รศ.วิทยากร เชียงกูล แนะ 5 หนังสือ ที่นายกฯประยุทธ์และคสช. ควรอ่าน!
"...ผมคิดว่าปัญหาของคนไทยอย่างหนึ่งคือ ไม่ค่อยรับฟังแล้วก็เชื่อมั่นในตัวเองสูง และมักทำให้ผู้นำมีปัญหา แม้แต่ผู้นำที่ฉลาด ถ้าไม่รับฟังบ้าง ก็หลงทางได้"
“รองศาสตราจารย์ วิทยากร เชียงกูล” คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นนักคิด นักเขียน และนักอ่านชั้นครู มีผลงานเขียนและแปลหนังสือมากกว่า 130 เล่ม ตลอดช่วงระยะเวลา 45 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นหัวหน้าคณะโครงการ “หนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน”
ส่งท้ายสัปดาห์งานมหกรรมหนังสือระดับชาติปีนี้ "รศ.วิทยากร" เลือกหยิบหนังสือ 5 เล่มจากปลายปากกา มาแนะนำให้คนไทยอ่านในช่วงวันหยุดผ่านสำนักข่าวอิศรา พร้อมกับเหตุผลที่ชวนให้หนอนหนังสือได้อ่านอย่างน่าขบคิด
อาจารย์วิทยากร บอกว่า “นอกจากคนไทยแล้ว ผมคิดว่านายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. ครม. สนช. และสปช.” น่าจะได้อ่านด้วยครับ!
.........
1.ผู้นำ ผู้เปลี่ยนแปลง และให้แรงบันดาลใจแก่โลก” (สำนักพิมพ์สายธาร)
เล่มนี้ออกมาหลายปีแล้วครับ พิมพ์กับสำนักพิมพ์สายธาร ผมเรียบเรียงจากประวัติบุคคลสำคัญ โดยมองผู้นำในความหมายกว้าง 15 ผู้นำ เป็นผู้นำที่เป็นเสรีนิยมก้าวหน้า ผู้นำแบบฮิตเลอร์คงไม่เลือก(หัวเราะ) และไม่ใช่ผู้นำการเมืองอย่างเดียว แต่มีผู้นำทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา วิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ยังมีผู้นำด้านสิทธิสตรี ด้านสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องการศึกษาของเด็ก เพราะโลกเราต้องพัฒนาหลายทาง แต่ประเทศไทยมักจะเน้นผู้นำทางการเมืองอย่างเดียว
ผมคิดว่าการศึกษาเรื่องผู้นำจากต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เรารู้จักประวัติศาสตร์โลกว่าแต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลงหรือต่อสู้อย่างไร รวมทั้งการที่มีผู้นำขึ้นมาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ซึ่งในโลกสมัยใหม่มีผู้นำหลายด้าน อย่าง “บิลเกตส์” นอกจากเป็นนักคอมพิวเตอร์ เขายังเป็นนักพัฒนาสังคม บริจาคเงินจำนวนมากเพื่อพัฒนาสังคม คนแบบนี้น่าสนใจ มีความคิดกว้างขวาง คิดง่ายๆ แต่ได้ผล หรือการต่อสู้ของท่าน “มหาตมะ คานธี” ผมคิดว่าคนไทยน่าจะได้อ่าน รวมทั้งนายกฯ คสช. ครม. สมาชิกสนช. หรือ สปช. ก็ควรจะสนใจอ่าน อยากให้ผู้นำของเราต้องกว้างขวาง
2. ปฏิรูปประเทศไทย(1) เศรษฐกิจ-การเมือง (สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์)
ผมเขียนช่วงถกเถียงกันเรื่องปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยเมื่อปี 2551 ว่าประชาธิปไตยนอกจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิยุติธรรม ประชาชนมีความรู้แล้ว ยังมีเรื่องสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือ ไม่กระจายอำนาจ กระจายรายได้สู่ประชาชน ผมพยายามเขียนว่า หากเราต้องการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เราต้องมองให้กว้างและปฏิรูปหลายด้าน
