วสท. ผนึก 7 สมาคม แก้ออกใบอนุญาตก่อสร้างช้า จี้รัฐตั้งกรอบอนุมัติภายใน 30 วัน
วสท. จับมือ 7 องค์กร เตรียมยื่น 6 ข้อเสนอต่อ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ แก้ออกใบอนุญาตก่อสร้างล่าช้า เน้นกำหนดอนุมัติภายใน 30 วัน ตั้งค่าธรรมเนียมถูกต้อง ‘นายก วสท.’ ชี้ไม่เร่งปรับเสี่ยงลดทอนพัฒนาประเทศ เหตุการก่อสร้างเป็นต้นน้ำอุตสาหกรรมทั้งหมด
วันที่ 28 ตุลาคม 2557 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร, สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, สมาคมอาคารชุดไทย และสภาวิศวกร จัดเสวนา ‘ใบอนุญาตก่อสร้าง...เพื่อการพัฒนาปฏิรูปประเทศ’ ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ทว่า กลับมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับขั้นตอนการขอใบอนุญาตก่อสร้างที่ล่าช้า เพราะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือหน่วยงานระดับจังหวัดต่างมีนโยบายไม่ชัดเจน ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม
“ผู้ประกอบการทุกระดับเข้าใจตรงกันว่าการขอใบอนุญาตก่อสร้างล่าช้ามาโดยตลอด เพราะมีขั้นตอนหลายระดับมากเกินไป ดังนั้นจึงใช้โอกาสการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น” นายก วสท. กล่าว และว่าต้องมีการกำหนดกรอบระยะเวลาการออกใบอนุญาตก่อสร้างภายใน 30 วัน และกำหนดค่าธรรมเนียมที่ถูกต้องในแต่ละประเภท เพื่อผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ประชาชนได้ขออนุญาตสร้างที่อยู่อาศัย ประกอบธุรกิจ โรงงาน หรืออาคารสำนักงาน
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งปรับทัศนคติให้สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้ หากปล่อยให้ล่าช้าจะนำมาสู่การลดทอนการพัฒนาในประเทศ เพราะการก่อสร้างถือเป็นต้นน้ำสำคัญของอุตสาหกรรมทั้งหมด จึงนับเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาและสร้างสรรค์พื้นที่ ตลอดจนช่วยลดโอกาสการทุจริตคอร์รัปชันผ่านวิธีการจ่ายรูปแบบอื่น
ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้นเดือนพฤศจิกายน 2557 ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คงต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งรัฐบาลก็พยายามปฏิรูปกฎหมายหลาย ๆ ด้าน ซึ่งหากทำได้จะช่วยส่งเสริมการลงทุนในประเทศ
ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึงอุปสรรคในการขอใบอนุญาตก่อสร้างว่า ที่ผ่านมาต้องพูดคุยกันกับเจ้าหน้าที่แบบพี่น้อง และมีการจ่ายสินน้ำใจ เพื่อไม่ให้มีปัญหา แต่จะมูลค่าเท่าไหร่นั้นต้องไปสอบถามกันเอง ซึ่งหากยังปล่อยให้มีวงจรอุบาทว์เช่นนี้คงไปกันใหญ่ ดังนั้นต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ภาครัฐและเอกชน
“เจ้าหน้าที่รัฐจะอนุมัติให้ใบอนุญาตก่อสร้าง แต่เมื่อเจ้านายคนใหม่ย้ายมาประจำการ การพูดคุยกับเจ้าหน้าที่แบบพี่น้องไม่มีอีกแล้ว จึงรู้ว่าอาจจะไม่ผ่าน ทำให้ต้องเปลี่ยนเข้าไปพูดคุยเรื่องสินน้ำใจแทน กลายเป็นระบบไม่ดีและไม่ควรทำ”
นายกสมาคมอสังหาฯ ยกตัวอย่าง การก่อสร้างคอนโดที่ผ่านมาเกิดประเด็นประกาศขายไปก่อนโดยที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง สาเหตุเนื่องจากต้องแข่งขันกับคู่แข่งทางการตลาด แต่ภายหลังกลับไม่ผ่านการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายระบุให้การก่อสร้างต้องผ่านอีไอเอหรือได้รับใบอนุญาตก่อสร้างก่อนจึงจะประกาศขายได้ แต่หากมัวรอให้ทุกอย่างผ่านขั้นตอนสมบูรณ์ก็จะโดนแย่งลูกค้าอีก ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนในการขอใบอนุญาตก่อสร้างเกิดขึ้น
ขณะที่ นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย กล่าวถึงภาพรวมปัญหาธุรกิจก่อสร้างว่า ขณะนี้ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ค่าแรง 300 บาท และวิกฤติทางการเมือง จึงส่งผลกระทบเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม จึงเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิชาชีพก่อสร้าง พ.ศ.2522 มาบังคับใช้ใหม่ เพราะถึงเวลาแล้วในโอกาสที่ไทยเข้าสู่เออีซี จึงต้องมีมาตรฐานการก่อสร้างของตนเอง ฉะนั้นนักลงทุนใดจะเข้ามาก่อสร้างต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทยเท่านั้น
สุดท้าย นายประดิชญา สิงหราช อุปนายก สมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวถึงขั้นตอนการขอใบอนุญาตก่อสร้างที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบปัญหามากนัก แต่ส่วนใหญ่ปัญหาจะอยู่ที่การตีความกฎหมายมากกว่า เช่น ระยะร่น พื้นที่ว่าง การวัดระยะทาง เป็นต้น เพราะกฎหมายไม่สามารถเขียนระบุชัดเจนได้ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการตีความแตกต่างไปจากส่วนกลาง ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมแต่ละท้องที่ จึงเสนอให้ไม่ต้องผ่านการตีความ
ส่วนกรณีความชัดเจนเรื่องอีไอเอ อุปนายก สมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวด้วยว่า าไม่มีความชัดเจน ด้วยการจัดเวทีประชาพิจารณ์หลายครั้ง ภาครัฐจับภาคเอกชนกับชาวบ้านมาชกมวยกัน แต่ไม่มีการห้ามมวย ซึ่งบางครั้งประเด็นที่ถกเถียงกันก็ไม่มีกฎหมายรองรับ ยกตัวอย่าง อาคารหลังที่สองบังวิวอาคารหลังแรก สิ่งเหล่านี้ผู้ออกแบบไม่มีวันรู้ ตราบใดไม่มีกฎหมายรองรับ
ท้ายที่สุด ในเวทีมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาตก่อสร้าง 6 ข้อ ดังนี้
1.กำหนดระยะเวลาในการออกใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตถมดิน โดยให้กทม. อบต. อบจ. เทศบาล กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ระบุการใช้เวลาจำนวนวันในการอนุมัติให้ชัดเจน ตามประเภทของอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม หากพ้นกำหนดตามระยะเวลาให้แจ้งสาเหตุแห่งความล่าช้า
2.กำหนดค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตก่อสร้างแบ่งตามชนิดและประเภทของอาคาร ประเภทโรงงานและใบอนุญาตถมดินให้ใช่เป็นมาตรฐานแก่หน่วยงานของรัฐในส่วนความรับผิดชอบของตนเองทั่วประเทศ ห้ามมิให้มีค่าใช้จ่ายใด ๆ อีก
3.ให้ยกเลิกมาตรา 39 ทวิ ในการให้วุฒิวิศกรหรือวุฒิสถาปนิกเซ็นรับรองในการขอใบอนุญาตก่อสร้างในการออกแบบและคุมงานก่อสร้าง เพื่อจะได้มาซึ่งหน่วยราชการอนุมัติใบอนุญาตก่อสร้างในโครงการนั้น
4.ให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ห้ามมิให้ข้าราชการ วิศวกร และสถาปนิกที่ทำงานในเขต กทม. อบต. อบจ. เทศบาล ออกแบบคุมงานโครงการก่อสร้างในพื้นทีเขตการปกครองของตนเองทำงานอยู่ เพื่อปกป้องวิชาชีพวิศวกรและสถาปนิก
5.ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ กทม. อบจ. อบต. เทศบาล ที่ทำหน้าที่ในทุกระดับชั้นในการออกใบอนุญาตก่อสร้างต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินทุกปีแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อแสดงความมีคุณธรรม
6.ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐขอใบอนุญาตการก่อสร้างจากหน่วยงานรัฐ กทม. อบจ. อบต. เทศบาล ให้หน่วยงานของรัฐขอโดยตรง โดยไม่ต้องรอผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้ขอใบอนุญาตก่อสร้างแทน .
ภาพประกอบ:ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์-เออีซีนิวส์