ทีดีอาร์ไอชี้ “รายได้ขั้นต่ำ” ไม่มีกฎหมายรองรับเหมือน “ค่าจ้างขั้นต่ำ”
ปลัดแรงงาน รับลูก รมว.ชงบอร์ดค่าจ้างกลาง ก.ย.ปรับ 300 บาทนำร่อง 7 จว.มีผลแรงงาน 3 ล้านคน 1 ม.ค.55 “ดร.ชุมพล” ระบุจังหวัดอื่นปรับแบบขั้นบันไดช่วยปลดล็อคให้เอกชนเตรียมตัว ส่วนเงินเดือน ป.ตรี 1.5 หมื่น รบ.บังคับเอกชนไม่ได้ หากทำเจ๊งระนาว
วันที่ 31 ส.ค.54 ที่กระทรวงแรงงาน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ระบุว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท นำร่องใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี และภูเก็ต ว่าเรื่องดังกล่าวมีความเป็นไปได้ เนื่องจากตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 7 จังหวัดมีอัตราที่ใกล้เคียง 300 บาทอยู่แล้ว และเชื่อว่าผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก อย่างไรก็จะนำไปหารือกับคณะกรรมการ(บอร์ด) ค่าจ้างกลางในช่วงกลาง ก.ย.นี้
ปลัด รง. ยังกล่าวว่าส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดอื่นๆ อาจปรับในลักษณะขั้นบันไดคือเพิ่มในอัตราร้อยละ 40 ก่อน ค่อยมีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท ในภายหลัง
"คาดว่าทุกอย่างจะชัดเจนภายใน ต.ค. เพื่อให้มีผลใน 1 ม.ค.55 และให้ผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้คาดว่าจะมีแรงงานมากกว่า 3 ล้านคนได้ปรับขึ้นค่าจ้างใน 7 จังหวัด สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบนั้นรัฐบาลมีมาตรการเยียวยา โดยปลายสัปดาห์นี้ รมว.แรงงาน เตรียมหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เพื่อสรุปความชัดเจน ส่วนต้นสัปดาห์หน้าจะเชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมาหารือถึงการพัฒนาความสามารถในการทำงานของแรงงาน”
ปลัด รง. กล่าวต่อไปว่า กำลังเร่งดำเนินการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ปรับปรุงหลักสูตรการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับแรงงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและให้ทำงานในเชิงรุกเพิ่มขึ้น
ด้าน ดร.ชุมพล พรประภา ที่ปรึกษากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าการที่รัฐบาลแถลงนโยบายการเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาทไม่ใช่เรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททันทีนั้นเป็นการปลดล็อคให้แก่ภาคเอกชนได้มีเวลาเตรียมตัว ส่วนเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นซึ่งรัฐบาลจะเริ่มนำร่องในส่วนของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจก่อนโดยใช้งบกว่า 2 หมื่นล้านนั้น รัฐบาลไม่มีอำนาจมาบังคับให้เอกชนดำเนินการตามนโยบาย หากทำจะทำให้เอกชนขาดทุน
“หากปรับค่าจ้างขั้นต่ำทันเป็นวันละ 300 บาท จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างมาก คิดว่านายจ้างไม่ขัดข้องกับการเพิ่มรายได้เป็นวันละ 300 บาทต่อวัน หากให้เวลาเตรียมตัว 2-3 ปี ทราบว่ารัฐบาลเตรียมนำร่องเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท 7 จังหวัด และจะหารือภาคธุรกิจและสมาคมวิชาชีพต่างๆเพื่อวางมาตรการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยรัฐบาลจะจัดงบให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 พันล้านบาท เชื่อว่ารัฐบาลคงจะจัดสรรงบนี้ทุกปี รวมทั้งการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการภาษี ทั้งนี้ หากลูกจ้างฝีมือดีขึ้นสามารถผลิตชิ้นงานได้มากขึ้น นายจ้างยินดีปรับขึ้นค่าจ้างให้สูงขึ้น แต่อยู่ในอัตราที่ไม่สูงไปกว่ารายได้จากผลผลิตที่ลูกจ้างผลิตได้” ดร.ชุมพล กล่าว
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่านโยบายเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาทไม่ใช่เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 รองรับ แต่การเพิ่มรายได้ไม่ได้มีกฎหมายรองรับ เป็นเหมือนการประกันรายได้ให้แก่แรงงานว่าหากมีทักษะฝีมือดีขึ้นและเพิ่มผลผลิตให้แก่นายจ้างมากขึ้นก็จะมีรายได้เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท โดยรัฐบาลจะมีมาตรการชดเชยส่วนต่างการเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน เช่น มาตรการด้านภาษี
“ขณะนี้ปลัดกระทรวงแรงงานได้เชิญหน่วยงานรัฐและเอกชน นักวิชาการ มาหารือเพื่อวางมาตรการสนับสนุนให้สถานประกอบการมีศักยภาพเพียงพอที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงานเป็นวันละ 300 บาทคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 สัปดาห์นี้” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว .
ที่มาภาพ : http://www.bsnnews.com/news/index.php?NewsID=3411