10 ปีตากใบ 1 ปีหมวดแชน
ช่วงปลายเดือน ต.ค.เป็นช่วงเวลาของการรำลึกถึงความสูญเสียที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้...
25 ต.ค. เป็นวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งหมายถึงการสลายการชุมนุมที่หน้าโรงพัก สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และลำเลียงผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมกว่า 1 พันคนด้วยวิธีถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง แล้วนำไปเรียงซ้อนทับกันในกระบะรถยีเอ็มซี ทั้งหมดนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 ศพ เหตุเกิดเมื่อ 25 ต.ค.47 หรือ 10 ปีที่แล้ว
28 ต.ค. เป็นวันครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์สูญเสียตำรวจนักกู้ระเบิด หรืออีโอดี ถึง 3 นายในคราวเดียว นำโดย "หมวดแชน" พล.ต.ท.แชน วรงคไพสิฐ (ยศหลังได้รับการปูนบำเหน็จ) อีโอดีชื่อดังที่มีคนรักทั้งเมือง เหตุเกิดเมื่อ 28 ต.ค.56
จะว่าไปแล้วตลอดกว่า 10 ปีของสถานการณ์ไฟใต้ได้ก่อความสูญเสียยิ่งกว่านี้มากมายนัก จนแทบจะเรียกได้ว่าวันนี้ของปีที่แล้ว หรือของปีก่อนๆ ย้อนหลังไปถึงปี 47 น่าจะต้องมีผู้สูญเสียไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากความรุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน
เพียงแต่ 2 เหตุการณ์นี้เป็นข่าวใหญ่ที่ทุกคนจำได้ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ขึ้นมา
เมื่อมีวันสำคัญประเภท "วันนี้ในอดีต" ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องแจ้งเตือนให้ระมัดระวังการก่อเหตุรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเดือน ต.ค.นับเป็นอีกเดือนหนึ่งที่มี "วันแจ้งเตือน" หลายวัน เรียกว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในสามจังหวัดคงเตรียมพร้อมกันจนเหนื่อย
โดย 2 วันในหลายๆ วันนั้น ก็คือ วันที่ 25 ต.ค. กับ 28 ต.ค.ดังกล่าว
จะเห็นได้ว่าระยะหลังไม่ได้มีเฉพาะเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำในลักษณะละเมิดสิทธิและเสรีภาพกับพี่น้องมลายูมุสลิมเท่านั้นที่กลายเป็น "วันสัญลักษณ์" แต่เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยม โหดร้าย ก็กลายเป็น "วันสัญลักษณ์" เช่นเดียวกัน
จะพูดว่าความรุนแรงที่ชายแดนใต้ก่อความสูญเสียให้กับผู้คนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ก็คงไม่ผิด
และ "หมวดแชน" ผู้ต้องสังเวยชีวิตกับภารกิจปกป้องชีวิตคนอื่น ก็คือคนนราธิวาส เป็นชาวนราธิวาสเหมือนกับอีกหลายๆ ชีวิตที่ต้องสูญเสียที่ตากใบ
ปัญหาก็คือ หากนับเฉพาะห้วงเวลาตั้งแต่เกิดความรุนแรงรอบใหม่ที่เรียกว่าสงครามก่อการร้ายในเมือง มีการก่อเหตุรุนแรงรายวัน นับจากวันที่ 4 ม.ค.2547 ถึงวันนี้เกินกว่า 10 ปีเต็มแล้ว แต่รัฐบาลไม่ว่าจะกี่ชุด หรือมาจากพรรคการเมืองไหน หรือแม้แต่รัฐบาลจากการปฏิวัติรัฐประหาร ก็ไม่สามารถดับไฟความรุนแรงได้สำเร็จ
เฝ้าฟังทิศทางนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ใช้ "ทหาร" เป็นหน่วยนำในการแก้ไขปัญหา ปรากฏว่าจุดเน้นอยู่ที่การบูรณาการงบประมาณและแผนงานการพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ แต่อาจยังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด
เพราะสิ่งที่เป็นเงื่อนไขของการก่อความรุนแรง คือ "ความไม่เป็นธรรม" ที่คนในพื้นที่ได้รับ
แน่นอนว่าบรรดา "นักรบ" หรือ "เยาวชน" ชายแดนใต้ที่ตัดสินใจจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐ ครั้งหนึ่งอาจเคยได้รับข้อมูลผิดๆ ได้ฟังเรื่องราวบิดเบือน ไม่พูดความจริงทั้งหมด และถูกปลุกระดมให้เกลียดชังรัฐไทย แต่จากสถานการณ์ไฟใต้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยเองกลับก้าวไม่พ้นข้อมูลผิดๆ ที่ตนเองบอกว่าบิดเบือนนั้น
นั่นเพราะเกิดการละเมิดสิทธิ และเกิดกรณีไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้นอีกเรื่องแล้วเรื่องเล่า โดยที่ผู้กระทำยังไม่ถูกลงโทษให้เห็นเลยสักครั้ง
ตราบใดที่เหตุการณ์อย่าง "ตากใบ" ยังไม่ถูกพิสูจน์ความจริง รวมทั้งไม่มีใครที่ต้องรับผิด เหตุการณ์เหล่านั้นก็จะกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดีในการขยายความเกลียดชังเพื่อให้ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงเข้าใส่กันต่อไป
โดยมีประชาชนผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่ดีๆ อย่างหมวดแชนกลายเป็นเหยื่อให้คนข้างหลังได้ย้อนนึกถึงความเลวร้ายเก่าๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้ายบน) เหตุการณ์ตากใบ (ซ้ายล่าง) จุดเกิดเหตุระเบิดหมวดแชนและเพื่อนร่วมทีมอีโอดี (ขวา) รถของอีโอดีที่โดนสะเก็ดระเบิด