คกก.SME ประเดิมปัญหาอำนาจทับซ้อนประกาศคสช.-กฤษฎีกาจี้เลิกโดยเร็ว
"กฤษฎีกา"ตอบความเห็นข้อกฎหมาย สำนักเลขาธิการครม. ย้ำประกาศ คสช.แต่งตั้ง คกก.อำนาจทับซ้อนเกิดปัญหารุนแรงในทางปฏิบัติ ประเดิมกรณีคกก.ส่งเสริมSME ตัวอย่าง-จี้ยกเลิกโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบความเห็นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมติคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2557 ที่ให้ยกเลิกโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจ (กองทุนตั้งตัวได้) วงเงิน 1,300 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
และนำเงินงบประมาณจำนวนดังกล่าวไปดำเนินการตามมาตรการและแนวทางในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามกรอบแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2558-2559ต่อไป
แต่โดยที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ได้ให้ความเห็นในเบื้องต้นเกี่ยวกับประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติสรุปได้ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 120/2557 เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 61/2557 และแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ที่แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) มีผลเป็นการสร้างคณะกรรมการขึ้นมาคู่ขนานกับคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการยกเลิกประกาศดังกล่าวต้องกระทำโดยการตรากฎหมาย รวมทั้งในกรณีที่จำเป็นต้องมีการประชุมเพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สมควรใช้องค์ประกอบของคณะกรรมการตามที่กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกำหนดไว้ ส่วนคณะกรรมการตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงขอหารือว่า คณะรัฐมนตรีจะสามารถพิจารณาอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) เสนอได้หรือไม่ อย่างไร และคณะรัฐมนตรีสมควรจะดำเนินการประการใด
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีความเห็นว่า คณะรัฐมนตรีย่อมสามารถพิจารณาอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร
อย่างไรก็ตาม หากต่อไปสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะดำเนินการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ ก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ
กล่าวคือ เมื่อคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนดังกล่าวแล้ว จะต้องให้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ ให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะใช้บังคับได้
ดังนั้น หากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ ยังขาดองค์ประกอบของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะรัฐมนตรีก็ชอบที่จะดำเนินการแต่งตั้งต่อไปตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ
คณะกรรมการกฤษฎีกา ยังระบุด้วยว่า อนึ่ง จากกรณีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 120/2557 และตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ จะเห็นได้ว่า ประกาศดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาการมีคณะกรรมการคู่ขนานกันจนไม่ทราบได้ว่าคณะกรรมการชุดใดจะรับผิดชอบหรือมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่แท้จริง หากยังมีผลใช้บังคับต่อไปอาจจะเกิดปัญหาอย่างรุนแรงในทางปฏิบัติได้
จึงสมควรยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 120/2557 โดยเร็ว และหากต้องการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ก็สมควรดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ ให้ตรงตามความประสงค์ต่อไป
(อ่านประกอบ : "กฤษฎีกา"ชงเลิกประกาศ-คำสั่ง "คสช."อำนาจทับซ้อนก่อนเกิดปัญหารุนแรง)