เครือข่ายปกป้องกระบี่เรียกร้องระงับโรงไฟฟ้าถ่านหิน- กฟผ.ยันสร้างต่อ
เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินเรียกร้องระงับโรงไฟฟ้า ขอรับฟังความคิดเห็น-ศึกษาข้อมูลให้ครอบคลุมกว่าเดิม ขณะที่ กฟผ.ยืนยันสร้างต่อ เพื่อการเติบโตของภาคธุรกิจ และป้องกันกระแสไฟฟ้าดับในภาตใต้
วันที่ 24 ตุลาคม 2557 สำนักงานนโยบายและแผนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เป็นองค์กรกลางจัดเวทีหารือเรื่อง โรงฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและหาข้อสรุปร่วมกัน โดยมีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม อาทิ ผู้แทนจากองค์กรจากภาคเอกชนจังหวัดกระบี่ 10 องค์กร ,ผู้แทนจากเครือข่ายปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ,ผู้แทนจากองค์กรเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน และผู้แทนจากนักวิชาการอิสระด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ณ สำนักงานนโยบายและแผนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กรุงเทพฯ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่า การประชุมหารือเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 13.30 น. ห้องประชุมชั้น 4 สผ. ใช้เวลานานหลายชั่วโมง กระทั่งเวลา 19.00 น. ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งประเด็นหลักๆประกอบด้วย ข้อเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดกระบี่ที่เสนอให้ การไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับการดำเนินการเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาตรการการเยียวยาจากภาครัฐ และ กฟผ. เป็นต้น
นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวภายหลังการประชุมถึงประเด็นที่ได้เรียกร้องเพิ่มเติมแก่รัฐบาลและกฟผ.ว่า จากข้อมูลของ กฟผ.พบว่า ข้อมูลที่นำเสนอต่อชาวบ้านยังไม่ครบถ้วน ทั้งทางด้านมาตรการการเยียวยากับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น อาชีพประมง หรือ แม้การท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกระบี่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันปัญหาเส้นทางการขนส่งถ่านหิน ซึ่งเป็นพื้นที่ของหญ้าทะเล ปลาทะเลที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจอาศัยอยู่อาจจะได้รับผลกระทบกับการขนส่งดังกล่าว
นายธีรพจน์ กล่าวว่า กฟผ.ควรจะพิจารณาในเรื่องของผลกระทบของสุขภาพของคนในพื้นที่ด้วย เพราะในรายงานการวิจัยไม่มีระบุไว้ว่า มาตรการการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นอย่างไร อีกทั้งข้อมูลของกฟผ.ที่ระบุว่า การสร้างโรงฟ้าถ่านหินดังกล่าวเนื่องจากไฟฟ้าภาคใต้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนนั้น ทางเครือข่ายในพื้นที่มีรายงานการวิจัยระบุไว้ชัดเจนว่าภาคใต้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอแน่นอน การที่ระบุ กฟผ.ระบุเช่นนั้นเหตุเพราะในอนาคตการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีแผนจะสร้างในอนาคตนั้นเอง
"เชื่อว่าไม่ว่าวันนี้จะได้ข้อสรุปหรือไม่ได้อย่างไร กฟผ.จะยังคงดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ต่ออย่างแน่นอน แต่อยากให้ กฟผ.ดำเนินการศึกษาในด้านของผลกระทบให้ละเอียดมากขึ้นกว่าเดิมในทุกๆด้าน"นายธีรพจน์ กล่าว
ด้านนายสมนึก กรดเสือ สมาชิกเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินกล่าวภายหลังการประชุมว่า เป้าหมายมาชี้แจงและเรียกร้องให้ กฟผ.รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่มีต่อโรงไฟฟ้ากระบี่และท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่ใหม่ ซึ่งเดิมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น EIA และ EHIA ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ ไม่ได้ให้ความรู้เรื่องผลกระทบที่เกิดจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และไม่ระบุถึงวิธีแก้ไข อีกทั้งมาตรการการเยียวยา เป็นต้น
