เรื่องเล่าการเมืองในสภา... หน้าที่ มิตรภาพ และความขัดแย้ง!
"ส.ส.สมัยก่อน แม้จะอยู่คนละพรรค แต่ก็มีความรู้สึกว่าเป็นมิตรกัน อภิปรายในสภาเสร็จเรียบร้อย ก็ยังทักทาย เป็นเพื่อนกัน แต่ช่วงที่ผ่านมา เดินไม่มองหน้ากัน ถือว่าเป็นคนละขั้ว จะเห็นภาพชัดมาก นอกจากนี้ยังเห็นการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง"
“จเร พันธุ์เปรื่อง” เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รับราชการมา 35 ปี เห็นการเปลี่ยนแปลงในรั้วรัฐสภามานักต่อนัก
เขาเล่าว่า สภาสมัยก่อนกับสมัยนี้ค่อนข้างต่างกัน ส.ส.สมัยก่อน แม้จะอยู่คนละพรรค แต่ก็มีความรู้สึกว่าเป็นมิตรกัน อภิปรายในสภาเสร็จเรียบร้อย ก็ยังทักทาย เป็นเพื่อนกัน แต่ช่วงที่ผ่านมา เดินไม่มองหน้ากัน ถือว่าเป็นคนละขั้ว จะเห็นภาพชัดมาก นอกจากนี้ยังเห็นการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง
เลขาสภา ยังเล่าว่า สมัยก่อนมีส.ส.ท่านหนึ่งอภิปราย แต่ถูกท่านประธานห้ามไม่ให้อภิปราย และเชิญสมาชิกท่านนั้นออกนอกห้องประชุม
สมาชิกท่านนั้นก็มาคอยประธานอยู่หลังบัลลังก์ เมื่อประธานลงจากบัลลังก์ สมาชิกท่านนั้นก็ก้มลงกราบขอโทษ แต่สมัยนี้ไม่ค่อยมีแล้ว
“ผมคิดว่าสภาสมัยก่อนกับสภาสมัยนี้ต่างกันที่บริบทของสังคม สังคมสมัยก่อนสมาชิกส่วนใหญ่มีที่มาที่ไปคล้ายๆกัน เช่น จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เข้ามาในสภาก็ยังเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง อยู่คนละพรรคก็คุยกัน แต่ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยมีเป็นร้อยๆแห่ง จบมาก็ว่ากันไป ความผูกพันช่วงเป็นนักศึกษาไม่ค่อยมี”
“ยิ่งช่วงหลังมานี้ พรรคการเมืองก็จะเข้มงวดในการการดำเนินงานของสมาชิก จะต้องอยู่ในกรอบของพรรคการเมือง ทำให้ความเป็นอิสระของสมาชิกในบางบุคคลอาจมีไม่มาก เลยทำให้ปัญหาต่างๆเกิดขึ้น ผมมองว่า ความเจริญของสังคม บริบทของสังคม ทำให้คนเปลี่ยน” “จเร กล่าว
ในยุคสภาปฏิรูปแห่งชาติ “จเร” แสดงทรรศนะว่า นี่คือการพัฒนาไปตามสังคมการเมือง ถามว่าจะดีขึ้นมั๊ย จะต้องดีขึ้น ถ้าไม่ดีขึ้น ประเทศอยู่ไม่ได้ ผมว่าทุกคนก็เอาใจช่วย ผมเองก็เอาใจช่วย
หากเราทำอะไรให้บ้านเมืองดีขึ้น มีความสุข ชาวบ้านมีความสุขก็ทำไปเถอะ เพียงแต่ว่า ทำอย่างไรให้คนเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว
ทุกคนที่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง วันนี้ต้องถามตัวเองว่า เราจะทำไปเพื่ออะไร ถ้าเกิดทำเพื่อตัวเอง เพื่อพรรคพวก เพื่อครอบครัว ก็จบ แต่ถ้าเราคิดว่าทำเพื่อส่วนรวมก็จะดี
“คนหลายคนที่เขาทำเพื่อส่วนรวม เขาไม่ได้คิดอะไร เขามีความสุขนะครับ แต่คนที่เข้ามาทำเพื่อส่วนตัวก็จะมีความทุกข์มาก”
เลขาสภา ยังกล่าวว่า สำหรับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ต้องเตรียมทุกเรื่อง ทั้งเรื่องบุคลากร ผลงานทางวิชาการ ทีมงานสำหรับการประชุมสภา ประชุมคณะกรรมาธิการ และอาคารสถานที่
เช่น เรื่องเตรียมคน เราเตรียมฝ่ายวิชาการ มีสำนักวิชาการและสำนักกฎหมายดูแลเรื่องวิชาการและกฏหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปด้านต่างๆ
รวมทั้งจัดทำเอกสารทางวิชาการสนับสนุนการดำเนินงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เราก็เตรียมศึกษาทุกด้านให้บุคลากรของเราศึกษาค้นคว้า กึ่งๆการวิจัย
