สพฐ.ปัดไม่ยุ่งเกี่ยวแบบสร้างฟุตซอล-ชี้ร.ร.ใช้งบ4ล.แพงเกินราคาจริงแค่1.8 ล.
ผอ.กลุ่มงานออกแบบ สพฐ. ปัดไม่ยุ่งเกี่ยวแบบสร้างสนามฟุตซอล ชี้งานมาตรฐานไม่ใช้แผ่นยางจิ๊กซอว์ปูพื้นคอนกรีต เผยแบบไม่มีหลังคา งบแค่ 1.8 ล. เท่านั้น โวยบาง ร.ร. ใช้งบ 4 ล. มากเกินไป
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับการเปิดเผยจากนายวิสุทธิ์ สุวรรณเนตร ผู้อำนวยการกลุ่มงานออกแบบและก่อสร้าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถึงข้อสังเกตการใช้จ่ายงบประมาณในการกรณีสนามฟุตซอลของหลายโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่สำนักข่าวอิศราลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าวัสดุที่ใช้ อาทิ แผ่นยางที่ปูพื้นสนามคอนกรีตมีสภาพชำรุด ทำให้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องแบบมาตรฐานการก่อสร้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนว่านำมาจากที่ใด และงบประมาณที่ใช้มีความเหมาะสมหรือไม่
โดยนายวิสุทธ์ กล่าวยืนยันว่า ในขั้นตอนการก่อสร้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนต่างๆ ไม่ใช่ว่าทุกโรงเรียนจะยื่นขอแบบสนามฟุตซอลมายัง สพฐ. แต่หากมีการขอมา สพฐ.ก็ทำหน้าที่เป็นเพียงองค์กรกลางดำเนินการยื่นขอแบบของกรมพละศึกษา หรือแบบของการกีฬาแห่งประเทศไทยแล้วส่งไปให้โรงเรียนที่ยื่นขอแบบมา โดยแบบมาตรฐานที่ได้มาจะมีมาตรฐานราคากลางกำหนดไว้ด้วย เมื่อได้แบบมาตรฐานจากการกีฬาแห่งประเทศไทยมาแล้ว สพฐ.ก็ส่งให้โรงเรียนเอาไปปรับตามงบประมาณที่โรงเรียนได้รับ
"กล่าวคือแม้ขนาดสนามอาจจะแตกต่างกัน พื้นสนามอาจจะแตกต่างกันแต่ สพฐ.ก็มีแบบมาตรฐานของการกีฬาแห่งประเทศไทยส่งไปให้ว่าสเปกเป็นอย่างไร และวัสดุที่ใช้ต้องได้รับการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทย"
นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่าเป็นสิทธิ์ของแต่ละโรงเรียนที่จะไม่ใช้แบบที่ สพฐ.ส่งไปให้ก็ได้ ไม่ถือว่าผิดระเบียบ เนื่องจากเป็นการกระจายอำนาจ ที่สพฐ.มอบอำนาจให้โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาสามารถจัดหาแบบเองและประมาณราคาเองได้ ไม่ได้บังคับ
ผู้สื่อข่าวถามว่าในปีที่มีงบแปรญัตติ พ.ศ. 2555 มีกี่โรงเรียนที่แจ้งความประสงค์มายัง สพฐ.ว่าจะขอแบบสนามฟุตซอลมาตรฐาน นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า จำไม่ได้ บางโรงเรียนก็แจ้งความประสงค์ขอแบบมาตรฐานมา บางโรงเรียน ก็ไม่ขอ เพราะงบก็ลงไปที่โรงเรียนเลย โดยที่ สพฐ. ไม่ได้ออกแบบสนามเอง
“เรื่องสนามฟุตซอลนี่ มันลอยมาจากไหนก็ไม่รู้ คือถ้าเป็นแบบอาคารเรียน เราก็มีแบบมาตรฐานของเรา แต่สนามฟุตซอลนี่ เราไม่มีแบบของเราเอง เคยพยายามจะออกแบบเองตามงบประมาณที่ตั้งไว้ แต่เขาก็ยืนยันว่าต้องการแบบมาตรฐานของการกีฬาแห่งประเทศไทย เราก็เลยพับเก็บแบบที่ทำไว้ แล้วก็ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลาง ไปเอาแบบจากการกีฬาแห่งประเทศไทยมาให้” นายวิสุทธิ์ระบุ
นายวิสุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า การขอแบบสนามฟุตซอลมาตรฐานโดยภาพรวมมีโรงเรียนไม่มากนักที่ยื่นความประสงค์ขอมา เพราะแบบที่ส่งไปให้ก็สามารถถ่ายเอกสารแจกกันได้ ดังนั้น บางโรงเรียนจึงไม่ได้ขอแบบจาก สพฐ. แต่จากภาพที่ปรากฏในข่าว พบว่าสนามฟุตซอลโรงเรียนบางแห่งที่ใช้แผ่นยางแบบต่อกัน ลักษณะรอยต่อเหมือนเป็นจิ๊กซอว์ ที่มีการชำรุดเสียหายนั้น ไม่รู้ว่ามาจากไหน เพราะหากเป็นสนามฟุตซอลตามแบบมาตรฐานของการกีฬาแห่งประเทศไทยหรือกรมพละศึกษาก็จะต้องได้รับการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทย
“ที่เห็นจากข่าวเป็นแผ่นยางใหญ่ๆ ที่เป็นรอยต่อแบบจิ๊กซอว์นั้น ไม่ใช่แบบของการกีฬาแห่งประเทศไทย เราไม่เคยเห็นแผ่นยางแบบนั้นกับสนามฟุตซอลแบบมาตรฐาน นั่นเป็นแผ่นยางตามท้องตลาด มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้แผ่นยางแบบนั้นมาทำสนามฟุตซอล” นายวิสุทธิ์ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่าราคากลางของสนามฟุตซอลของการกีฬาแห่งประเทศไทย มีราคาประมาณเท่าไหร่ เนื่องจากบางโรงเรียน ที่สำนักข่าวอิศราลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าผู้บริหารของบประมาณในการก่อสร้างสนามฟุตซอลที่ไม่มีหลังคา ได้งบจาก สพฐ.ไป 4 ล้านกว่าบาท เป็นไปได้หรือไม่ ที่สนามฟุตซอล ใช้งบก่อสร้างจำนวนดังกล่าว
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้งบถึง 4 ล้านบาท เนื่องจากสนามฟุตซอลแบบมาตรฐานที่ไม่มีหลังคา ก็อยู่ที่ ราคาประมาณ 1 ล้าน 7 แสนบาทหรือ 1 ล้าน 8 แสนบาท มีราคาแค่ประมาณนี้เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบหรือไม่ว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างสนามฟุตซอล และบริษัทขายแผ่นยางปูพื้นสนามหลายแห่งเป็นเครือข่ายเดียวกัน นายวิสุทธิ์กล่าวเพียงว่า หากเป็นงบแปรญัตติที่ ส.ส. เสนอ ฝ่ายราชการก็ไม่ค่อยอยากยุ่งเกี่ยวนัก
"การสร้างสนามฟุตซอลที่ใช้งบถึง 4 ล้านบาทก็เป็นราคาที่โหดร้าย” นายวิสุทธิ์ระบุ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่าข้อมูลมาตรฐานสนามแข่งขันและอุปกรณ์กีฬาฟุตซอลจากกองมาตรฐานกีฬา ฝ่ายสิทธิประโยชน์และมาตรฐานกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ระบุถึงมาตรฐานของสนามฟุตซอลตามที่สหพันธุ์กีฬาระหว่างประเทศกำหนด ระบุถึงลักษณะความปลอดภัยของพื้นสนามว่า “พื้นผิวสนามจะต้องเรียบเสมอกัน อาจทำด้วยไม้หรือวัสดุสังเคราะห์ ต้องหลีกเลี่ยงพื้นผิวสนาม ที่ทำด้วยคอนกรีต หรือยางมะตอย”
ทั้งนี้ จากการที่สำนักข่าวอิศราลงพื้นที่ตรวจสอบสนามฟุตซอลบางแห่งที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นเครือข่ายนักการเมือง และเซ็นสัญญาสร้างสนามฟุตซอลหลายแห่งในวันเดียวกัน พบว่าพื้นสนามทำจากคอนกรีต และแผ่นยางที่ใช้ปูสนามมีสภาพชำรุด
อ่านประกอบ :
เผยโฉม 5 ผู้รับเหมาสนามฟุตซอล 7 จว.เหนือ -หจก.เอ็มทีฯรวบ“พะเยา”
"อิศรา"ลุยพิสูจน์ส.ฟุตซอล 2แห่งโคราช ชำรุดหนัก-ครูปัดไม่รู้บ.โยงนักการเมือง
พื้นหัก หญ้าโผล่!สนามฟุตซอล พิษณุโลก “อิศรา”สำรวจ-ป.ป.ท.ลุยสอบ
3 ผู้รับเหมาสนามฟุตซอลโคราช“กลุ่มเดียวกัน” โยง บ.ใหม่ญาติอดีต ส.ส.