ข้อมูลตำรวจ...ไฟใต้ 7 ปี 7 เดือนตายทะลุ 4.7 พันราย ประทุษร้ายพระ 33 คดี 194 หมู่บ้านป่วน
การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลายเป็นบทพิสูจน์ว่าแท้ที่จริงพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีความคมชัดต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด
ซ้ำยังเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เล่นบท “พลิ้ว” กับประเด็นที่เคยหาเสียงเอาไว้ โดยเฉพาะการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษที่เรียกว่า “นครปัตตานี” ซึ่งทางพรรคเคยประกาศเอาไว้ถึงขั้นว่ายกร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว
แต่จากคำชี้แจงของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลับกลายเป็นว่าเรื่อง “นครปัตตานี” เป็นความคิดของคนเพียงคนเดียว หาใช่มติพรรค!
ขณะที่การวางตัวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ก็ดูจะ “ผิดฝาผิดตัว” โดยเฉพาะ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งเขาและพวกเคยถูกตั้งคำถามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อครั้งกวาดจับผู้ต้องหาปล้นปืน
ด้วยเหตุนี้ทิศทางของรัฐบาลต่อบริบทปัญหาภาคใต้จึงกำลังถูกจับตามองอย่างมาก เพราะความรุนแรงและความสูญเสียยังคงเกิดขึ้นทุกวัน
ไฟใต้ 7 ปี 7 เดือนยอดตายทะลุ 4.7 พันราย
พลิกดูสถิติทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ล่าสุดของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พบว่า สถิติเหตุรุนแรงตั้งแต่เดือน ม.ค.2547 (หลังเหตุการณ์ปล้นปืน) ถึงวันที่ 22 ส.ค.2554 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 12,167 เหตุการณ์
แยกเป็นปี 2547 จำนวน 1,154 เหตุการณ์ ปี 2548 จำนวน 2,078 เหตุการณ์ ปี 2549 จำนวน 1,934 เหตุการณ์ ปี 2550 จำนวน 2,475 เหตุการณ์ ปี 2551 จำนวน 1,370 เหตุการณ์ ปี 2552 จำนวน 1,348 เหตุการณ์ ปี 2553 จำนวน 1,165 เหตุการณ์ และปี 2554 นับถึงวันที่ 22 ส.ค.จำนวน 643 เหตุการณ์ สรุปว่าปี 2550 เป็นปีที่เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุด
สภาพความสูญเสียในห้วงเวลาเดียวกัน มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตไปแล้ว 4,771 ราย แยกเป็นตำรวจ 274 นาย ทหาร 331 นาย ประชาชน 4,166 ราย บาดเจ็บรวม 8,512 ราย แยกเป็น ตำรวจ 1,137 นาย ทหาร 1,634 นาย และประชาชน 5,741 ราย
194 หมู่บ้านป่วน-คดีความมั่นคง 8 พัน ยกฟ้อง 45%
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษอยู่ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 37 อำเภอ 287 ตำบล 2,001 หมู่บ้าน ประชากรมากกว่า 2 ล้านคน มีหมู่บ้านที่เกิดเหตุรุนแรงและยากต่อการควบคุมสถานการณ์จำนวน 194 หมู่บ้าน ส่วนหมู่บ้านที่เกิดเหตุรุนแรงแต่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้มีจำนวน 407 หมู่บ้าน ที่เหลือเป็นหมู่บ้านปลอดภัย
สถิติคดีความมั่นคง นับถึงวันที่ 31 ก.ค.2554 มีคดีอาญารวม 87,147 คดี เป็นคดีความมั่นคง 8,043 คดี เฉพาะคดีความมั่นคง เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดมากถึง 6,133 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 76.25 รู้ตัวผู้กระทำความผิด 1,910 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 23.75 จับกุมผู้ต้องหาได้ 1,372 คดี คิดเป็นร้อยละ 17.06 ผู้ต้องหาหลบหนี 538 คดี
การดำเนินคดีความมั่นคงจำนวน 8,043 คดี ในชั้นพนักงานสอบสวน สั่งงดสอบสวนมากถึง 5,473 คดี คิดเป็นร้อยละ 68.05 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง 1,606 คดี คิดเป็นร้อยละ 19.97 สั่งไม่ฟ้อง 228 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.83 อยู่ระหว่างดำเนินคดี 736 คดี คิดเป็นร้อยละ 9.15
ชั้นอัยการมีคดีอยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 7,307 คดี สั่งงดสอบสวน 4,959 คดี คิดเป็นร้อยละ 83.08 สั่งฟ้อง 676 คดี หรือร้อยละ 11.33 สั่งไม่ฟ้อง 334 คดี หรือร้อยละ 5.60 และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,338 คดี หรือร้อยละ 18.31
ชั้นศาล พิพากษาแล้ว 262 คดี จำเลย 484 คน ลงโทษ 143 คดี จำเลย 243 คน คิดเป็นร้อยละ 54.58 ของคดีทั้งหมดที่พิพากษาแล้ว ยกฟ้อง 119 คดี จำเลย 241 คน คิดเป็นร้อยละ 45.42
ในจำนวนคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ เป็นโทษประหารชีวิต 21 คดี จำเลย 21 คน จำคุกตลอดชีวิต 40 คดี จำเลย 56 คน จำคุก 50 ปีลงมา 82 คดี จำเลย 166
ประทุษร้ายพระรวม 33 คดี
สำหรับสถิติคดีประทุษร้ายต่อพระภิกษุ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพระ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 33 คดี แยกเป็น จ.ยะลา 8 คดี ปัตตานี 11 คดี นราธิวาส 13 คดี และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 1 คดี
คดีประทุษร้ายต่อพระภิกษุและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพระ ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดมากถึง 21 คดี งดสอบสวนไปแล้ว 18 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการเพียง 3 คดี ส่วนคดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิดมี 12 คดี เห็นควรสั่งฟ้อง 10 คดี ผู้ต้องหาหลบหนีและถูกออกหมายจับ 2 คดี
พบวิกฤติขาดแคลนพนักงานสอบสวน
จากสถิติที่ยกมาจะเห็นได้ว่าปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าและสำคัญที่สุดของจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การยุติความรุนแรงรายวัน และปิดช่องโหว่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้สามารถทำงานได้ มิฉะนั้นก็จะมีคดี “งดสอบสวน” และ “ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด” ในสัดส่วนมากถึงร้อยละ 70-80 ต่อไป
ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมลำดับต้น โดยเฉพาะชั้นพนักงานสอบสวนพบว่า มีปัญหาขาดประจักษ์พยานยืนยันการกระทำความผิด มีปัญหาเรื่องการคุ้มครองพยาน ปัญหาการชันสูตรพลิกศพผู้นับถือศาสนาอิสลาม ปัญหาการรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ขณะที่จำนวนพนักงานสอบสวนยังขาดแคลนอยู่ถึง 274 อัตรา และที่มีอยู่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.13 ก็เป็นพนักงานสอบสวน สบ.1 หรือตำรวจที่เพิ่งจบจากโรงเรียนนายร้อย หาพนักงานสอบสวนมือดีที่มีประสบการณ์ยากมาก
3 ประเด็นท้าทายรัฐบาลใหม่เพื่อไทย
จากสภาพปัญหาที่ยกมา รวมถึงนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศหาเสียงเอาไว้ สรุปเป็นประเด็นท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ต่อปัญหาภาคใต้ได้ 3 ประเด็นดังนี้
1.ยุติเหตุรุนแรงรายวัน และยกเครื่องกระบวนการสอบสวน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมเคยเสนอโมเดล “กรมสอบสวนคดีความมั่นคง” เพื่อรับผิดชอบคดีที่มีลักษณะพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเอาอย่างไร
2.ความชัดเจนเรื่องการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษตามที่เคยหาเสียงเอาไว้ เพราะกำลังถูกทวงถามจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่กำลังผลักดันเรื่องนี้อยู่
3.การควบคุมการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะ 8 ปีงบประมาณที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารใช้งบในภารกิจดับไฟใต้ไปแล้วถึง 1.45 แสนล้านบาท โดยที่มิอาจประเมินผลได้ว่าคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไปหรือไม่ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบผ่านสองหน่วยงานพิเศษอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
หรือปัญหาภาคใต้จะเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำท่าล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่ม?
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เศษซากสิ่งของที่ถูกทำลายจากเหตุระเบิดทหารชุดคุ้มครองพระในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เมื่อวันอังคารที่ 23 ส.ค.2554 (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
หมายเหตุ : บางส่วนของรายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 29 ส.ค.2554