นักรัฐศาสตร์ชี้กระจายอำนาจลักลั่น เหตุรัฐบาลกลางหวงอำนาจ-ไม่จริงใจ
ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ จับมือสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล เปิดเวทีเสาร์ถกแถลง สะท้อนความรู้สึกมุมมองต่อกระจายอำนาจ พร้อมนำเสนอข้อดี ข้อเสีย 3 โมเดลการปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัด
วันที่ 25 ตุลาคม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีเสาร์ถกแถลง เรื่อง “ปกครองจังหวัดอย่างไร ท้องถิ่นได้ประโยชน์” ณ อาคารวิทยพัฒนา จุฬาฯ โดยมีการสะท้อนความรู้สึก และความต้องการเกี่ยวกับระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น
จากนั้น มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมนำเสนอข้อดี ข้อเสียรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัด 3 รูปแบบ คือ 1.องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัจจุบัน 2.เชียงใหม่มหานคร และ 3.องค์การบริหารส่วนจังหวัดรูปแบบพิเศษ สำหรับจังหวัดที่มีความพร้อม ซึ่งอาจใช้ชื่อว่า จังหวัด...(ระบุชื่อจังหวัด) ส่วนท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตยแบบถกแถลง พัฒนากระบวนการเวทีโดย ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวถึงการกระจายอำนาจว่า เป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย ที่ผ่านมามีความพยายามต่อสู้ให้มีการกระจายอำนาจ แต่ประเทศไทยรัฐบาลกลางหวงอำนาจ ไม่กระจาย กระทั่งมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้มีการกระจายอำนาจ “ค่อนข้าง” เต็มรูปแบบ
“แม้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติ ทั้ง 10 มาตรา 281-290 เช่น ให้มีอิสระในการบริหารงานบุคคล แต่ก็มีประกาศกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ไปคลุมเอาไว้ เช่น เงินนี้ใช้ได้ ใช้ไม่ได้ จึงเปิดปัญหา รวมทั้งต่างคนต่างโทษกัน รัฐบาลกลางบอกท้องถิ่นใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ต่างคนต่างบอกว่าฉันถูก”
นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวถึงระบบการปกครองท้องถิ่นบางเรื่องไม่เข้าท่า เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ได้ใส่ไว้ว่า เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ดังนั้นกทม.ก็ไม่กล้าเก็บภาษีบุหรี่ 10 สตางค์ต่อมวน ปิโตรเลียม 10 สตางค์ต่อลิตร เงินตรงนี้หายไปเฉยๆ ขณะที่รัฐบาลกลางต้องให้งบอุดหนุนปีละไม่ต่ำกว่า 14,000 ล้านบาท บางปีก็ 20,000 ล้านบาทขึ้นอยู่กับการเมือง
“ยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเล็กๆ เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 50% มีเงินไม่ถึง 10 ล้านบาท แค่เงินเดือนข้าราชการก็หมดแล้ว นี่คือสาเหตุที่ทำให้ไม่มีงบพัฒนา จึงเป็นที่มาเสนอให้รวม ไม่ได้เสนอยุบ”รศ.อัษฎางค์ กล่าว และว่า สำหรับข้อเสนอให้มีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด มองว่าเป็นไปได้ยาก หากต้องทุบโต๊ะ ก็ทำไม่ได้
รศ.อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า เรื่องบประมาณท้องถิ่นได้ต่อสู้ หากเรื่องใดเป็นนโยบายรัฐบาล หรือนโยบายหาเสียงลงมาขอให้นำเงินมาด้วย อย่าเอาเงินมาใส่ในงบประมาณอุดหนุนท้องถิ่น 27% เช่น รัฐบาลหนึ่งประกาศให้เงินเดือนอสม. ซึ่งงบหาเสียง ไม่สมควรให้ท้องถิ่นควักจ่าย “คล้ายกับกรณีสนามฟุตซอล เรียกว่างบส.ส.แฝงอยู่ทุกปี ในงบท้องถิ่น ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น”
รศ.อัษฎางค์ กล่าวด้วยว่า การถ่ายโอนภารกิจ 245 ภารกิจให้ท้องถิ่น จำเป็นจะต้องแก้ไขกฎหมายไม่ต่ำกว่า 69 ฉบับ ถึงปี 2557 ยังไม่แก้ไขสักฉบับ ฉะนั้นการกระจายอำนาจของไทย จึงลักลั่นตลอด สาเหตุเพราะรัฐบาลหวงอำนาจ และไม่มีความจริงใจ
ด้านนายสวิง ตันอุด เครือข่ายประชาสังคมเพื่อการจัดการตนเองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงจังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง รวมถึงต้องเผชิญกับโครงการพัฒนามาโดยตลอด เช่น ไนซ์ซาฟารี พืชสวนโลก ทางยกระดับ เป็นต้น ทั้งหมดคนท้องถิ่นไม่ได้เป็นคนคิด แต่กลับกลายเป็นคนกรุงเทพฯ คิดทั้งนั้น ดังนั้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดการขอปกครองตนเอง กระทั่งได้ยกร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เสนอไปที่สภาฯ ก่อนมีการยุบสภาฯ ในเวลาต่อมา
“หลักสำคัญประเทศไทยต้องใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง หลายเรื่องจึงทำแบบปะผุไม่ได้ รถคันนี้เก่ามากแล้ว โครงสร้างไปไม่ได้แล้ว ต้องรื้อ และยกเครื่องใหม่” นายสวิง กล่าว และว่า การรวมศูนย์อำนาจ แม้กระทั่งกฎหมายเป็นพันๆ ฉบับ นับตั้งแต่ปี 2475 ก็เขียนให้อำนาจส่วนกลาง พร้อมกับยกตัวอย่าง การสำรวจเฉพาะหน่วยงานส่วนกลางที่เข้าไปอยู่ในจ.เชียงใหม่ 250 หน่วยงาน แค่แม่น้ำสายเดียวมีกว่า 10 กรม ดูแล “ทำไมเราต้องบริหารขนาดนั้น หรือท้องถิ่นจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ต้องขออนุญาต 7 กรม ผ่านไป 2 ปี เพิ่งได้รับอนุญาต 2 กรม นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้น”
เครือข่ายประชาสังคมเพื่อการจัดการตนเองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่เวลามีโครงการใหญ่ๆ ลงไปในพื้นที่ ชาวบ้านคัดค้าน บอกไม่เอาอย่างเดียว เพราะ 2 ผล คือ “ผลกระทบ” ไปให้ชาวบ้าน แต่ “ผลประโยชน์” กลับย้อนมาที่ส่วนกลางหมด เช่น กรณีโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ดังนั้นหลักคิดแบบนี้จึงไปไม่ได้ ในยุคสมัยนี้ การรวมศูนย์อำนาจกลายเป็นศูนย์กลางแห่งความขัดแย้ง เป็นหลุมดำ ทำให้ประเทศไทยมี 2 เรื่องเกิดขึ้น ไม่เผด็จการรัฐสภาโดยนายทุน ก็ทหาร ผลัดกันไปมา หากไม่รื้อสร้างใหม่