‘ประภาส ปิ่นตบแต่ง’ ชี้ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ย่ำรอยยุค รสช. ไม่ต่างจาก คจก.ภาค 2
เครือข่ายสันติศึกษา ร่วมกับ คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมาย 4 ฉบับ "วิพากษ์หรือหนุนเสริม แผนแม่บททรัพยากรป่าไม้ 2557” ประยงค์ ดอกลำไย ฉะคสช. ติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เม็ดที่สองยังกำหนดพื้นที่ป่าวิกฤติผิดอีก
วันที่ 29 ตุลาคม เครือข่ายสันติศึกษา ร่วมกับ คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมาย 4 ฉบับ จัดเวที "วิพากษ์หรือหนุนเสริม แผนแม่บททรัพยากรป่าไม้ 2557” ณ ห้องประชุมจุมภฎพันธ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก–รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายประยงค์ ดอกลำไย ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต่อมามีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 66 เน้นมิให้การดำเนินการตามคำสั่งที่ 64 กระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม ยกเว้นผู้บุกรุกใหม่ ซึ่งเป็นที่มาของแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน อนุมัติมาตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2557 ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ติดผิด
“การที่แผนนี้ระบุชัด จะทวงคืนผืนป่าประมาณ 26 ล้านไร่นั้น คือ ตัวเลขของป่าที่ไม่มีต้นไม้แล้ว ถามว่า 26 ล้านไร่ เป็นของคนรวยหมดใช่หรือไม่ หรือเป็นของคนที่อยู่หลัง 17 มิถุนายน 2557 ตามคำสั่ง คสช.ที่ 66 ใช่หรือไม่ รวมถึงการดำเนินการตามแผนแม่บทจะไม่กระทบคนจนและผู้ยากไร้ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 66 คุ้มครองอยู่ได้อย่างไร”
นายประยงค์ กล่าวถึงวิธีการทวงคืนผืนป่า หากยังใช้วิธีการเดิมๆ ยึดพื้นที่ แล้วปลูกป่า ซึ่งทำกันมาร้อยกว่าปีแล้วนั้น เชื่อว่า จะไม่สามารถทวงคืนผืนป่าได้ 26 ล้านไร่ดังเป้าหมายที่วางไว้ ฉะนั้นแผนแม่บทฯ ไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้ แต่คนจะถูกจับกุมแน่นอน ถูกยึดที่ทำกินแน่นอน และคนจนที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของคำสั่ง คสช.ที่ 66 แน่นอน
ส่วนการกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดไหนมีพื้นที่ป่าวิกฤติ เช่น วิกฤติรุนแรง 12 จังหวัด ซึ่งอยู่ในภาคเหนือตอนบน 5 จังหวัดนั้น ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า พื้นที่ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่วิกฤติป่าไม้ ล้วนแล้วแต่จังหวัดที่มีป่าไม้เกิน 40% ทั้งสิ้น
“แผนแม่บทฯ ฉบับนี้กลายเป็นว่า ไปทวงคืนผืนป่าในจังหวัดที่มีการรักษาป่าไว้ดีที่สุด เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี 2556 มีพื้นที่ป่า 6 ล้านกว่าไร่ หรือคิดเป็น 86% ถูกกำหนดเป็นพื้นที่วิกฤติป่าไม้ รวมถึงเชียงใหม่ และน่าน” นายประยงค์ กล่าว และว่า ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว จังหวัดที่มีป่าไม่ถึง 40% แผนแม่บทฯ นี้ต้องทวงคืนจังหวัดนั้น นี่คือกระดุมที่ติดผิดอีกเม็ด
ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวถึงกิจกรรมหลังจากนี้ด้วยว่า วันที่ 9 พฤศจิกายน จะมีการรณรงค์ “เดินก้าวแลกเพื่อการปฏิรูปที่ดิน” โดยชูสโลแกน “หยุดแผนแม่บทป่าไม้ฯ หนุนกฎหมายที่ดิน 4 ฉบับ” ลานครูบาศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบเทียบการปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช.ทั้ง 2 ฉบับ และแผนแม่บทป่าไม้ฯ 2557 ไม่ได้แตกต่างย่ำรอยเดิม เหมือนยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ที่มีโครงการจัดที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือ คจก. ซึ่งตามมาด้วยการปลูกป่าเศรษฐกิจ
“บทเรียนในอดีต สอนให้เรารู้ว่า ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคมต้องแก้ไขด้วยประชาธิปไตย ในแง่ของสร้างการมีส่วนร่วมให้สามารถวิพากษ์แผนแม่บทป่าไม้ฯ นี้ได้ ขอหยุดอพยพคน หรือใช้วิธีการเดิมๆ ในการจัดการปัญหาป่าไม้ ซึ่งกลไกการส่งเสียงของชาวบ้าน จึงควรเป็นสิทธิพื้นฐานขั้นต่ำในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ” ดร.ประภาส กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ข้อมูลของศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. ได้สรุปผลปฏิบัติตามคำสั่งคสช.ที่ 64 และ 66/2557 ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ได้จับกุมผู้ต้องหาได้ 501 ราย และยึดคืนพื้นที่ได้ 34,505 ไร่ ในพื้นที่ 68 จังหวัดทั่วประเทศ