“ไพบูลย์”จ่อดันกม.ให้องค์กรอิสระเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน"ป.ป.ช.-สตง.-ป.ป.ท." โดนด้วย
"ไพบูลย์ นิติตะวัน" ชี้ มติ ป.ป.ช. ให้ สปช. ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน ทำสังคมกังขาความโปร่งใส ซัดข้ออ้างระบุ “เป็นการทำหน้าที่ทางวิชาการ” ฟังไม่ขึ้น ทั้งที่ รธน.ชั่วคราวกำหนดชัด สปช.คือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เผยจ่อดันร่างกม.ให้องค์กรอิสระต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน "ป.ป.ช.-สตง.-ป.ป.ท. โดนด้วย
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2557 นายไพบูลย์ นิติตะวัน หนึ่งในสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ส.ป.ช. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว อิศรา www.isranews.org ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า สปช.ควรแสดงบัญชีทรัพย์สิน เนื่องจากเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง มีค่าตอบแทนเหมือนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งหมด นอกจากนั้น สปช.ยังมีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติ ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การมาทำงานในส่วนนี้จึงถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
"ถ้ายึดหลักในแนวนี้ การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินถือเป็นเรื่องที่ควรจะทำ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไม ป.ป.ช. จึงเห็นว่าไม่ต้องเปิดเผย ซึ่งทำให้ สปช. โดนตั้งคำถามโดยใช่เหตุ เพราะสมาชิก สปช.หลายคนเขาก็ไม่ได้จงใจจะปกปิดอยู่แล้ว และในความรู้สึกผมก็เห็นว่ามันควรจะต้องเปิดเผย เมื่อเป็นแบบนี้ก็ไม่ค่อยสบายใจ กลัวว่าประชาชนจะมอง สปช.ในด้านไม่ดี" นายไพบูลย์ระบุ
เมื่อถามว่า การที่ ป.ป.ช.มีมติ ให้ สปช.ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากน้อยแค่ไหน นายไพบูลย์กล่าวว่า กรณีนี้ ทำให้เปิดประเด็นสำคัญที่ทาง สปช.น่าจะกำหนดและผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องความโปร่งใสในการแสดงบัญชีทรัพย์สิน
“รัฐธรรมนูญไม่ควรเขียนไว้ว่าให้ อำนาจ ป.ป.ช. เป็นผู้กำหนด หรือเขียนไว้คลุมเครือ ซึ่ง สปช. ในฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการ ผลักดัน เรื่องนี้ไว้ ผมเห็นว่าถ้าไม่ผลักดันคงจะมีปัญหา ผมอยากให้เปิดบัญชีทรัพย์สิน โดยเปิดเผยทั้งหมดทั้งในส่วนของผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง รวมทั้ง ป.ป.ช. ด้วย สตง. คตง. ป.ป.ท. ทั้งหมด องค์กรอิสระทั้งหมดต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน รวมทั้งอัยการด้วย นี่คือสิ่งที่อยู่ในใจผม และผมทำแน่” นายไพบูลย์ระบุ
เมื่อถามว่ากรณีที่กรรมการ ป.ป.ช. ให้เหตุผลแก่สื่อมวลชนว่าเนื่องจาก สปช.เป็นการทำหน้าที่ทางวิชาการ ไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย เป็นเหตุผลที่รับฟังได้หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า "ฟังไม่ค่อยขึ้น คำว่าการทำหน้าที่ทางวิชาการนั้น ถ้าจะใช้ คำนี้ สนช. เขาก็ใช้วิชาการของเขาเหมือนกัน ดังนั้น ไม่ว่ายังไง สปช.ควรต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน"
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่าตั้งข้อสังเกตต่อการมีมติดังกล่าวของ ป.ป.ช.ทั้งที่เมื่อเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พบว่ามาตรา 33 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว บัญญัติคุณสมบัติของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ในวรรคที่หนึ่งว่าต้องไม่เป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง 'เว้นแต่' เป็นผู้ดํารงตําแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งถ้อยความดังกล่าวตีความได้ค่อนข้างชัดเจนว่าสถานะของ สปช.คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
“ถ้าตีความก็คือ สปช. คือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่แล้ว เขาจึงเขียนคำว่า ‘เว้นแต่’ เอาไว้ คุณเห็นไหม เขาเขียนว่า ‘เว้นแต่’ ซึ่งผู้ที่ ‘เว้นแต่’ นี่แหละ หมายความว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ให้มาเป็นกรรมาธิการฯได้ คือแม้แต่รัฐธรรมนูญยังเขียนไว้แบบนี้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อ สนช.ถูกเปิดบัญชีทรัพย์สิน แล้ว สปช. ล่ะ ทำไมไม่ถูกเปิดบัญชีทรัพย์สิน ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มองว่า สปช. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” นายไพบูลย์ระบุ
นายไพบุลย์ กล่าวด้วยว่า นอกจากมาตรา 33 แล้ว ในมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่บัญญัติว่าในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา เมื่อตีความแล้ว มาตราดังกล่าวชี้ว่า สปช.คือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกับมาตรา 33
ภาพประกอบจาก : www.thairath.co.th