ปฏิรูปประเทศไทย(2) การศึกษา-พัฒนาผู้นำ (สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์)
เป็นเล่ม 2 ชุดเดียวกันต่อจากปฏิรูปประเทศไทย(1) เขียนตั้งแต่ยุคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคัดค้านทักษิณ(ชินวัตร) ช่วงนั้นคนไม่ได้พูดเรื่องปฏิรูปมากนัก แต่ผมจับเรื่องปฏิรูปมานานแล้ว โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษา
เล่มนี้พยายามมองเรื่องการปฏิรูป เศรษฐกิจการเมืองและการศึกษา เพราะตั้งแต่ปี 2540 เราก็พูดเรื่องปฏิรูป แต่ก็ค่อยๆเงียบไป แต่ผมมองปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัจจุบันเราพูดเรื่องการปฏิรูปเหมือนกับการซ่อมแซม เหมือนกับการปฏิสังขรณ์ แต่จริงๆ แล้วต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้าง คือเปลี่ยนตัวระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมไทย ไม่ใช่แก้ไขซ่อมแซม นิดๆหน่อยๆ ต้องเข้าใจปัญหาแบบเชื่อมโยง
นอกจากนี้ยังเน้นบทความเรื่องพัฒนาผู้นำด้วย เพราะอย่างที่บอกผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ องค์กรสมัยใหม่จะต้องมีภาวะการนำที่ดีถึงจะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการพัฒนาผู้นำต้องพัฒนาตั้งแต่เด็กให้รู้จักคิดวิเคราะห์ เป็นผู้นำตัวเอง ผู้นำครอบครัว ผู้นำชุมชนได้ หากเราสร้างพลเมืองที่มีความรู้ มีจิตสำนึกแบบนี้ การคัดเลือกผู้นำก็จะมีคุณภาพมากขึ้น
อย่างประเทศสวีเดนหรือนอร์เวย์ ประชาชนเขาเข้มแข็ง ผู้นำหรือพรรคการเมืองไหนขึ้นมาก็จะต้องทำนโยบายที่ก้าวหน้า ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น นโยบายประกันสังคม รัฐสวัสดิการ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย เพราะประชาชนเข้มแข็ง
เราก็แทบไม่ได้ยินชื่อเลยว่า ผู้นำสวีเดนมีชื่อเสียงยังไง แต่เรารู้ว่าประเทศเขามีชื่อเสียง เป็นประเทศที่พัฒนา ฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องการปฏิรูปต้องเข้าใจปัญหา ต้องอ่านอย่างจริงจัง ผมพยายามเชื่อมโยงว่าการปฏิรูปนอกจากแก้ระยะสั้นแล้ว ต้องมองระยะกลาง ระยะยาวด้วย ทำอย่างไรที่จะสร้างเศรษฐกิจสังคมการเมืองที่เป็นธรรมและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ต้องไปด้วยกัน
ส่วนเรื่องการศึกษาสังคมไทยเราลงทุนเยอะแต่ได้ผลน้อย ประชาชนก็อยากให้ลูกเข้าโรงเรียน จบมาได้ปริญญา แต่ว่าไม่ค่อยสนใจกระบวนการว่าลูกไปเรียนแล้วเป็นอย่างไร ลูกมีความสุขมั๊ย มีจิตสำนึกเพื่อสังคมหรือเปล่า
3.ปัดกวาดประเทศไทย ก้าวย่างอีกยาวไกล (สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์)
เล่มนี้เป็นหนังสือในยุคกปปส. เนื้อหาอาจจะคล้ายเล่มปฏิรูปการเมือง แต่ใส่ความรู้ด้านการพัฒนาทางเลือกของประเทศต่างๆ เช่น เรื่องเศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศหรือการแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น สังคมไทยพยายามตามจับคนโกงแต่ว่าไม่ได้แก้ทั้งระบบ ผมจึงหยิบตัวอย่างของสิงคโปร์ ฮ่องกง ว่าทำไมเขาแก้ได้ และยังพูดเรื่องการศึกษา สื่อมวลชน การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ และวิธีการจัดระบบป่าและน้ำที่ให้ชุมชนเข้มแข็งเป็นคนจัดการ
