ปรับปรุงทั้งที “ดร.เดือนเด่น” หวังดึง รสก. 57 แห่ง อยู่ภายใต้กม.แข่งขันทางการค้า
“ดร.เดือนเด่น” ไม่คาดหวังปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันการค้า ที่กำลังจะเกิดขึ้น แนะแยกสำนักงาน ออกมา เป็นองค์กรอิสระ แต่ต้องไม่เป็น กสทช.2 อิสระมาก เงินเยอะ ไล่ออกไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 28 ตุลาคมนี้ สำนักงานส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นการรับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนนำผลจากการสัมมนามาปรับปรุงกฎหมายต่อไป ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี
สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) สัมภาษณ์ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงจุดอ่อน และปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ 15 ปี ที่ยังคงไม่สามารถบังคับใช้ให้ได้ผลอย่างเต็มที่
ดร.เดือนเด่น กล่าวถึงจุดอ่อนของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าว่า อยู่ที่ระบบโครงสร้างของการคัดเลือกคณะกรรมการการแข่งขันการค้า โดยเฉพาะนำคนการเมือง การนำรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์มานั่งเป็นประธานถือว่า ไม่ถูกต้อง อีกทั้ง สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าต้องแยกออกมาเป็น "องค์กรอิสระ" ไม่ขึ้นกับฝ่ายการเมือง ซึ่งหากนำไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอาจะมีการใช้ระบบเส้นสายทางการเมืองในเรื่องของผลประโยชน์ที่ทับซ้อนตามมาภายหลัง
"เดิมการเลือกคณะกรรมการฯ กรมการค้าภายใน ระบุว่า ต้องมาจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 3 คน และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3 คน ถือว่า ไม่ถูกต้องเช่นกัน ยกตัวอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้วการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการจะมาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือนักกฎหมายที่มีผลงานด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านกฎหมาย ในเชิงประจักษ์"
ผอ.วิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในส่วนของเนื้อหากฎหมายที่เป็นจุดอ่อน คือการออกกฎหมายล้าช้า ไม่มีการออกกฎหมายลูกมาบังคับใช้ก่อน ยกตัวอย่างที่ผ่านมา มาตรา 25 ผู้มีอำนาจเหนือตลาด ระบุไว้ว่า กรรมการต้องออกประกาศราชกฤษฎีกาว่า อะไรคืออำนาจเหนือตลาด ในส่วนนี้ความหมายก็ถกเถียงกันมานานกว่า 8 ปีตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในระหว่างที่ถกเถียงกันเริ่มจากวันที่มีกฎหมายนี้บังคับใช้ และการไม่มีกฎหมายลูกอออกมาจึงทำอะไรใครไม่ได้ การกระทำความผิดจึงกระทำได้ง่าย เนื่องจากมีช่องว่างตรงนี้อยู่ ขณะที่คณะกรรมการฯ ไม่ออกกฎหมายลูกออกมา ถามว่าใครรับผิดชอบ สุดท้ายก็ไม่มีบทลงโทษคณะกรรมการฯ ที่ไม่ทำหน้าที่
เมื่อถามถึง 9 ประเด็นที่กรมการค้าภายในเห็นควรต้องแก้ไขนั้น ดร.เดือนเด่น กล่าวแสดงความเห็นด้วยว่า ควรปรับปรุงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแยกให้ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จัดตั้งเป็นองค์กรอิสระนั้นก็ควรต้องมีหน่วยงานควบคุมการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวอีกชุดหนึ่งด้วย เพื่อได้มีการตรวจสอบ และประเมินผลงาน อีกทั้งต้องมีบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ น่าเชื่อถือ และมีคนเพียงพอในการประเมิน
“เวลาเป็นองค์กรอิสระแล้วต้องหากรรมการอีกชุดเพื่อมาตรวจสอบ ไม่เช่นนั้นจะออกมาเป็น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)แห่งที่ 2 คืออิสระมาก เงินก็เยอะ ไล่ออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องคิดถึงกลไกว่า หน่วยงานจะรับผิดชอบอย่างไร ต้องมานั่งคิดกันให้เข้มแข็ง ไม่ใช่อิสระอย่างเดียว” ดร.เดือนเด่น กล่าว และว่า ส่วนกรณีที่ปรับแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการฯ โดยลดจำนวน และมีการคัดสรรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแข่งขัน และต้องปฏิบัติงานเต็มเวลานั้น ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ข้อดี คือ มีคนทำงานได้เต็มเวลา ส่วนข้อเสีย คือ คนมีความสามารถส่วนมากไม่ค่อยมาทำงานในองค์กรที่มีเงินเดือนต่ำ ฉะนั้น ต้องคำนวณค่าตอบแทนตรงส่วนนี้ด้วย
สำหรับเรื่องการนำรัฐวิสาหกิจคาดว่า 10 แห่ง อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และ บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) มาอยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขันทางการค้า จะช่วยสลายการผูกขาดที่เกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า ในเรื่องของการสลายการผูกขาดที่เกิดขึ้นนั้น คิดว่า สลายไม่ได้ ซึ่งในกรณีของโครงสร้างนั้นผู้ที่สลายการผูกขาดได้คือ “รัฐบาล” โดยการแยก ปตท.เป็นบริษัทย่อย ซึ่งในเชิงอำนาจสามารถทำได้ แต่บางส่วน อย่างการควบคุมพฤติกรรมของ ปตท. อาทิ การที่ ปตท.กำหนดราคาขาย LPG ให้กับบริษัทภายใต้องค์กรเองโดยการขึ้น 29 บาท แต่ขายให้ SCG 28 บาท ในส่วนนี้ถือว่าผิดกฎหมายแน่นอน ถ้าเปลี่ยนกฎหมายและ ปตท.ไปอยู่ภายใต้กฎหมายการค้าฯ อาจถูกฟ้องได้ว่า เป็นการเลือกปฏิบัติ ขายสินค้าในการเลือกกำหนดราคาและขายสินค้าเกินจำนวนราคา เป็นต้น เพราะฉะนั้นควรดึงรัฐวิสาหกิจทั้ง 57 แห่งมาอยู่ภายใต้กฎหมาย หรือดึงเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่อยู้ในตลาดหลักทรัพย์ ที่ถือว่าเป็นตัวแข่งขันกับเอกชนเข้ามา รวมไปถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
“ส่วนตัวแล้วไม่คาดหวังกับการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้จะสำเร็จหรือไม่ เพราะในอดีตมีความพยามแก้ หรือปรับปรุงมาก่อนแล้ว แต่ก็ไม่เห็นแก้อะไรได้เลย”ผอ.วิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าว