กม.ค้ำประกัน-จำนองใหม่: หน่วยงานรัฐระวังเสียค่าโง่
โดย สุดา วิศรุตพิชญ์ *
หมายเหตุ- เป็นบทความเรื่อง “กฎหมายค้ำประกันและจำนองที่แก้ไข ปี 2557:หน่วยงานรัฐพึงระวัง” ซึ่งสำนักข่าวอิศราได้นำมาเปลี่ยนชื่อใหม่ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่ทำสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างและต้องมีสถาบันการเงินค้ำประกันสัญญา หากไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่แก้ไขใหม่ อาจทำให้หน่วยงานของรัฐเสียประโยชน์จากสิทธิเรียกร้องบางอย่าง
บทนำ
บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกันและจำนองก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 25571 เป็นบทบัญญัติที่ส่งผลในทางปฏิบัติเพราะทำให้ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองในฐานะที่เป็นลูกหนี้ชั้นที่สองมีภาระหนักมาก บางครั้งมีภาระหนักยิ่งกว่าผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นโดยตรง เนื่องจากในทางปฏิบัติคู่สัญญาได้ทำข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนอง
กรณีของผู้ค้ำประกัน กฎหมายกำหนดให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิเกี่ยง สิทธิยกข้อต่อสู้ รวมทั้งสิทธิที่จะอ้างเหตุหลุดพ้นด้วยสาเหตุต่างๆ แต่เจ้าหนี้ก็มักจะให้ผู้ค้ำประกันทำข้อตกลงตั้งแต่ตอนทำสัญญาว่า ผู้ค้ำประกันตกลงว่าจะไม่ใช้สิทธิดังกล่าวเหล่านั้น รวมทั้งกรณีของผู้ค้ำประกันที่ค้ำประกันหนี้ในอนาคตก็จะให้ผู้ค้ำประกันตกลงว่าจะค้ำประกันหนี้ใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ทำให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในหนี้ที่ตนมิได้ประสงค์จะเข้าค้ำประกัน
กรณีของผู้จำนอง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้จำนองที่มิได้เป็นตัวลูกหนี้เอง) ผู้จำนองเป็นบุคคลที่นำทรัพย์สินที่จำนองมาให้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ มิได้เข้าผูกพันตนที่จะชำระหนี้ แต่เจ้าหนี้ก็มักจะให้ผู้จำนองยอมตกลงว่าหากบังคับจำนองทรัพย์สินที่จำนองแล้วได้ราคายังไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองก็จะรับผิดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในส่วนที่ขาดจนครบถ้วน ซึ่งข้อตกลงนี้ทำให้ผู้จำนองยอมเข้าผูกพันตนทำนองเดียวกันกับผู้ค้ำประกันอีกสถานะหนึ่งด้วย
ด้วยเหตุที่บทบัญญัติที่คู่สัญญาได้ตกลงยกเว้นดังกล่าวเหล่านั้นไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายเหล่านั้นจึงไม่เป็นโมฆะ ใช้บังคับกันได้2
จึงมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่ว่าด้วยค้ำประกันและจำนองในประเด็นหลักดังกล่าว เพื่อคุ้มครองผู้ค้ำประกันและผู้จำนองให้ดียิ่งขึ้น3
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการแก้ไขบทบัญญัติเรื่องค้ำประกันและจำนองในหลักการใหญ่ๆ หลายเรื่อง4 .บทความนี้จะเสนอเพียงประเด็นเดียวเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่หน่วยงานภาครัฐต้องทำความเข้าใจและเร่งปรับวิธีปฏิบัติงานเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ
สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน
กฎหมายว่าด้วยค้ำประกันก่อนมีการแก้ไขกำหนดให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ตามมาตรา 6865 แต่เนื่องจากในทางปฏิบัติไม่มีกระบวนการที่จะเตือนให้ผู้ค้ำประกันทราบว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว และเจ้าหนี้มักจะไม่เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ทันที แต่จะทอดเวลาที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ออกไปตราบใดที่ยังคิดว่าลูกหนี้อาจชำระหนี้ได้ และเห็นว่าหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ก็ยังเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชำระหนี้ทั้งหมดแทนลูกหนี้ได้
ผลจากการนี้จึงทำให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในบรรดาดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นเพิ่มขึ้นด้วย การที่ผู้ค้ำประกันไม่รู้ว่าตนต้องชำระหนี้แทนลูกหนี้เพราะลูกหนี้ผิดนัดแล้วโดยผลของกฎหมายและโดยผลของสัญญาทำให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบในหนี้ส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จึงเป็นภาระแก่ผู้ค้ำประกันอย่างยิ่ง หากผู้ค้ำประกันมีโอกาสทราบถึงการที่ลูกหนี้ผิดนัด ผู้ค้ำประกันก็อาจขอชำระหนี้ทั้งหมดแทนลูกหนี้ทันทีเพื่อจะได้ไม่ต้องรับภาระในดอกเบี้ยและค่าอุปกรณ์ทั้งหลายนั้น และถ้าผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้เช่นนั้นและเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะได้หลุดพ้นจากความรับผิด ตามมาตรา 7016
ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 686 ที่แก้ไขจึงได้แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญดังนี้
- กำหนดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่วันที่ผู้ค้ำประกันได้รับหนังสือนั้น
- หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว
- เมื่อได้รับหนังสือบอกกล่าว ผู้ค้ำประกันอาจขอชำระหนี้ทั้งหมดแทนลูกหนี้หรือใช้สิทธิชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการที่ลูกหนี้ได้ดำเนินการอยู่เดิม ทั้งนี้ ในเฉพาะส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิด
- กำหนดให้เจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดตลอดระยะเวลาที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการของลูกหนี้อยู่ เพื่อมิให้ผู้ค้ำประกันต้องรับภาระที่ตนไม่ได้ก่อขึ้น
- เมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามมาตรานี้แล้ว จะเกิดสิทธิไล่เบี้ยและรับช่วงสิทธิตามมาตรา 693
บทบัญญัติมาตรา 686 ที่แก้ไขมีดังนี้
“มาตรา 686 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ
ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ตามวรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันอาจชำระหนี้ทั้งหมดหรือใช้สิทธิชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้ก่อนการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้เฉพาะในส่วนที่ตนต้องรับผิด ก็ได้ และให้นำความในมาตรา 701 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในระหว่างที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามวรรคสาม เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดในระหว่างนั้นมิได้
การชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันตามมาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา 693”
จะเห็นได้ว่า กฎหมายที่ปรับแก้ไขนี้ ได้เปลี่ยนแปลงว่า เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ต้องมีการแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ค้ำประกันรู้ก่อนว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้และเรียกผู้ค้ำประกันได้เมื่อผู้ค้ำประกันได้รับหนังสือแจ้งนั้นแล้ว
ถ้าเจ้าหนี้ไม่มีหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด ผลจะทำให้เจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนและอุปกรณ์แห่งหนี้ ได้เพียง 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดเท่านั้น ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนและอุปกรณ์แห่งหนี้ส่วนที่เกิดขึ้นหลังจาก 60 วันนั้นผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบ
ผลของการเปลี่ยนแปลงที่หน่วยงานภาครัฐพึงระวัง
เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยใช้บังคับกับสัญญาค้ำประกันทุกประเภท ไม่ว่าหนี้ประธานที่ผู้ค้ำประกันเข้าค้ำประกันนั้นจะเป็นหนี้ประเภทใด เจ้าหนี้ในมูลหนี้ประธานจะเป็นใคร จะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่เป็นเอกชน รวมทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ และไม่ว่าผู้ค้ำประกันจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่เป็นเอกชน รวมทั้งที่เป็นสถาบันการเงินด้วย
ดังนั้น ในกรณีที่หน่วยงานภาครัฐเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีธนาคารเป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติการชำระหนี้ (Bank Guaranty) ตามมูลหนี้ ธนาคารในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันก็จะได้รับประโยชน์จากการที่กฎหมายกำหนดลดภาระของผู้ค้ำประกันในส่วนของดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนและอุปกรณ์แห่งหนี้ หากเจ้าหนี้ (หน่วยงานภาครัฐ) ไม่มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดดังที่กล่าวมานั้นด้วย
ตัวอย่าง หน่วยงานภาครัฐในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน
ตัวอย่าง 1 สัญญาค้ำประกันการรับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ
นาย ก. เป็นได้รับทุนจากส่วนราชการให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ นาย ก. ต้องทำสัญญารับทุนและสัญญาชดใช้ทุน นอกจากนั้น นาย ก. ยังต้องหาผู้ค้ำประกันมาทำสัญญาค้ำประกันการรับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศของนาย ก. ด้วย
ตัวอย่าง 2 สัญญาค้ำประกันในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำสัญญาจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างให้สร้างอาคารเรียน ในการทำสัญญาจ้างนั้น ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องวางหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา และวางหลักประกันผลงาน ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ผู้รับเหมาก่อสร้างจึงได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคาร (Bank Guaranty) เป็นหลักประกัน
แนวทางที่ต้องปรับวิธีปฏิบัติ ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดผิดสัญญาแล้ว คือ หน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกัน (ทั้งผู้ค้ำประกันที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกัน) ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด จะปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ได้แจ้งถึงการผิดนัดของลูกหนี้ให้แก่ผู้ค้ำประกันทราบดังที่เคยปฏิบัติมาไม่ได้
เพราะหากไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในกำหนด ๖๐ วันดังกล่าว นอกจากจะทำให้หน่วยงานภาครัฐในฐานะเจ้าหนี้จะเรียกผู้ค้ำประกันชำระหนี้ยังไม่ได้จนกว่าจะได้บอกกล่าวแล้ว ยังจะทำให้หน่วยงานภาครัฐไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบในส่วนของดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ของหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังพ้นกำหนด ๖๐ วันนั้นด้วย ซึ่งจะทำให้ภาครัฐเสียหาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการวางหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาหรือหลักประกันผลงานในวงเงินที่สูงๆ และการผิดนัดผิดสัญญาก่อให้เกิดความเสียหายที่อาจคิดคำนวณเป็นรายวันตลอดระยะเวลาที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ จะทำให้หน่วยงานภาครัฐในฐานะเจ้าหนี้เรียกค่าสินไหมทดแทนจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันได้เพียงค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดผิดสัญญาสูงสุดเพียง 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดเท่านั้น
ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อาจตกอยู่ในฐานะที่ลำบากเพราะจะเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอย่างร้ายแรงเพราะไม่รู้ข้อกฎหมายจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐอันอาจถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อหน่วยงานภาครัฐ
ผลบังคับใช้ของกฎหมายใหม่
บทเฉพาะกาล กำหนดในเรื่องนี้ไว้ว่า “ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้ และผู้ค้ำประกัน ให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้”
“พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”
ผลของบทเฉพาะกาล ทำให้เจ้าหนี้ในสัญญาค้ำประกันที่ลูกหนี้ผิดนัดเมื่อกฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว (พิจารณาว่าการผิดนัดของลูกหนี้เกิดขึ้นเมื่อใด) ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติที่แก้ไข กล่าวคือต้องมีหนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด แม้เป็นสัญญาค้ำประกันที่ทำกันก่อนที่กฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับ
ผู้เขียนเห็นว่าการปฏิบัติก็ไม่ยุ่งยาก เพียงหน่วยงานภาครัฐในฐานะเจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดเท่านั้น ก็จะเป็นการตั้งสิทธิเรียกร้องของผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันได้อย่างเต็มจำนวน ส่วนเจ้าหนี้จะใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกเอาจากผู้ค้ำประกันเมื่อใดก็เป็นไปตามหลักทั่วไปเรื่องอายุความสิทธิเรียกร้อง ดังเช่นที่เคยปฏิบัติอยู่เดิม
หน่วยงานภาครัฐพึงต้องระมัดระวังว่า ต่อจากนี้ไป ต้องติดตามสัญญาค้ำประกันทุกฉบับว่ามูลหนี้ประธานที่ได้มีสัญญาค้ำประกันนั้น ลูกหนี้ผิดนัดผิดสัญญาหรือไม่ ติดตามทุกสัญญา (ทุกมูลหนี้) ว่ามีการผิดนัดเมื่อใด และหากมีกรณีลูกหนี้ผิดนัดเกิดขึ้นก็ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และเก็บหลักฐานการบอกกล่าวไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ในส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์แห่งหนี้ต่างๆ เต็มตามความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
* รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1ขณะนี้เขียนบทความนี้ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
2ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยในคำพิพากษาฎีกาต่างๆ ในแนวทางเดียวกัน
3ดูหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...
“โดยที่บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่ยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ในการทีจะชำระหนี้แทนลูกหนี้เท่านั้น โดยข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติปรากฏว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพให้กู้ยืม มักจะอาศัยอำนาจต่อรองที่สูงกว่าหรือความได้เปรียบในทางการเงินกำหนดข้อตกลงอันเป็นการยกเว้นสิทธิของผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองต้องรับผิดเสมือนเป็นลูกหนี้ชั้นต้น กรณีจึงส่งผลให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปไม่ได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมทั้งต้องกลายเป็นผู้ถูกฟ้องล้มละลายอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
4แม้หลักการที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมจะมิได้ยกมากล่าวในบทความนี้ทุกเรื่อง ผู้ที่รับผิดชอบด้านกฎหมายในหน่วยงานภาครัฐควรศึกษาหลักการที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปรับข้อสัญญา ปรับแนวทางการดำเนินการต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไขด้วย
5มาตรา 686 ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น
6มาตรา 701 ผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระก็ได้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด
ภาพประกอบบางส่วนจาก เดลินิวส์ออนไลน์