กฤษฎีกา ยันแพทยสภาไร้อำนาจออกร่างข้อบังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวีเด็กต่ำกว่า 18 ปี
คณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุ ในกรณีบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี มาขอตรวจหาเชื้อเอชไอวี สามารถทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง แต่หากผลตรวจพบ มีเชื้อต้องแจ้งให้ทราบ
จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือ เรื่อง อำนาจของแพทยสภาในการออกข้อบังคับตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 (กรณีร่างข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการตรวจหาเชื้อเอชไอวัยในวัยรุ่น ) เพื่อแก้ปัญหาเด็กที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เข้าร่วมบริหารตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้โดยความสมัครใจและไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน ว่า แพทยสภามีอำนาจในการออกข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในวัยรุ่นหรือไม่อย่างไร และถ้าแพทยสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะร่างเป็นข้อบังคับ ในทางปฏิบัติแพทยสภาจะสามารถดำเนินการร่างแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในวัยรุ่น โดยยกเลิกแนวทางปฏิบัติของแพทย์เกี่ยวกับเรื่องเอดส์แล้วนำมากำหนดรวมเป็นฉบับเดียวกันได้หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แพทยสภาไม่มีอำนาจในการออกร่างข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในวัยรุ่น
พร้อมทั้งมีข้อสังเกตว่า ในกรณีบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี มาขอรับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้น
แต่จากคำชี้แจงของผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา ปรากฎว่า ในการตรวจหาเชื้อเอชไอวี มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และการสาธารณสุขหลายสาขา จึงสมควรที่กระทรวงสาธารณสุขจะใช้อำนาจในทางบริหารเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ และการสาธารณสุขสาขาต่างๆ ในเรื่องการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในกลุ่มบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน
และหากผลตรวจพบว่า บุคคลดังกล่าวมีเชื้อเอชไอวี ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา สมควรแจ้งให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองทราบ
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขควรเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบประสิทธิผลในการรักษาโรคนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรัการผลักดันประเด็นให้เด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปี สามารถเข้าตรวจเอชไอวีได้ โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องยินยอม มีความพยายามผลักดันต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 แม้แพทยสภาในฐานะผู้มีอำนาจออกระเบียบ ยังกังวลว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา27