เด็กไทยเสี่ยงสารตะกั่วสูง พบมากในสีทาบ้าน-"เครื่องเล่นเด็ก"เจอด้วย
นิด้า สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการSMEs ราย พบ 95% ยินดียกเลิกใช้สารตะกั่วเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สีหากรัฐประกาศมาตรฐาน บังคับ ด้านสคบ.เล็ง กำหนดให้สีตกแต่งและสีทาอาคารเป็นสินค้าควบ คุมฉลาก- เผยเด็กไทยเสี่ยง "เครื่องเล่น" เจอด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดงานสัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่วปี 2557 "ปกป้อง IQ เด็กไทย จากภัยสารตะกั่ว" ณ ห้องจักรพันธุ์ ชั้น7 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีเด็กป่วยด้วย “โรคปัญญาอ่อนจากพิษตะกั่ว” กว่า 6 แสนคนทุกปีจากทั่วโลก สำหรับเด็กไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงจากภัยของพิษตะกั่วเช่นกัน แหล่งกำเนิดที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ สารตะกั่วที่ผสมอยู่ในสีทาบ้านหรือสีตกแต่งอาคาร ซึ่งเด็กมักได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากการกินแผ่นสีที่ลอกออกมา หรือฝุ่นสีที่หลุดร่อนจากผนังต่างๆ และไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
"ร่างกายของเด็กเล็กแตกต่างจากผู้ใหญ่คือ เด็กเล็กสามารถย่อยและดูดซึมสารตะกั่วได้ดีกว่าผู้ใหญ่ และเด็กยังเป็นวัยที่อ่อนไหวเป็นพิเศษ เนื่องจากสารตะกั่วจะเข้าไปทำลายเซลล์สมองของเด็กที่กำลังพัฒนา ซึ่งจะทำให้เด็กมีอาการผิดปกติทางสมองได้ แม้ได้รับสารตะกั่วในปริมาณเพียงเล็กน้อย"
ที่ปรึกษารมว.สธ. กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2546-2554 จากการเฝ้าระวังการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พบว่า ภาวะพิษจากโลหะหนักมัจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยแล้วปีละ 7ราย ซึ่งแบ่งเป็นพิษสารตะกั่ว55.10% แคดเมียม 14.28% ดีบุกและส่วนประกอบ 10.2% ทั้งนี้ผู้ป่วยพิษโลหะหนักส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และในเด็กพบการสัมผัสสารตะกั่วสูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่สีทาบ้าน ยังพบในเครื่องเล่นเด็ก เป็นต้น ซึ่งภาวะตะกั่วเป็นพิษป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย เพราะตะกั่วเป็นสารปนเปื้อนทั่วไป
นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการสั่งการให้มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคพิษจากสารตะกั่ว การติดตามสอบสวนค้นหาสาเหตุของโรค และเพื่อหาแนวทางการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคภัยสุขภาพโดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง
ดร.ลีวีอู เวดราสโก ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าพิษตะกั่วเป็นต้นเหตุของปัญหาทางสุขภาพที่หลากหลาย ทั้งโรคโลหิตจาง โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคของระบบสืบพันธุ์ อีกทั้งพัฒนาการทางสติปัญญาบกพร่อง และความผิดปกติเชิงพฤติกรรม เช่น โรคสมาธิสั้น ทั้งที่พิษตะกั่วเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ด้วยเหตุนี้ องค์กรอนามัยโลกจึงต้องการให้ประเทศสมาชิกทุกแห่งยกเลิกการใช้สารตะกั่วในการผลิตสี
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ตระหนักถึงอันตรายของสาระกั่วเป็นอย่างยิ่ง จึงได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ให้สีเคลือบเงามีปริมาณสารตะกั่วได้ไหม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) จากเดิม 600 พีพีเอ็ม และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงเป็นมาตรฐานบังคับด้านความปลอดภัยเรื่องโลหะหนักเป็นพิษ ซึ่งกำหนดให้มีสารตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม ไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม ซึงเป็นไปตามพันธกิจของรัฐบาลไทยที่ได้ร่วมลงมติก่อตั้งเครือข่ายความร่วมมือเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (GAELP) ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการสารเคมีอย่างปลอดภัย ครั้งที่ 2 และยินดีอย่างยิ่งที่ทราบว่าองค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้ร่วมผลักดันและกำหนดเป้าหมายให้ยกเลิกการใช้สารตะกั่วในสีในทุกประเทศทั่วโลกภายใน พ.ศ. 2563 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า”
"สารตะกั่วมักถูกใช้เป็นวัตถุดิบในสีน้ำมันทาอาคารและสีน้ำมันตกแต่ง โดยมักอยู่ในรูปของผงสีโทนสด เช่น สีเหลือง สีแดง สีเขียว ในบางกรณี สารตะกั่วยังถูกนำมาเป็นส่วนผสมของสารเร่งแห้งและสารเร่งปฏิกิริยาทางเคมี แต่เนื่องจากสารตะกั่วในสีเป็นต้นเหตุของโรคพิษตะกั่วในเด็กจำนวนมาก ปัจจุบัน รัฐบาลกว่า 40 ประเทศทั่วโลกมีกฎหมายเลิกใช้สารตะกั่วในสี และล่าสุด เมื่อธันวาคม 2556 ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ออกกฎหมายห้ามผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์สี บรรจุภัณฑ์อาหาร ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีสารตะกั่วเจือปน ภายในปี 2559"
นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารตั้งแต่ปี 2538 อันเป็นปีเดียวกันที่ประเทศไทยออกกฎหมายเพิกถอนสารตะกั่วจากน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เนื่องจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์สีเป็นเพียงมาตรฐานสมัครใจ จึงทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตาม เกือบสามสิบปีต่อมา ผลการสำรวจสีน้ำมันทาอาคาร 120 ตัวอย่างโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศเมื่อปี 2556 พบสีน้ำมันทาอาคารร้อยละ 79 มีสารตะกั่วปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แบบสมัครใจ ซึ่งกำหนดให้มีสารตะกั่วเจือปนได้ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) นอกจากนี้ พบผลิตภัณฑ์สีจำนวนมากที่แสดงฉลาก “ไร้สารตะกั่ว” แต่ตรวจพบสารตะกั่วเจือปนสูง ตั้งแต่ 230 พีพีเอ็ม ถึง 56,000 พีพีเอ็ม
ดร.ปนันดา จันทร์สุกรี รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการสีขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 129 ราย พบว่าร้อยละ 95 ยินดียกเลิกใช้สารตะกั่วเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สีหากรัฐประกาศมาตรฐานบังคับ และผู้ประกอบการเล็งเห็นประโยชน์ของมาตรฐานบังคับว่าจะช่วยป้องกันผลกระทบทางสุขภาพต่อพนักงานและลูกค้า อีกทั้งจะช่วยให้ภาพลักษณ์ของบริษัทดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสีเรียกร้องให้รัฐออกมาตรการที่ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากมาตรฐานสมัครใจไร้สภาพบังคับ อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐตรวจสอบผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด มีบทลงโทษผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานจากประเทศเพื่อนบ้าน
นายชัยสิทธิ์ บุญกัน นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ในการประชุมวันที่ 29 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากจะพิจารณากำหนดให้สีตกแต่งและสีทาอาคารเป็นสินค้าควบคุมฉลาก เพื่อบังคับให้ภาชนะบรรจุสีแสดงข้อมูลปริมาณสารตะกั่วและคำแนะนำเรื่องอันตรายทางสุขภาพจากสารตะกั่ว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค