"ณรงค์"ยกปมสนามฟุตซอลฉาวกรณีตย.จับตาใกล้ชิด-ป.ป.ช.จ่อสอบ
เลขาฯสพฐ. เผย “บิ๊กเข้-พล.ร.อ.ณรงค์” ให้ความสนใจ-ติดตามใกล้ชิดปมสนามฟุตซอลฉาว ชี้ควรเป็นกรณีตัวอย่าง ห้ามเกิดเหตุแบบนี้อีกในอนาคต “สรรเสริญ” ยัน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริง-พิจารณากรอบอำนาจ หลัง สตง. ร่อนเอกสารสอบมาให้ - สปช. ทำได้อยากยื่นทรัพย์สินฯแสดงบริสุทธิ์ใจ แต่ไร้อำนาจเปิดเผย
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวภายหลังร่วมหารือกับนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงแนวทางการดำเนินการของ สพฐ. ที่มีวัตถุประสงค์อยากให้เป็นหน่วยงานใสสะอาด ตามที่เคยลงนามร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่า กระบวนการการศึกษาเป็นภาระหนักหน่วง และเมื่อเราทำงานพบว่า มีบางเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการเงิน เพราะมีโครงการขนาดใหญ่ การดำเนินการบางครั้งอาจไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และส่งผลกระทบต่อองค์กร ทำให้งบประมาณด้านการศึกษาไม่คุ้มค่า กัดกร่อนองค์กร ไม่ให้ก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงต้องวางระบบป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต โดยหารือ ป.ป.ช. ใน 2 ส่วน คือ ป้องกันปัญหาในเชิงให้ความรู้ และป้องกันการจัดการที่มีผลกระทบต่องบประมาณ
นายกมล กล่าวอีกว่า ต่อไปจะมีการวางระบบให้ความรู้กับครู ผู้บริหารสถานศึกษาเขตพื้นที่อาจมีการสอบวิชากฎหมาย ป.ป.ช. แจ้งทบทวนการปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง วางระบบให้ ป.ป.ช. จังหวัดไปช่วยในการทำโครงการขนาดใหญ่ หรือการใช้กรอบแนวคิดไอทีเอ ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ให้เป็นแนวปฏิบัติ โดยหวังว่าป้องกันได้โดยให้ความรู้และวางระบบ จะทำให้อนาคต สพฐ. ใสสะอาด เป็นที่ยอมรับในสังคม จนเป็นแบบอย่างได้ อย่างไรก็ดีการประชุมในวันนี้ไม่ได้หารือกันเรื่องสนามฟุตซอลแต่อย่างใด
“ท่าน รมว.ศึกษาธิการ (พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย) พูดในที่ประชุมก่อนหน้านี้ว่า ท่านให้ความสนใจและติดตามผลในเรื่องนี้ อยากให้กรณีทุจริตสนามฟุตซอล เป็นกรณีศึกษาตัวอย่าง และไม่ควรเกิดกรณีแบบนี้อีกในวงการศึกษา” นายกมล กล่าว
ด้านนายสรรเสริญ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเอกสารการตรวจสอบสนามฟุตซอล 20 จังหวัดให้กับ ป.ป.ช. ว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาว่า ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนคดีหรือไม่ หากมีอำนาจก็จะตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้ต้องดูกรอบการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ป.ป.ท. และ สตง. ที่เข้าไปตรวจสอบร่วมด้วย
ส่วนกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางส่วนต้องการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯเพื่อแสดงความโปร่งใสนั้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องนี้สามารถยื่นเข้ามาได้ หากต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ทาง ป.ป.ช. คงเข้าไปจัดการ หรือเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติแล้วว่า สปช. ไม่เข้าข่ายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง