โลกมองเรา สื่อไทยไร้จรรยาบรรณ
วันที่ 23 ตุลาคม 2557 นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โพสต์ข้อความในเฟชบุคส่วนตัวถึง กรณีทูตสหภาพยุโรป เข้าพบตัวแทน 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อยื่นจดหมายและหารือ เรื่อง ความรับผิดชอบของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวผู้เคราะห์ร้ายจากกรณีเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี
"ถึงแม้การมาของทูตสหภาพยุโรป (อียู) 8 ประเทศอันเป็นตัวแทนของ 21 ประเทศ จะเรียบร้อยอย่างยิ่ง จะแสดงถึงไมตรีจิตที่มีต่อสื่อมวลชนไทยอย่างยิ่ง หากแต่เป้าหมายของการมาเยือนนั้น กลับเป็นเรื่องที่สื่อไทยจำเป็นต้องน้อมรับและทบทวนบทบาทการทำงานอย่างยิ่งเช่นกัน
หนังสือที่พวกเขามีต่อองค์กรสื่อในประเทศไทย อันประกอบด้วยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รวมทั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ บอกถึงความกังวลใจต่อการทำหน้าที่ของสื่อไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวและครอบครัว อันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรี และลดทอนความเป็นมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการซ้ำเติมชะตากรรมของผู้สูญเสีย ทูตอียูย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นเสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบด้วย
หลายครั้งที่สื่อไทย มุ่งเพียงตอบสนองสัญชาติญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ มุ่งแต่จะขายข่าวและภาพ แต่ขาดความใส่ใจในความทุกข์ร้อน ความโศกเศร้าเสียใจของญาติพี่น้อง ผู้ที่ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำทารุณกรรม ล่วงละเมิดทางเพศ จนกระทั่งถูกทำร้ายจนเสียชีวิต
พวกเราเข้าใจและเรียกร้องแต่เสรีภาพในการเสนอข่าวสาร ข้อมูล เรารู้สึกเดือดร้อนเมื่อเสรีภาพถูกคุกคาม เราแข็งขืนและต่อต้านอย่างสุดกำลังเมื่ออำนาจรัฐพยายามเข้ามาครอบงำการทำงาน แต่เราอาจจะไม่ได้เฉลียวใจว่า ในหลายครั้งที่เราเคลื่อนไหว เราออกแถลงการณ์ต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม กลับดูคล้ายโยนก้อนกรวดเล็กๆ ลงในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ สังคมเฉยเมยอย่างยิ่ง เย็นชาอย่างยิ่ง ซ้ำร้าย ปฎิกริยาจากผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคม กลับสำทับถึงความไม่รับผิดชอบของสื่อ การทำงานที่ไร้จรรยาบรรณของสื่อ ภาพความรู้สึกเช่นนั้น มาจากข่าวประเภทอาชญากรรมหรือบันเทิงอย่างเป็นด้านหลัก
ทั้งที่การเรียกร้องเสรีภาพ การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็นนั้น เป็นเรื่องของประชาชน เพราะเสรีภาพของสื่อก็คือเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง
ทูตอียู พูดถึงคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยว ที่สื่อไทยนำเสนอทั้งภาพ ข่าวที่ละเมิดผู้ตาย มีการแสดงพาสปอร์ต สถานะของผู้ตายอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างร้ายแรง
ข่าวอาชญากรรมเป็นข่าวที่สะท้อนความผิดปกติของสังคม ซึ่งนับเป็นคุณค่าข่าวในรูปแบบหนึ่ง แต่เนื้อหา ข้อมูล ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับข่าวประเภทนี้ มักจะส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น ทำให้คนอื่นเสียหายเดือดร้อน เช่น การเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ผู้หญิง และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดยเฉพาะกรณีเสนอข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการกระทำทารุณกรรมในครอบครัว นอกจากนั้น ลักษณะพิเศษของข่าวอาชญากรรม ยังเป็นข่าวที่ปุถุชนสนใจ (Human Interest) เป็นข่าวที่ตอบสนองสัญชาติญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ด้วย
ดังนั้น วิธีการเล่าเรื่องผ่านสื่อโทรทัศน์โดยเฉพาะในรายการเล่าข่าว จึงมักมีรายละเอียดคล้ายกับการอ่านนวนิยาย ที่ประกอบด้วยเรื่องราวจากชีวิตจริง วิธีการเล่าเรื่องที่ต้องการให้มีสีสัน และให้คนดูได้รับข้อมูล ข่าวสาร อย่างครบถ้วนทั้งภาพและข่าวนี้เอง ที่เป็นเหตุสำคัญทำให้เกิดการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และเป็นการกระทำผิดกฎหมายอยู่เสมอ
ปรากฎการณ์การมาเยือนองค์กรสื่อไทย ของทูตอียูครั้งนี้ คือการส่งสัญญาณที่เราต้องตักน้ำ ชะโงกดูเงาของตัวเองอย่างจริงจังสักที"