ป.ป.ช.สอบรองผู้ว่าการฯ-พวก เอื้อ“บิ๊กเอกชน”ประมูลซื้อรางรถไฟ
ป.ป.ช. ตั้งอนุฯไต่สวนสอบข้อเท็จจริง “รองผู้ว่าฯการรถไฟ-พวก” รวม 7 ราย ส่อเอื้อประโยชน์ “บ.อิตาเลียน-ไทยฯ” จัดซื้อรางรถไฟ ขัดระเบียบสำนักนายกฯว่าการพัสดุ ร่อนหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา 2 ราย ไร้ผู้รับ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดใหม่ ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีกล่าวหานายถวิล สามนคร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ขณะได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการประกวดราคา โครงการซื้อรางเหล็กขนาด 100 ปอนด์ เอ และรางเหล็กขนาด 80 ปอนด์ เอ จำนวน 2 รายการ ตามประกาศประกวดราคาจัดซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550 โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 และกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542
กรณีดังกล่าวมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 7 ราย คือ 1.นายถวิล 2.นายปรีชา ตันประดิษฐ์ วิศวกรผู้อำนวยการศูนย์ทางจราจรฝ่ายช่างโยธา กรรมการ 3.นายกำพล บุญชม วิศวกรกองบำรุงทางขอนแก่น กรรมการ 4.น.ส.ละออ เบ็ญจพรภาวนา หัวหน้างานฝ่ายการเงินและบัญชี กรรมการ 5.นายวีระ จงดีรัฐ อดีตพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย กรรมการบุคคลภายนอก 6.นายสมพงษ์ ขาวสนิท หัวหน้ากองจัดหาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และบริหารสัญญา (พนักงานพัสดุ 10) ฝ่ายการพัสดุ กรรมการและเลขานุการ และ 7.นายเกียรติศักดิ์ เกิดทวี พนักงานพัสดุ ฝ่ายการพัสดุ ผู้ช่วยเลขานุการ
พฤติการณ์ในการกระทำความผิด การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการออกประกาศประกวดราคาซื้อรางเหล็กขนาด 100 ปอนด์ เอ และรางเหล็กขนาด 80 ปอนด์ เอ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2550 มีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 3 ราย คือ
1.บริษัท ไทยพีคอนและอุตสาหกรรม จำกัด ยื่นในข้อเสนอและเอกสารหลักฐานครบถ้วนถูกต้อง โดยเสนอผลิตภัณฑ์ของ PANZHIHJA RON & STEEL CO.LTD จัดจำหน่ายโดย PANGANG GROUP INTERNATIONAL ECONOMIC & TRAONG CO.LTD
2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ยื่นในข้อเสนอฯ โดยเสนอผลิตภัณฑ์ 5 รายการ คือ ผลิตภัณฑ์ของ NIPPON STELL CORPORATION ประเทศญี่ปุ่น, LUCCHIN ประเทศอิตาลี, ANGANG NEW STEEL COMPANY ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน, CORUS RAIL ประเทศฝรั่งเศส
3.บริษัท มีทัล แฟนริเคเด็ด จำกัด ยื่นในข้อเสนอฯ โดยเสนอผลิตภัณฑ์ของ ARCELOR ESPANA S.A. ประเทศสเปน
ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ผู้มีสิทธิเสนอราคาทั้ง 3 ราย เข้าแข่งขันราคาในวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 ผลการเสนอราคา ปรากฏว่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด แต่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไข ข้อ 8.2 วรรคสอง คือ ผู้เสนอราคาต้องแจ้งแหล่งกำเนิดหรือประเทศผู้ผลิตให้ทราบโดยชัดเจน การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้มีหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลาง
กรมบัญชีกลางตอบข้อหารือว่า เป็นดุลยพินิจของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่จะเป็นผู้พิจารณา หากข้อความในข้อ 8.2 วรรคสอง เป็นข้อความหรือรายการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้กำหนดแตกต่างไปจากตัวอย่างที่ กวพ.อ. กำหนด และได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้ยื่นข้อเสนอ โดยถ่ายสำเนาใบยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 4 ชุด เพื่อเสนอผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิต 5 โรงงาน 4 ประเทศ โดยไม่มีหนังสือยืนยันจากประเทศผู้ผลิตนั้น ถือได้ว่าเป็นการเสนอราคาที่ผิดเงื่อนไขที่กำหนดและเข้าข่ายเป็นการเสนอราคาลักษณะทางเลือก
หลังจากนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แจ้งผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคาและยกเลิกการประกวดราคา โดยไม่พิจารณาผู้เสนอราคาลำดับถัดไป คือ บริษัท ไทยพีคอนและอุตสาหกรรมฯ ทำให้บริษัท ไทยพีคอนและอุตสาหกรรมฯ เสียหาย และเสียโอกาสในการเสนอราคา อันเข้าข่ายช่วยเหลือผู้เสนอราคารายบริษัท อิตาเลียนไทยฯ และกีดกันไม่ให้บริษัท ไทยพีคอนและอุตสาหกรรมฯ มีโอกาสทำสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงแม้ว่าบริษัท ไทยพีคอนและอุตสาหกรรมฯ จะพยายามอุทธรณ์ขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว ตามระเบียบ แต่ก็ไม่ได้รับพิจารณาแต่ประการใด และเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 คณะอนุกรรมการไต่สวนฯได้มีหนังสือถึงนายถวิล และนายปรีชา ผู้ถูกกล่าวหา แจ้งให้ทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ โดยส่งไปตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎร แต่ไปรษณีย์ส่งคืนผู้ฝาก ปรากฏเหตุขัดข้องนำจ่ายผู้รับไม่ได้
หมายเหตุ : ภาพประกอบ รถไฟ จาก oknation