สปช.โหวต 175 ต่อ 39 เสียง คว่ำมติวิปฯ ใช้ "คนนอก" ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ
175 ต่อ 39 เสียง สปช. คว่ำมติ สปช.ชั่วคราวโควตา 5 คนนอก ใช้ 20 คนร่วมร่างรธน.ตามเดิม “เสรี-ไพบูลย์” ออกโรงค้านชี้จะเกิดปัญหา-ผลักดันปฏิรูปยาก “บวรศักดิ์”โต้ลดข้อครหาร่างโดยผู้ชนะ ดัน 3 พรรคการเมืองใหญ่ร่วม “คำนูณ”เชื่อคู่ขัดแย้งไม่เอาด้วย เหตุต้านรัฐประหาร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ประชุมกันเป็นครั้งที่ 2 โดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาเรื่องคณะกรรมาธิการกิจการ สปช. ชั่วคราว (วิป สปช.ชั่วคราว) เสนอที่ประชุมกรณีการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ
โดยภายหลังการประชุมกว่า 4 ชั่วโมง ที่ประชุม สปช. มีมติไม่เห็นด้วย 175 เสียงต่อ 39 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง กับมติวิป สปช.ชั่วคราว กรณีใช้ สปช. 15 คน และคนนอก 5 คน ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ จากจำนวนผู้ประชุม 219 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ปฎิบัติหน้าที่ประธาน สปช. ชั่วคราว ได้เสนอให้งดใช้ข้อบังคับการประชุมข้อ 22 ในการเลือกประธานชั่วคราวในการประชุมครั้งนี้ และครั้งถัดไป จนกว่าจะมีการโปรดเกล้าแต่งตั้งประธาน และรองประธาน โดยที่ประชุม สปช. ได้เลือกให้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช. ปฏิบัติหน้าที่ประธาน สปช. ชั่วคราว
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิป สปช. ชั่วคราว กล่าวถึงมติของวิป สปช. ชั่วคราวในการคัดเลือก กมธ.ยกร่างฯ ว่า ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาคุณสมบัติ กมธ.ยกร่างฯ ที่ประชุมวิป สปช. ชั่วคราว มีข้อสรุปดังนี้ 1.คุณสมบัติผู้สมัครต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 2.ผู้ได้รับการเสนอชื่อ/คัดเลือกต้องมีความสมัครใจ 3.กำหนดได้มาซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ 20 คน โดยมีสัดส่วน สปช. 15 คน และบุคคลภายนอก 5 คน โดยให้วิป สปช. ชั่วคราว เป็นผู้สรรหาบุคคลภายนอก
@”เสรี”ออกโรงค้านชี้จะเกิดปัญหาในการพิจารณา-ลั่นหากรธน.ไม่มีส่วนปฏิรูปจะลงมติไม่เห็นชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุมมี สปช. หลายคนอภิปรายคัดค้านมติการพิจารณาของวิป สปช.ชั่วคราว โดยมีความเห็นบางส่วนที่น่าสนใจ เช่น นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. กล่าวว่า กระบวนการนี้เป็นกระบวนการสำคัญ ดังนั้นเสียงของ สปช . ทั้ง 20 คือเสียงที่จะเป็นข้อมูลในการจัดทำการยกร่างฯ ถ้าหากว่า 20 คนนี้ถูกจำกัดเหลือเพียง 15 คน และบุคคลภายนอก 5 คน เมื่อรวมกับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรีอีก 15 คน ก็จะกลายเป็น 20 เท่ากับว่า สปช. จะเหลือเพียง 15 คน เท่านั้น สิ่งที่สะท้อนก็คือหากเหลือ สปช. เพียง 15 คนจะพิจารณาไปทำไม เพราะเสียงอยู่นอก สปช. หมดแล้ว และอาจจะเกิดปัญหาในช่วงที่หากนำร่างรัฐธรรมนูญกลับมาสู่การพิจารณาของ สปช. เพราะคนที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เชื่อมโยงกับ สปช. แล้วจะลงมติกันอย่างไร หากมีประเด็นสำคัญไม่ตรงกัน มันก็ไม่ใช่ และถ้าร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วประเด็นสำคัญไม่อาจเกิดการปฏิรูปจริง เห็นต่างกัน สปช. ก็จะลงมติไม่เห็นชอบ
“ถ้าร่างฯนี้กลับมาที่ สปช. เรียนเลยว่า ถ้ามันดูแล้วไม่เข้าท่า ไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศ แต่ไปรองรับแนวคิดทางการเมืองของคนบางกลุ่มที่หาผลประโยชน์อยู่ ผมไม่รับ ถึงแม้ว่าจะตายตกไปตามกันทั้ง สปช. ทั้ง กมธ.ยกร่างฯ ก็ต้องยอม แต่ผมก็ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ท่านต้องให้ความสำคัญกับเสียง สปช.” นายเสรี กล่าว
@”ไพบูลย์”ยัน สปช. กลายเป็นเสียงส่วนน้อย-ผลักดันการปฏิรูปยาก
