อำนาจการเมือง : บททดสอบ"สถาบันตุลาการ"
"..จุดอ่อนของ ก.ต.คือ ก่อนหน้านี้ เมื่อปีที่ผ่านมาได้อนุมัติให้นายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา ไปเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้พิพากษา ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ก.ต.ไม่เคยอนุมัติให้ผู้พืพากษารายใดไปเป็นกรรมการในองค์กรของฝ่ายบริหารเลย.."
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 สถาบันตุลาการถูกดึงเข้าไปพัวพันทางการเมืองโดยตรงมากขึ้น
ตั้งแต่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรนูญ ฉบับปี 2550 การเป็นแกนหลักในกรรมการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ยิ่งในรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)ปี 2557 มาตรา 41 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ข้าราชการประจำรวมถึงข้าราชการตุลาการ สามารถเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ยิ่งทำให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการถูกดึง(วิ่งเต้น?)ไปเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากยิ่งขึ้น
รายแรก คือ นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ผู้พิพากษาอาวุโส ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)ซึ่งเป็นองค์กรบริหารบุคคลของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
ทั้งๆที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 59 (6) ระบุชัดว่า ข้าราชการตุลาการต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
แต่เรื่องไม่หยุดอยู่แค่นั้นเพราะเมื่อวันที่ 23 กันยายน คณะรัฐมนตรี มีมติแต่งตั้งนายอดุลย์ ขันทอง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม(พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา)ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง ทั้งๆที่ ยังไม่ได้รับการอนุมุติจาก ก.ต.
ขณะเดียวกัน นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช.ได้ขอตัวนายธานี สิงหนาถ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และนายสุริยันต์ หงษ์วิไล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไปเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการประจำตัว สนช.ด้วย
เมื่อมีปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น จึงต้องนำเรื่องการขอตัวนายอดุลย์ ขันทอง นายธานี สิงหนาถ และนายสุริยันต์ หงษ์วิไล เข้าพิจารณาขออนุมัติใน ก.ต.ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 59(3)ที่ระบุว่า ข้าราชการตุลาการต้องไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในหน่วยงานของรัฐที่มีลักษณะขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตุลาการตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด
แต่ปรากฏว่า ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวของ ก.ต.ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ต้องเลื่อนการพิจารณามาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง
โดยฝ่ายแรกเห็นว่า ก.ต.ไม่ควรอนุมัติเพราะจะทำให้เสียบรรทัดฐานที่ ก.ต.ไม่เคยอนุมติให้ข้าราชการตุลาการไม่ดำรงตำแหน่งใดๆในฝ่ายบริหารและในทางการเมืองเพราะอาจกระทบกระเทือนต่อการพิจารณาคดีและทำให้ถูกแทรกแซงทางการเมืองได้ แม้รัฐธรรมนูญจะเปิดช่องไว้ก็ตาม
ขณะที่ฝ่ายหลังอ้างเหตุการณ์บ้านเมืองไม่ปกติและรัฐธรรมนูญเปิดช่องยกเว้น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า จุดอ่อนของ ก.ต.คือ ก่อนหน้านี้ เมื่อปีที่ผ่านมาได้อนุมัติให้นายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา ไปเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้พิพากษา ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ก.ต.ไม่เคยอนุมัติให้ผู้พืพากษารายใดไปเป็นกรรมการในองค์กรของฝ่ายบริหารเลย
เช่นเดียวกัน ถ้าในคราวนี้ ก.ต.ยอมอนุมัติให้บุคคลทั้งสามไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการประจำตัว สนช.แล้ว ย่อมต้องมีการขอตัวข้าราชการตุลาการรายอื่นไปดำรงตำแหน่งต่างๆอย่างไม่ขาดสาย ซึ่ง ก.ต.เองก็ไม่มีข้ออ้างใดๆที่จะปฏิเสธคำขอเหล่านั้นได้อีกต่อไป
มิเช่นนั้นแล้ว เท่ากับ ก.ต.เลือกปฏิบัติหรือมีการกระทำสองมาตรฐาน
ดังนั้น เพื่อยุติการดึงสถาบันตุลการเข้าไปพัวพันการเมืองจนถอนตัวไม่ขึ้น นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธาน ก.ต. ต้องมีจุดยืนหนักแน่น ที่จะทำให้สถาบันตุลาการมีความเป็นอิสระให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อไป