กระจายอำนาจยุคนี้ไม่ง่าย นักวิชาการชี้ต้องรออาณัติสวรรค์ เหตุรัฐวิตกเกินเหตุ
คณบดีเศรษฐศาสตร์ มธ.เปรียบกระจายอำนาจเหมือนลูกนก รอแม่นกป้อนอาหาร ขณะที่คณบดีรัฐศาสตร์ มธ.ชี้ที่ผ่านมารัฐไม่เคยให้การสนับสนุน-จริงใจ
28 ตุลาคม 2557 สถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนาครั้งที่ 5 การปฏิรูปประเทศไทย ร่วมคิด ร่วมปฏิรูป การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไทย ภายใต้โครงการสัมมนา สู่ทศวรรษที่เก้า :ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตยไทย ทั้งนี้ภายในงานมีการอภิปรายในหัวข้อ “ร่วมคิด ร่วมปฏิรูป :ข้อเสนอการปฏิรูปท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 5-6 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
ความอ่อนไหวด้านความมั่นคงเกินเหตุ
รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การกระจายอำนาจในยุคนี้ไม่ง่ายเหมือนการกระจายอำนาจในปี 2540 เนื่องจากการปรับตัวหรือจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคงอยู่ได้ด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก การปรับโครงสร้างอำนาจรัฐข้าราชการ การลดบทบาททางการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคโบราณ ซึ่งหลายคนคิดว่าสิ่งเหล่านี้หายไปแล้วแต่ก็อาจจะหวนกลับมาใหม่ได้ ทั้งนี้เรื่องของความคิด ความเชื่อในเรื่องการร่วมศูนย์อำนาจจะเป็นความท้าทายของการกระจายอำนาจในครั้งนี้เป็นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่ทางด้านเศรษฐกิจ การสร้างสิ่งใหม่ การสร้างระบบที่เข้มแข็ง เนื่องจากรัฐบาลในยุคนี้มีความอ่อนไหวด้านความมั่นคง
“สมัยก่อนได้ทำวิจัยเกี่ยวกับระบบภูมิภาคและคิดว่าจะหมดไปในช่วงปี 2555 แต่มาจนถึงปัจจุบันนี้ระบบนี้ก็ยังอยู่ ซึ่งจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเห็นการบริหารระบบภูมิภาค "ง่อนแง่น" แต่พอหลังช่วง 22 พฤษภาคม 2557 จะเห็นแนวโน้มการตอบสนองต่อความมั่นคง นโยบายการรวมศูนย์ รัฐไม่ไว้ใจต่อการจัดการบริหารต่อสาธารณะของประเทศ คือ ไม่กล้าที่จะละทิ้งการควบคุมแต่ใช้วิธีการกำกับ”
รศ.ตระกูล กล่าวถึงการทำงานในเรื่องการกระจายอำนาจจะต้องมีส่วนร่วมสร้างมิติความเข้าใจในเรื่องการตรวจสอบ อย่าคิดว่า การตรวจสอบ คือ การหักหน้า แต่ให้มองว่า การตรวจสอบเป็นการเสนอแนะและสร้างความเข้าใจ รวมถึงรูปแบบที่เป็นอยู่หรือตัวกฎหมายก็ไม่ได้แก้เรื่องระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับสภา หากยิ่งอ่านคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 85-86 ด้วยแล้วจะรู้เลยว่า ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนักยากที่จะชนะ ชนะในที่นี้หมายถึงชนะเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของท้องถิ่นที่จะไปบริการประชาชน
“สาเหตุที่การกระจายอำนาจยุคนี้ไม่ง่าย เนื่องจากมีแรงต้านเพื่อรักษาฐานอำนาจหน้าที่รัฐเองก็เน้นการรวมศูนย์และกังวลเรื่องสถานการณ์ความมั่นคงมากกว่าเรื่องการกระจายอำนาจ ดังนั้นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดโดยดำเนินการแบบบูรณาการ คำนึงถึงขนาดของพื้นที่ ขีดความสามารถการเข้าถึงบริการสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของประชาชนยกเลิกกฎระเบียบที่ทำให้องค์กรท้องถิ่นขาดอิสระ และแบ่งอำนาจหน้าที่ของรัฐ กับท้องถิ่นให้ชัดเจน”
จวกรัฐโยนขนมให้แล้วไม่หันมาเหลียวแล
ด้านศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า 10 กว่าปีที่เราเริ่มมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 70-80% ทะเลาะกันเรื่องเดียวว่าจะได้เงินเท่าไหร่ ความจริงแล้วการกระจายอำนาจเป็นกระบวนการ เราคาดและหวังว่าจะให้ผลอะไร ซึ่งที่ผ่านมาเรามีแผนกระจายอำนาจ แต่แผนทั้งหมดไม่เคยบอกเลยว่า ประเทศไทยจะได้อะไร ขณะเดียวกันความเชื่อวันนี้ก็ถูกป้ายสี สร้างภาพ หลายคนเข้าใจว่า การกระจายอำนาจ คือ ให้เงิน ถ่ายโอนงานแล้วทุกอย่างจะดี วันนี้ทุกคนรู้สึกหรือไม่ว่า ตัวเองมีอำนาจและที่สำคัญความรู้สึกรับผิดรับชอบรัฐบาลเคยรู้สึกแบบนี้กับประชาชนหรือไม่
“ความฝันของการกระจายอำนาจ คือ มุ่งหวังที่จะเห็นการถ่ายโอนงาน ทรัพยากรท้องถิ่นให้กับท้องถิ่นได้บริหารเพื่อทำให้บริการดีขึ้นมีความใกล้ชิดประชาชน ต้นทุนถูก มีความเป็นอิสระ แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นกลับไม่ใช่เรื่องโครงสร้างการปกครอง กฎหมาย แต่ปัญหาใหญ่ของการกระจายอำนาจในสิบปีที่ผ่านมา คือ การเห็นความแตกแยกในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง โครงสร้างการบริหารงาน บุคลากร แยกงานเรื่องการเงินการคลังออกไป ซึ่งความจริงสิ่งเหล่านี้ต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน”
ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลทำตัวเหมือนเป็นพ่อแม่ คือ โยนขนมให้แล้วไม่หันมาเหลียวแลว่า เราทำงานได้ดีหรือไม่ จะดูแต่ว่าโกงไม่โกง ทำอะไรไม่เห็นมีผลงาน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่น ไม่ใช่ให้ประชาชนเป็นลูกนกที่ต้องรอแม่นกมาป้อนอาหารให้อย่างเดียว บางทีก็อ้างว่ามีกฎหมายในการปฏิบัติแต่ความสำเร็จของกฎหมายเหล่านั้นที่เขียนไว้กลับมีการปฏิบัติไม่ถึงครึ่ง ทำให้กระบวนการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจไม่เป็นไปตามที่หวัง
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงหัวใจสำคัญของความเป็นอิสระในการบริหารจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากท้องถิ่นยังอาศัยเงินภาษีจากรัฐบาล ความชัดเจนของหน้าที่ไม่ได้ชัดเจนด้วยกฎหมาย ดังนั้นรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องการันตีงานการันตีรายได้ขั้นต่ำที่สุดของท้องถิ่นว่า งานคืออะไรงบประมาณเท่าไหร่ ที่สำคัญในการกระจายอำนาจครั้งนี้จะต้องไม่ละเลยเรื่องภาษี โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เรื่องนี้สำคัญกว่าภาษีมรดกที่ทุกคนต่างให้ความสนใจกันอยู่ในขณะนี้ส่วนเงินส่งเสริมการพัฒนาก็ขอให้ใช้มืออาชีพเข้ามาบริหารแทนข้าราชการ
กระจายอำนาจ รออาณัติจากสวรรค์
ขณะที่รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคำถามว่า ปฏิรูปที่มาพูดกันวันนี้จะเอาแค่ไหน ถ้าคิดแบบติดอยู่ในกรอบเดิมก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเราพูดกันแบบกรอบกว้างๆก็จะคิดได้ไกลคิดได้เยอะ ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจใช้วิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยม คิดอยู่บนพื้นฐานว่า สุดท้ายแล้วต้องเก็บงานจำนวนมากไว้ให้ส่วนราชการ หรืองานบางอย่างที่เข้าสู่ท้องถิ่นก็เป็นงานที่สำคัญน้อย
"ในต่างประเทศที่มีการกระจายอำนาจภารกิจสำคัญหลายอย่างจะให้ท้องถิ่นทำหมด เช่น ตำรวจในประเทศญี่ปุ่นเป็นตำรวจขององค์การบริหารส่วนจังหวัด สนามบินนานาชาติที่ประเทศญี่ปุ่นก็ให้ท้องถิ่นสร้างและบริหารจัดการกันเอง"
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนการกระจายอำนาจวันนี้หากไม่มีอาณัติจากสวรรค์ นั่นก็คือรัฐบาล การขับเคลื่อนก็จะไม่มีวันเดินหน้าไปไหน เพราะไม่ว่าจะรัฐบาลกี่ยุคที่ผ่านมาก็ไม่เคยสนับสนุนการกระจายอำนาจอย่างจริงใจ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องผลักดันให้การกระจายอำนาจเกิดเป็นผลและการกระจายอำนาจจะต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบราชการที่สำคัญนอกจากรัฐบาลต้องสนับสนุนอย่างจริงใจแล้วจะต้องทำความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจให้ตรงกันและพูดถึงการกระจายอำนาจแบบใหม่ๆบ้าง