะดาหน้าต่อสู้ให้ถึงที่สุด
ฝ่ายนายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับรัฐบาล จะมีข้อดี แต่ก็ไม่สามารถนำไปสู่การเป็นองค์กรอิสระได้ ฉะนั้นจึงควรบรรจุหลักการ 4 ประการ เข้าไปอยู่ในกฎหมาย หากยังปิดประตูเรื่องดังกล่าวอยู่ พวกเราจะใช้ ‘ยาแรง’ เพื่อให้ถอนกลับมาทบทวนใหม่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าวันพรุ่งนี้จะมีการชะลอผลักดันกฎหมายออกไปอย่างแน่นอน
สุดท้ายนายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผอ.ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม ระบุว่าร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับรัฐบาล มีกับประโยชน์กับผู้ประกันตน ส่วนการผลักดันให้มีการบริหารงานอิสระนั้นต้องมาพูดคุยในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แต่หากวิเคราะห์ต้นทุนต่าง ๆ แล้ว ควรให้มีการบริหารงานแบบราชการ แล้วหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพการตรวจสอบจะดีมากกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลักการ 4 ประการ ที่เครือข่ายผู้ประกันตนเรียกร้องให้บรรจุไว้ในร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พอสังเขป คือ 1. หลักความครอบคลุม ต้องให้ผู้ทำงานทุกคนทั้งภาครัฐเเละเอกชนที่ทำงานมีรายได้ตั้งเเต่ 15 ปีขึ้นไป ได้รับสิทธิครอบคลุมด้านประโยชน์ทดเเทน 2. หลักความเป็นอิสระเเละบูรณาการของระบบบริหาร เพื่อป้องกันการเเทรกเเซงจากรัฐเเละการเมือง บูรณาการประสานสิทธิประโยชน์เเละการบริหารจัดการ
3. หลักการความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนทุกระบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนทุกระดับ และ 4. หลักยืดหยุ่นเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ปรับปรุงเงื่อนไข อัตราเงินสมทบเเละการบริการที่เอื้อต่อการเข้าถึงประโยชน์ทดเเทน เเละระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์เร็วขึ้น .