หรือด้านกรรมาธิการ การดำเนินงานของสภาปฏิรูปฯ คงจะต้องดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการเป็นหลัก ก็เตรียมเรื่องข้อบังคับการประชุม ต้นร่างการข้อบังคับการประชุมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เราก็ต้องเตรียมบุคลากรรองรับการปฏิรูปทุกด้าน เพื่อให้เชื่อมกันระหว่างด้านวิชาการ กฎหมายกับกรรมาธิการ อย่างเป็นระบบ
ฉะนั้น ในบริบทของสำนักงาน เราดูแลสนับสนุนเรื่องของงานธุระการและเลขาฯให้กับสภาเป็นหลัก ส่วนการตัดสินใจก็อยู่ในสภา เรามีหน้าที่เตรียมข้อมูลรองรับให้ทุกอย่าง
“จเร“ เล่าต่อว่า ข้าราชการในรั้วสภา รุ่นพี่รุ่นน้องก็พยายามสอนกัน วางแนวทางให้กันว่าเราเป็นกลาง ทำหนาที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่วอกแวก แต่หากเราเข้าข้างโน่นข้างนี้ แสดงความเห็น ก็จะอาจจะเกิดปัญหาได้
ฉะนั้น หากมีข้อถกเถียงกันที่จะต้องชี้ขาด ไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เป็นเรื่องสภา เรามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติว่า ที่ผ่านมาเราทำอย่างไร มีข้อมูลอะไรบ้าง
“การที่ผมขึ้นมาเป็นเลขาฯ ผมก็ต้องดูแลข้าราชการ ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทั่วถึง แต่ถ้าหากใครทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร ถ้าเตือนได้ก็เตือน แต่หากทำผิดวินัยก็ดำเนินการทางวินัย หากเกิดทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการทางคดี แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้เขาพิสูจน์ตัวเองในสิ่งที่เขาถูกกล่าวหา"
วิธีการบริหารของผม ผมจะบริหารงานตามระบบ หากเราจัดโครงสร้างระบบงานให้ชัด จัดคนให้ตรงกับระบบงาน ปัญหาก็จะไม่ค่อยเกิด
“ผมค่อนข้างที่จะชัดเจนกับทุกสำนักว่า คุณทำอะไร คุณทำตามหน้าที่ ทำให้ดีที่สุด ให้คำนึงถึงการใช้จ่ายงบประมาณ มีหลักของความได้สัดส่วน ต้องไปพิจารณาดูว่ามีเหตุผลมั๊ย ดูว่าควรทำหรือเปล่า เกิดประโยชน์ จำเป็นหรือเปล่า”
ถ้าจำเป็นที่จะต้องทำ ก็ทำไป หากมีวิธีการเลือกหลายอย่าง คุณก็คงต้องเลือกวิธีการที่ดีที่สุด ที่มีเหตุผลที่สุด เป็นประโยชน์มากที่สุด ประหยัดงบประมาณมากที่สุด และเมื่อใช้ไปแล้วกระทบกระเทือนใครมั๊ย ใครได้ ใครเสีย หากส่วนรวมได้ ทำไปเถอะ แต่หากส่วนร่วมเสีย ส่วนตัวได้ ก็อย่าทำเลย
“ผมคิดว่าคนเราอย่างเก่งก็แค่กินอิ่มเท่านั้นแหละ จะอะไรหนักหนา แต่ว่าจริงๆแล้วอยู่ที่การฝึกคน เมื่อก่อนเราเป็นคนธรรมดาก็อยู่กันได้ แต่พอเวลาเริ่มมีรถ เริ่มหรูหรา ชักจะอยู่ไม่ค่อยได้”
เขาทิ้งท้ายว่า นิสัยคนไทยชอบทำอะไรตามสบายจนเคยตัว ทำให้เราขาดกฎ กติกา ขาดวินัย คนที่เอาเปรียบจะได้ไปก่อน เวลาเข้าคิวซื้อของใครแซงหน้าแล้วได้ของก่อน คนอื่นก็จะเฉยๆ หรือน้ำใจของคน คนที่มีน้ำใจก็จะถูกเอาเปรียบ คนก็จะเฉยๆ เหมือนกับว่ามันชิน จริงๆสิ่งเหล่านี้ต้องพัฒนาที่การศึกษา
ที่ผ่านมา เราสอนเด็ก การถูกเอาเปรียบกับการมีน้ำใจคนละเรื่องกัน คนที่มีน้ำใจกับคนที่เอาเปรียบ โดยไม่ใช้กำลัง พวกนี้ต้องสอน เหมือนกับเราเห็นเด็กสมัยหนึ่งที่พอเวลาพ่อแม่สูบบุหรี่ หรือทิ้งขยะ เด็กจะบอก ถ้าไม่สอน ไม่ปลูกฝังกัน สังคมไทยก็จะลำบาก