4 ศาสตร์และศิลปะการเป็นผู้นำในโลกยุคใหม่ (สำนักพิมพ์สายธาร)
เป็นงานเขียนแปลมาจากหนังสือต่างประเทศให้นักศึกษาอ่าน แต่คิดว่าผู้นำไทยก็น่าจะอ่านด้วย เช่นทฤษฎีการนำแบบมีส่วนร่วม การนำแบบร่วมมือกับคนอื่น เพราะช่วงหลังองค์กรธุรกิจสนใจเรื่องภาวะการนำมาก ผู้นำในองค์กรธุรกิจถ้าไม่เก่งจริงก็ยาก แต่ในระบบราชการมันผูกขาด ไม่ต้องแข่งขัน ไม่มีใครตรวจสอบ จึงสู้องค์กรธุรกิจไม่ได้
ฉะนั้นการเติบโตเรื่องผู้นำ หนังสือภาษาอังกฤษมีเยอะมากที่เขียนเรื่องภาวะผู้นำด้านเศรษฐกิจ แต่เราก็สามารถนำมาใช้กับองค์กรทางสังคมและทางการเมืองได้เหมือนกัน
ผมคิดว่าคือผู้นำสมัยใหม่ไม่ใช่คิดว่าตัวเองเก่งทุกอย่าง แต่ต้องรู้ว่าจะใช้คนอย่างไรให้ถูกต้อง รู้วิธีจูงใจคน ดึงให้คนมาร่วมมือ ผมเขียนว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ คือ มีความรู้แต่ก็ต้องฝึกฝน ผมก็จะแนะนำว่าหลักใหญ่ๆเขามีอะไรบ้าง ยกตัวอย่างผู้นำไทย คือ พลเอกเปรม(ติณสูลานนท์) ท่านไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ ท่านก็ไม่พูด แต่ไปดึงนักเศรษฐศาสตร์มาช่วย รู้จักใช้คน
5. หลักคิด คำคมผู้นำ และภาวะการนำ (สำนักพิมพ์สายธาร)
เล่มนี้ ผมพยายามจัดหมวดหมู่คำคมที่ผู้นำ หรือผู้ที่ศึกษาเรื่องผู้นำว่าคุณสมบัติผู้นำที่ดีเป็นอย่างไรบ้าง เช่น มีความฉลาดทางปัญญา อารมณ์ มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม จริงใจ มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย
เพราะผมคิดว่ายุคสมัยเรื่องผู้นำเปลี่ยนไปเยอะมาก สมัยก่อนมีความคิดว่าฉันสั่งได้ แต่วันนี้สั่งๆ อย่างเดียวไม่ได้ แต่สั่งแล้วจะต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างหรือว่าช่วยเหลือให้เขาทำได้ ไม่ใช่สั่งอย่างเดียว บางทีสั่งแล้วไม่เข้าใจ หรือสั่งแล้วไม่มีเครื่องมือ ก็ยาก
หรือหากไม่เข้าใจปัญหา ผู้นำก็ต้องถามผู้รู้ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง หาที่ปรึกษาดีๆ ก็ถามได้ แล้วก็ต้องมีวิสัยทัศน์ ใจกว้าง รับฟังคน ผมคิดว่าปัญหาของคนไทยอย่างหนึ่งคือ ไม่ค่อยรับฟังแล้วก็เชื่อมั่นในตัวเองสูง และมักทำให้ผู้นำมีปัญหา แม้แต่ผู้นำที่ฉลาด ถ้าไม่รับฟังบ้าง ก็หลงทางได้
นี่คือหนังสือ 5 เล่ม ที่รศ.วิทยากรแนะนำให้คนไทยและผู้นำคนปัจจุบันได้อ่าน
ถามว่า อยากฝากอะไรถึง นายกฯประยุทธ์ บ้างไหม?
อาจารย์วิทยากร ตอบว่า “ผมคิดว่าต้องพยายามรับฟังปัญหามากขึ้น คุณประยุทธ์น่าจะเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ เวลาเขาพูด เขารู้เรื่องต่างๆ เยอะมาก แต่เขาต้องจัดลำดับความสำคัญ แล้วต้องเชื่อมโยงว่าสาเหตุหลักในการแก้ปัญหาคืออะไร เพราะถ้าคุณรู้ปัญหาเป็น1,000 เรื่อง แล้วแก้ไปเรื่อยๆ บางทีมันแก้ยาก(ครับ)”