กสม.จ่อยื่นหนังสือ 'ประยุทธ์' เร่งเยียวยาชาวเมียนมาร์จากโครงการศก.ทวาย
กรรมการสิทธิฯ จ่อยื่นหนังสือถึง ‘ประยุทธ์’ เร่งเยียวยาชาวบ้านเมียนมาร์ ก่อนเดินหน้าโครงการเศรษฐกิจทวายรอบใหม่ 'นพ.นิรันดร์' เผยเตรียมเชิญ ‘หม่อมอุ๋ย-บ.อิตาเลียนฯ’ ให้ข้อมูลต้นพ.ย. 57 ระบุต้องสร้างการมีส่วนร่วมปชช. เน้นข้อมูลข่าวสารทั่วถึง
วันที่ 21 ตุลาคม 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ สมาคมพัฒนาทวาย พร้อมชาวบ้านชุมชนทวาย ประเทศเมียนมาร์ เข้ารายงานข้อค้นพบจากการศึกษาในพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมีนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน เป็นประธาน พร้อมกับผศ.ประสาท มีแต้ม, นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, น.ส.ส.รัตนมณี พลกล้า, น.ส.สมพร เพ็งค่ำ และดร.อาภา หวังเกียรติ ร่วมรับฟัง
ทั้งนี้ ได้มีผู้แทนที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสถาบันวิจัยสภาวะสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย ส่วนบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด ในฐานะผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับการท่าเรือ เมียนมาร์ ก่อนจะกลายมาเป็นโครงการระหว่างรัฐต่อรัฐปฏิเสธเข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่าไม่อยู่ในสถานะผู้ลงทุนอีกต่อไป
นพ.นิรันดร์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นับตั้งแต่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้เข้าไปดำเนินโครงการในปี 2553-57 ข้อมูลการรับฟังคำชี้แจงจากชาวบ้านครั้งนี้มีข้อสรุป คือ สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่มาก โดยเฉพาะด้านสิทธิในที่ดินทำกิน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งมีการตัดถนน ถมที่ และขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ส่งผลให้ชีวิตตกอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมเป็นพิษ น้ำอุปโภคบริโภคขาดแคลน การเดินทางไม่สะดวก เพราะยากจน
ทั้งนี้ หากยังเดินหน้าโครงการทวายในอนาคตต่อไปนั้น ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่มิได้ปฏิเสธการพัฒนา เพียงแต่ต้องดำเนินการด้วยความมั่นคงและยั่งยืนอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เพื่อหวังให้นายทุนประกอบอาชีพร่ำรวย แต่ประชาชนกลับอดอยากยากจนจึงเสนอให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment:SEA) และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental and Health Impact Assessment:EHIA)
ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันให้โครงการดำเนินไปในทิศทางใดที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของพื้นที่และชีวิตประชาชน พร้อมกันนี้ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และเน้นหนักกรณีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเปิดเผย เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านยืนยันว่าไม่เคยมีโอกาสร่วมตัดสินใจกำหนดนโยบายเลย
นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า กรรมการสิทธิฯ จะเร่งทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเร่งดำเนินการรับผิดชอบในแง่การชดเชยเยียวยาความเสียหายทั้งหมด พร้อมเตรียมเชิญเข้ามาชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ขณะที่ผู้แทนรัฐบาลน่าจะเป็น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ หรือ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ราวต้นเดือนพฤศจิกายน 2557
Ye Lin Myint สมาคมพัฒนาทวาย กล่าวว่า โครงการได้ทำลายสิ่งแวดล้อมในประเทศ ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ดินมหาศาล โดยเฉพาะแหล่งเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลัก แม้จะมีการจ่ายค่าชดเชยเยียวยา หากไม่เป็นธรรม บางคนไม่ได้รับด้วยซ้ำไป ถึงขนาดมีข่าวลือในพื้นที่ว่า ถ้าไม่รับเงินดังกล่าวก็จะไม่ได้รับอีกเลย จึงทำให้ชาวบ้านกลัวจะไม่ได้อะไรกลับมาจึงยอม
Naw Pe The Law แกนนำภาคประชาสังคมจากชุมชนกะเหรี่ยง กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่การมาเข้าชี้แจงครั้งนี้ ไม่มีผู้แทนจากบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ซึ่งอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนแล้ว แต่เหตุใดในพื้นที่ทวายยังมีรถของบริษัทดังกล่าวทำงานในพื้นที่อยู่อีก ทั้งนี้ หากทั้งสองประเทศยังเดินหน้าโครงการต่อไป โดยไม่แก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่ เชื่อว่าอนาคตปัญหาจะทับถมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงเวลานั้น ใครจะรับผิดชอบ เพราะชาวบ้านย่อมถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตั้งอยู่ในเนื้อที่กว้างกว่า 204.51 ตารางกิโลเมตร โดยอยู่ในเขตเกษตรกรรมและห่างจากเมืองทวายไปทางเหนือประมาณ 20 กม. ทวายเป็นเมืองหลวงของแคว้นตะนาวศรี อยู่ตอนใต้ของเมียนมาร์ และอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ มาทางตะวันตกประมาณ 350 กโลเมตร
โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย เขตนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก อู่ต่อเรือ โรงกลั่นน้ำมันครบวงจร โรงถลุงเหล็ก โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงงานผลิตกระดาษ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และโรงไฟฟ้า .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เผยอิตาเลี่ยนไทยเล็งดึงชินคอร์ปร่วมทุน ดันท่าเรือทวายหลังล่าช้า-พม่าไม่พอใจ