วุฒิสาร ตันไชย : กระจายอำนาจเดินมาไกล เกินกว่าถอยหลัง
"รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทิศทางการปฏิรูปจะเป็นอย่างไรในอนาคต คาดเดาไม่ได้ แต่เส้นทางการปฏิรูปฯ ยังคงเดินต่อ เพราะเป็นหลักการสำคัญของการสร้างประชาธิปไตย และทำให้การเมืองเป็นการเมืองเพื่อบ้านเมืองมากกว่าการเมืองเพื่อการเงิน"
วันที่ 28 ตุลาคม 2557 สถาบันพระปกเกล้า จัดงาน การปฏิรูปประเทศไทย ร่วมคิด ร่วมปฏิรูป การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไทย ภายใต้โครงการสัมมนา สู่ทศวรรษที่ 9 ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตยไทย ครั้งที่ 5 โดยภายในงานมี รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า หนึ่งในสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “หลักคิดกับการปฏิรูปการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไทย” ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 5-6 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
รศ.วุฒิสาร กล่าวถึงหลักคิดกับการปฏิรูปการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไทยว่า การจะปฏิรูปการกระจายอำนาจประเทศไทยเป้าหมาย คือ นำอำนาจไปไว้ในปัญหาให้มากที่สุด ซึ่งความเสี่ยงของการกระจายอำนาจคือการรวมศูนย์อำนาจไปไว้ที่ส่วนกลาง แต่หากศูนย์อำนาจถูกกระจายไปไว้ที่ท้องถิ่นแล้ว ความเสี่ยงดังกล่าวจะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน ที่จะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
"หลายฝ่ายต้องยอมรับกว่า 15 ปี ในการพยายามกระจายอำนาจ ประชาชนส่วนมากมองว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่แทนรัฐบาลอย่างองค์กรป้องครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. สามารถแก้ไขปัญหาปัญหาได้ตรงจุดและตรงตามความต้องการของประชาชน เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์ของของ อปท. ที่เป็นตัวแทนของรัฐในการกระจายอำนาจ ที่มีการทำงานที่แตกต่าง การทำงานไม่เหมือนกัน มีวิธีคิดและวิถีชีวิตเป็นของของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ตอบสนองต่อพลเมือง ชุมชน และสังคมนั้น"
รศ.วุฒิสาร กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจคือความมีอิสระที่จะทำให้องค์กรท้องถิ่นนั้นสร้างนวัตกรรมและการจัดการให้สอดคล้องกับภูมิสังคม ของชุมชน ซึ่งต้องมีความหลากหลายและประชาชนเป็นเจ้าของ "ผมคิดว่าท้องถิ่นต้องปฏิรูปตัวเองก่อนที่คนอื่นจะมาปฏิรูปให้ ทุกวันนี้หลายคนพูดเฉพาะปัญหาของ อปท. ทั้ง คอร์รัปชั่น ทำงานไม่สมกับประสิทธิภาพ แต่ไม่มีใครพูดถึงข้อดีของ อปท.เพราะฉะนั้นควรช่วยกันสร้างท้องถิ่นให้สังคมยอมรับ"
ส่วนการพัฒนาการของการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นนั้น รศ.วุฒิสาร กล่าวว่า ประเทศไทยได้พัฒนามาไกล จนถึงจุดที่เรียกว่า เป็นจุดสำคัญของการกระจายอำนาจ ในอดีตปี 2540 อปท.เป็นองค์กรที่มีอิสระเสรี แต่ไม่มีวิญญาณและลมหายใจ ต่อมา ปี 2542 อปท.มีการเปลี่ยนแปลงจนมีลมหายใจที่ชัดเจนและมีจิตวิญญาณมากขึ้น จนปัจจุบันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ประเทศไทยไม่อาจถอยหลังได้ เพราะก้าวมาไกล ทั้งในแง่ของการเพิ่มอำนาจของ อปท.ในการบริหารจัดการ และสร้างความพึงพอใจในด้านการทำงานของ อปท.ให้กับประชาชน หรือการเมืองในระดับท้องถิ่นเองก็ตามก็มีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทิศทางการปฏิรูปจะเป็นอย่างไรในอนาคต สมาชิกสปช. กล่าวว่า ยังคาดเดาไม่ได้ แต่เส้นทางการปฏิรูปฯ ยังคงเดินต่อ เพราะเป็นหลักการสำคัญของการสร้างประชาธิปไตย และทำให้การเมืองเป็นการเมืองเพื่อบ้านเมือง มากกว่าการเมืองเพื่อการเงิน
รศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะลดบทบาทศูนย์กลางอำนาจรัฐ โดยการเน้นการกระจายที่เข้มข้นขึ้นตามอำนาจหน้าที่ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า การถ่ายโอนภารกิจ เป็นการเสริมศักยภาพของการบริหาร ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนไปทั้งศักยภาพของบุคลากรที่มีคุณภาพมากขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น ผู้บริหารมีประสบการณ์มากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบในการสร้างท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ในส่วนของภาครัฐก็ให้การสนับสนุน แต่ท้องถิ่นเองก็ต้องสร้างศักยภาพของตัวเองด้วย ซึ่งประชาธิปไตยในพื้นที่จะเป็นส่วนเสริมโดยเริ่มจากสิ่งที่จับต้องและเป็นพื้นฐานได้มากที่สุด ทำให้เป็นประชาธิปไตยระดับรากหญ้า ที่เป็นหัวใจของการพัฒนาการเมืองในอนาคต ประกอบกับท้องถิ่นยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวด้วยว่า วันนี้แม้รัฐธรรมนูญที่กำลังมีความพยายามร่างขึ้นมาใหม่มีการพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจไว้แค่ 1 ประโยค คือ การกระจายอำนาจของการจัดการศึกษาที่นำ อปท. เข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วม เพราะยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญมากกกว่า แต่รัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงแค่รัฐบาลชุดชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งในอนาคตการกระจายอำนาจอาจะถูกบรรจุไว้ในนโยบายในการปฏิรูปประเทศก็เป็นได้
“การพูดเรื่องบทบาทของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมในการกำกับดูแลองค์กรท้องถิ่น ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมากเช่นกัน การพยายามย้ายอำนาจจากภูมิภาคไปไว้ที่ภาคประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุชัดเจนว่า ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญที่จะทำอย่างไรที่จะนำประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้มีพื้นที่หุ้นส่วนกับ อปท.” รศ.วุฒิสาร กล่าว และว่า เหตุผลในการปฏิรูป ความท้าทายที่ต้องปฏิรูป คือ การหาคำตอบจากการถามถึงการแก้ไขปัญหาเดิมๆซ้ำๆ อาทิ การกระจายอำนาจจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ปัญหาการแก้กฎหมายในด้านของท้องถิ่น กฎหมายการคลัง กฎหมายการบริหารงานบุคคล หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นจะแก้อย่างไร โครงสร้างของ อปท. เป็นปัญหาจะแก้ไขอย่างไร เป็นต้น
"คำถามเหล่านี้เป็นคำถามซ้ำๆเดิมๆที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ซึ่งส่วนนี้ในการปฏิรูปต้องช่วยกันหาคำตอบให้ได้ และ การจัดการบริการสาธารณะที่ให้เท่าเทียมเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในแต่ละชุมชน ต้องเปิดให้ท้องถิ่นมีนวัตกรรมที่สามาถบริหารจัดการให้เป็นพื้นที่ของท้องถิ่นเอง เพื่อสลายความเหลื่อมล้ำ ต้องให้ อปท.มีการจัดการกับอำนาจหน้าที่ โดยมี 3 ผู้เล่นหลักที่จะช่วยสร้าง คือ ราชการภูมิภาค ท้องถิ่น และเอกชน ที่จะเป็นตัวช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำชั้นดี ที่สำคัญต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ จัดการกับวิธีการทำงานอย่างไร"
สุดท้ายสิ่งสำคัญของการปฏิรูปอีกสิ่งหนึ่ง รศ.วุฒิสาร กล่าวว่า คือการเชื่อมั่นในปรัชญาในการกระจายอำนาจว่า เป็นแนวทางที่จะต้องแก้ปัญหาให้กับประชาชน ไม่ใช่นักการเมืองนำอำนาจไปให้ประชาชนลดความเสี่ยงจากศูนย์กลาง ซึ่งตอนนี้เราเดินมาไกลเกินกว่าที่จะถอยหลัง แต่เราจะเดินไปข้างหน้าโดยวิธีการไหนแค่นั้น