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับวิป สปช. ในสัดส่วนของ สปช. ที่เสนอชื่อเป็น กมธ.ยกร่างฯ เหลือเพียง 15 คน ด้วยเหตุใหญ่หลายประการ เช่น เรื่องภาระหน้าที่ของ สปช. ที่ได้อาสาเข้ามาทำหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจปฏิรูปให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และการปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่ต้องมี สปช. เข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างฯ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญคือ 20 คน ซึ่งเป็นเสียงข้างมาก หากตัดเหลือเพียง 15 คน จะทำให้เราเป็นเสียงข้างน้อย และการผลักดันภารกิจในการปฏิรูปประเทศอาจยุ่งยากขึ้นมา นอกจากนี้ สปช. ทั้ง 250 คน ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความหลากหลายอย่างครบถ้วนอยู่แล้ว เนื่องจากผ่านกระบวนการกลั่นกรองจากสังคมทั้งหมด ขณะที่หากสรรหาบุคคลภายนอก ก็มีข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญที่ต้องไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดไม่น้อยกว่า 3 ปี หากนำพรรคการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งกันเข้ามา ก็ล้วนแต่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ก็จะถูกรัฐธรรมนูญจำกัดไว้
“การที่วิป สปช.ชั่วคราว มีมติอย่างนั้น จะสร้างปัญหาให้กับวิป สปช.ชั่วคราวอย่างหนัก อาจเกิดข้อครหาเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกหรือไม่จะเกิดขึ้น เพื่อความเป็นห่วงจึงไม่เห็นด้วยในส่วนนี้” นายไพบูลย์ กล่าว
@”บวรศักดิ์”โต้เพื่อลดข้อครหาร่างรธน.โดยผู้ชนะ-ดัน 3 พรรคการเมืองใหญ่ร่วม
หลังจากนั้นที่ประชุม สปช. ได้พักรับประทานอาหาร ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ในฐานะประธานวิป สปช.ชั่วคราว กล่าวชี้แจงถึงหลักการของวิป สปช.ชั่วคราว ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้นับแต่ปี 2548-2549 มาจนถึงวันเกือบ 10 ปีแล้ว มีคู่กรณีมากมาย และรัฐธรรมนูญถูกกล่าวหาว่าเป็นกติกาของผู้มีชัยชนะ เขียนเพื่อเล่นงานผู้แพ้ จริงหรือไม่ ไม่ขอออกความเห็น แต่ความขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดหรือไม่อยู่ที่การยกร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูป ทั้งนี้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อต้องการยุติปัญหาบ้านเมืองที่เรื้อรังมานาน 10 ปี มีคู่ขัดแย้งที่เห็นกันอยู่ไม่ยาก วิป สปช.ชั่วคราว เห็นว่า ไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเอกสารที่ถูกตราว่าเป็นกติกาของผู้ชนะ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงต้องเปิดให้คู่ขัดแย้งมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วย
นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า การเปิดโอกาสให้เข้ามาเป็นผู้ยกร่าง ต้องไม่เป็นเสียงข้างมาก ทั้งนี้หาก 3 พรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เข้ามามีส่วนร่วมจะทำอะไรไม่ได้ ในเวลาเดียวกันกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลในอดีต เช่น กปปส. หรือ นปช. ด้วย ถ้าเราทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนร่วมในระดับเหมาะสม ให้เขามีส่วนร่วมได้จะช่วยระงับความขัดแย้ง ทั้งนี้หากเราแสดงน้ำใจไมตรีแล้วแต่เขาไม่รับ
"ต่อมาหากรัฐธรรมนูญบังคับใช้ แล้วเขาวิจารณ์ว่า รัฐธรรมนูญนี้เขียนโดยผู้ชนะ ประชาชนจะเห็นข้อเท็จจริงเองว่าอะไรเป็นอะไร ฉะนั้นวิป สปช.ชั่วคราว จึงมีมติ 11 ต่อ 8 เห็นว่า การที่ สปช. เปิดใจกว้างนำคู่ขัดแย้งเข้ามาสู่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ไม่ให้พวกเขามาครอบงำกระบวนการ จะเป็นประโยชน์กับการปรองดอง" นายบวรศักดิ์ กล่าว
@”คำนูณ”เชื่อคู่ขัดแย้งบางฝ่ายไม่ร่วมเหตุต้านรัฐประหาร
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช. กล่าวว่า หากมีการเชิญคู่ขัดแย้งให้มาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ แต่คู่ขัดแย้งไม่มา แล้วการสรรหาตัวแทน 5 คนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะต่อให้ระบุว่าต้องการคู่ขัดแย้ง แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่พวกเขาจะมาร่วมด้วย เนื่องจากคู่ขัดแย้งส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งไม่น่าจะมีใครเข้ามาตามแผนนี้ เขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และเห็นว่าหากมาร่วมแม่น้ำสายใดสายหนึ่งที่เกิดจากยอดเขาของการรัฐประหาร เท่ากับยอมรับรัฐประหาร ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจาการให้สัมภาษณ์ของบุคคลหลายคน
หลังจากนั้นเมื่อเวลา 14.35 น. ที่ประชุม สปช. มีมติเห็นด้วย 198 เสียง ต่อ 20 เสียง งดออกเสียง 1 จากจำนวนผู้เข้าประชุม 219 คน กับการปิดการอภิปราย