เลขาฯสภา” จเร พันธุ์เปรื่อง” ไขคำตอบ ไฉน..ต้องปิดสำนักงานรัฐสภาจังหวัด?
สัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา(ก.ร.) มีมติให้ยุบสำนักงานรัฐสภาจังหวัด 6จังหวัดนำร่อง (เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี พระนครศรีอยุธยาและชลบุรี)
“พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานสภานิบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ระบุในฐานะประธานก.ร.ว่า ไม่ผ่านการประเมินและไม่คุ้มค่ากับงบประมาณและการปฏิบัติงานของบุคลากร
ล่าสุด “จเร พันธุ์เปรื่อง” เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ในประเด็นดังกล่าวดังนี้
…………
“จเร” เผยว่า การตั้งสำนักงานรัฐสภาจังหวัดเกิดขึ้นในช่วงรัฐสภาที่แล้ว มีวัตถุประสงค์ต้องการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย เป็นตัวกลางเชื่อมประชาชนในภูมิภาคกับสภา ให้ชาวบ้านเข้าถึงสภาได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกันยังเป็นหน่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น เข้าชื่อเสนอกฎหมาย เข้าชื่อถอดถอน รวมทั้งการร้องเรียนเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งหลาย
การร้องทุกข์ในที่นี้ ไม่ใช่การร้องทุกข์การดำเนินงานหน่วยงานบริหาร แต่เป็นการร้องทุกข์เกี่ยวกับงานของหน่วยงานนิติบัญญัติ เช่น ร้องทุกข์ต่อกรรมาธิการ ซึ่งดูจากวัตถุประสงค์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินงานจริงๆกลับไม่ไปถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าว เช่น เรื่องอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเลขาสภาฯ
ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินข้าราชการฯ เห็นว่า หน้าที่หลักของสำนักงานเลขาสภาฯคือการสนับสนุนการดำเนินงานของสภา ก็อาจไม่เชิงตรงกับวัตถุประสงค์ที่กล่าวมา เรื่องที่สองคือ อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ในการไปเผยแพร่ความรู้ในต่างจังหวัดที่มีทีมงานลงไปทำหน้าที่ มีการพูดกันว่า หน่วยงานอื่นอย่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงอื่น เขาก็มีเหมือนกัน
ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาไม่มีสภา การเผยแพร่ความรู้เลยกลายเป็นเรื่องทั่วๆไป ไม่ใช่เสนอผลงาน และไม่ได้เชื่อมต่อกับสภาเท่าไหร่ ก็เป็นปัญหา
เลขาฯสภา กล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งคือ การใช้จ่ายงบประมาณที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นปัญหา จริงๆ แล้วในแต่ละสำนักงาน เขาก็ไม่ได้มีอะไร ใช้จ่ายตามระเบียบกติกา แต่จะมีปัญหาเรื่องการเช่า การปรับปรุงอาคาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของส่วนกลางไปจัดซื้อจัดจ้าง ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งข้อเท็จจริงผมยังไม่ทราบ กำลังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบ
ถามว่า เกี่ยวอะไรกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสำนักงานหรือเปล่า ไม่ได้เกี่ยวเลย เช่น ค่าใช้จ่ายในการอบรมสัมมนาที่ไปจัดแต่ละที่ ส่วนกลางเป็นคนจัด เขาเป็นคนประสานงาน ดูแลให้ เขาไม่ได้เกี่ยว
แต่ก็มีการแถลงข่าวว่าค่าใช้จ่ายงบประมาณรัฐสภา 6 แห่ง ใช้เงินไปประมาณ 40-50 ล้านบาท จริงๆไม่เกี่ยวกับเขาหรอก เพราะส่วนใหญ่ไปจากส่วนกลาง
รวมทั้งอาจจะมีปัญหาเรื่องที่พักอาศัย เพราะเราไม่ใช่หน่วยงานในภูมิภาค เราเป็นส่วนกลาง ส่วนเจ้าหน้าที่ที่นั่นก็เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับเลขาธิการ เท่ากับเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ก็มีปัญหาว่าจะให้เขาเบิกแบบไปราชการหรือเบิกค่าเช่าบ้าน สุดท้ายผมก็ตัดสินว่าให้เป็นการเบิกค่าเช่าบ้านไป เพราะเขาไปประจำอยู่ที่นั่น
แต่พอ ก.ร.พิจารณา ในหลายเรื่องเหล่านี้ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็ตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด กลายเป็นว่า การรับร้องเรื่องราวร้องทุกข์หรือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง ก็จะไปซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ จึงมีการทบทวน
และเมื่อมีการพิจารณาเรื่องอำนาจหน้าที่ เรื่องความคุ้มค่า ก.ร.ก็เลยเห็นด้วยกับคณะกรรมการประเมินว่าให้ปิดไปก่อน
อย่างไรก็ตามเมื่อได้สภาใหม่เข้ามาใหม่ตามปกติ แล้วหากจำเป็นต้องมีสำนักงานรัฐสภาประจำจังหวัด ก็มีความเห็นว่าควรเขียนไว้ในกฏหมายให้ชัดเจน ไม่ใช่ไปเปิดแล้วกลายเป็นครึ่งๆกลางๆ รูปแบบก็ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่
ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบ ก่อนจะปิดก็จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ส่วนคณะกรรมการที่ตรวจสอบเรื่องค่าใช้จ่าย งบประมาณ ซึ่งกำลังดำเนินการตรวจสอบกันอยู่เช่นกัน