ทั้งนี้รายงานของ กฟผ. ในเรื่องโครงการโรงไฟฟ้า ค3 เครือข่ายฯ เห็นว่ายังไม่สมบรูณ์และยังขาดหายในหลายประเด็น “ตอนนี้ทางเครือข่ายฯ ต้องการให้ยุติการดำเนินการโครงการไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ และหันมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนักวิชาการด้านพลังงานโดยเปิดเวทีรับฟังและศึกษาวิจัยใหม่”สมาชิกเครือข่ายปกป้องกระบี่ กล่าว
นายสมนึก กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของกระบี่ ได้ระบุอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องการเป็นจังหวัด Green City คือทั้งหมดต้องดำเนินการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานควรเป็นพลังงานที่สะอาด 100% หากทางภาครัฐและทางราชการให้การสนับสนุนในเรื่องของระบบจำหน่ายทางกลุ่มผลิตปาล์มน้ำมันกระบี่ก็ยินดีให้ความร่วมมือ ประชาชนจะได้มีพลังงานใช้ในพื้นที่เอง
ขณะที่นายเผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์โครงการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ยินดีรับฟังความคิดเห็นทุกๆด้านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะส่วนของผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับฟังในเรื่องของ ค3ท่าเรือ และ ค3 โรงไฟฟ้า ส่วนผลกระทบทางด้านท่องเที่ยว สุขภาพ ผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยรวมของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหญ้าทะเล ปลาพะยูน และปะการัง ฯลฯ และในแง่มุมที่เครือข่ายกระบี่เป็นห่วงของวิสัยทัศน์ของกระบี่ที่ต้องการเป็นเมืองสีเขียว อีกทั้งคุณภาพของชีวิตของคนในพื้นที่ กฟผ.จะนำไปปรับเพิ่มเติม
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะนำพลังงานทดแทนมาใช้ ผอ.ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ กฟผ. กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของพลังงานทดแทนรัฐบาลระบไว้อย่างชัดเจนว่าต้องผลิตให้ได้ 1,3000 เมกกะวัตต์ภายใน 10 ปี ซึ่งในส่วนนี้เป็นนโยบายที่ กฟผ.ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว
"การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ จะดำเนินต่อไปและส่วนหนึ่งการสร้างก็คงทราบว่า เพื่อด้านธุรกิจที่เติบโต โดยเฉพาะทางจังหวัดภูเก็ตและพังงา และการท่องเที่ยวของกระบี่ที่โตขึ้นมา เพราะฉะนั้น 3 จังหวัด กระบี่ ภูเก็ตและพังงา โตไม่เท่ากัน หากโรงไฟฟ้าสามารถรองรับ 3 จังหวัดนี้ได้ และจุดสำคัญเนื่องจากกระบี่เป็นแรงดันปลายสาย ที่ซีกอันดามัน ถ้ามีโรงไฟฟ้าที่กระบี่จะช่วยบูสแรงดันขึ้นมา ทำให้ปัญหาเรื่องไฟตกไฟดับแทบจะหมดไปในอนาคต”นายเผ่าพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานด้วยว่า ภายหลังการให้สัมภาษณ์เครือข่ายปกป้องกระบี่ได้แถลงการณ์เกี่ยวกับจุดยืนจากผลการประชุมร่วม 3 ฝ่ายกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่โดยเนื้อหาและประเด็นหลักๆระบุว่า
1.โครงการทั้งสองโครงการที่เกิดขึ้นทั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่ต้องทำรายงานEHIAทั้งสองโครงการ
2. เจ้าของโครงการต้องทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็น EHIA ของทั้งสองโครงการมิใช่แยกทำ
3. ตามมาตรา 57 รัฐธรรมนูญ 2550 เจ้าของโรงการจะต้องให้ความรู้รายละเอียดโครงการ โดยก่อนหน้านี้ไม่ได้รายงานทั้งผลกระทบทางด้านสุขภาพและกมาตรการการเยียวยา
4. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งสองโครงการ (ค.1, ค. 2, ค.3) ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งปกปักรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
5. ขอให้ยกเลิกกระบวนการดังกล่าวทั้งหมด
6. ขอให้ สผ. พิจารณายกเลิกใบอนุญาตเป็นผู้จัดทำรายงานอีไอเอ อีเอชไอเอ ของ บริษัทที่ปรึกษา
7. ต้องประกาศยกเลิกโครงการเพราะที่ตั้งไม่เหมาะสม ขัดกับยุทธศาสตร์จังหวัดกระบี่ และปฏิญญาการพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่สู่ความยั่งยืนและขัดกับความตั้งใจของคนกระบี่ที่จะสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในด้านการรักษาป่าชายเลน อีกทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่เป็นพื้นที่แรมซ่าไซด์ที่มีความสำคัญระดับโลก
และสุดท้าย 8. ทางจังหวัดกระบี่จึงขอประกาศยืนยันจุดยืนเพื่อก้าวสู่ Green City และพัฒนาสู่จังหวัดที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์