มุมคิดปฏิรูปสื่อ 'ภัทระ คำพิทักษ์' ทำอย่างไรให้เท่าทันการเปลี่ยนเเปลง
“ภัทระ คำพิทักษ์” ชี้หัวใจการปฏิรูปสื่อ คือทำอย่างไรให้สัมพันธ์กับภูมิศาสตร์หรือนิยามของสื่อที่เปลี่ยนไป มิเช่นนั้นอาจล้มเหลว แนะสปช. สายสื่อเปิดประชุมหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมทุกฝ่าย
กรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทย 1 ใน 11 ด้าน มีเรื่องของการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงวิกฤติความขัดแย้งที่ผ่านมา สื่อฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อสาธารณะเเละไม่พยายามแสวงหาข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบผู้มีอำนาจ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) หยิบยกประเด็นปฏิรูปสื่อมาพูดคุยกับ 'ภัทระ คำพิทักษ์' อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ภัทระ ระบุว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงการปฏิรูปสื่อกันมาก โดยประเด็นที่เห็นได้ชัด ยกตัวอย่าง บางช่วงมีการเสนอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพิมพ์ พ.ศ.2484 ดังนั้นถึงเวลาเเล้วที่สื่อต้องลุกขึ้นมาทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปร่วมกัน ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้เล็งเห็นปัญหามาโดยตลอด จึงมีการเชิญกรรมการเเละนักวิชาการประชุมหารือถึงโจทย์การปฏิรูปสื่อครั้งนี้ร่วมกัน
"สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะทำการบ้านเกี่ยวกับยุทธศาสตร์องค์กรสื่อเรื่อยมา ไม่ว่าในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนเเปลงทางการเมืองหรือพูดถึงการปฏิรูปสื่อ" เขากล่าว เเละว่าที่ผ่านมามีรายงานออกมา 1 ฉบับ ซึ่งรวบรวมยุทธศาสตร์การนำเสนอข่าว อาทิ กรณีการควบคุมกันเองภายในองค์กรวิชาชีพ โดยไม่นำกฎหมายมาบังคับใช้ในการควบคุม
ภัทระ บอกต่อว่า ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เราต้องมี พ.ร.บ.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ... ซึ่งถือเป็นสิทธิประโยชน์กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลที่จะได้รับการคุ้มครองว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับบทบัญญัติบางส่วนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540-2550 ที่ยังไม่ได้ระบุไว้
"การบรรจุกฎหมายฉบับดังกล่าว จะทำให้การเขียนข่าวของสื่อมีความระมัดระวังมากขึ้นว่าจะเขียนข่าวได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นข้อตกลงและกติกาที่ถูกยกระดับขึ้นมาไว้ในทางสังคม หรือเรียกว่า 'กติกากลางระหว่างวิชาชีพ' ทำให้กระบวนการเหล่านี้มีความสำคัญมากขึ้น" เขาขยายความ
นอกจากยุทธศาสตร์ข้างต้นเเล้ว สิ่งที่่ต้องดำเนินการต่อไป ภัทระ กล่าวว่า ต้องทำ 2 ขา คือ ขาหนึ่งต้องเสนอเเนะเเนวทางต่อสภาปฏิรูปเเห่งชาติ (สปช.) เเละอีกขาหนึ่งต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานตอบโจทย์หรือไม่
เขายังกล่าวถึงข้อเสนอการปฏิรูปสื่อที่คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม รวบรวมขึ้นนั้น เบื้องต้นกระทรวงไม่มีความเข้าใจในภูมิศาสตร์ของสื่อหรือบริบทของสื่ออย่างเพียงพอ ดังนั้นหากจะมีการปฏิรูป โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานดังกล่าว ตั้งคำถามว่าอาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหากับสือเเละประชาชนหรือไม่
"ขณะนี้ภูมิศาสตร์ของสื่อเปลี่ยนไป โดยนิยามของ 'สื่อ' เปลี่ยน นอกจากนักข่าวเเล้ว คนทั่วไปก็สามารถเป็นสื่อได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางการเมือง การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เเต่เมื่อมองถึงความอยู่รอดของสื่อเอง ไม่สามารถมองเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องหันมาทบทวนกันครั้งใหญ่"
ภัทระ มองไปถึงหัวใจการปฏิรูปสื่อว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความสัมพันธ์เเละพอเหมาะพอควรกับความเปลี่ยนเเปลงในภูมิศาสตร์สื่อที่เปลี่ยนเเปลงไปเช่นนี้ หากปฏิรูปไม่เท่าทันการเปลี่ยนเเปลง การดำเนินงานทั้งหมดก็ผิดเเละล้มเหลวได้อย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้ การสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นนั้น ทั่วโลกยังมองเป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน เขาจึงเห็นว่า จำเป็นต้องอาศัยคนในเเละนอกวิชาชีพ จับมือกับภาคประชาชน ประเมินความเป็นไปดังกล่าว พร้อมกันนี้ สมาชิก สปช. ด้านสื่อมวลชน ควรต้องเปิดประชุมหารือ รวบรวม เเละเเลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การเเก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนเเปลงด้านภูมิศาสตร์สื่อ
ช่วงท้ายของการสนทนา ภัทระ ระบุถึงเเผนงานการปฏิรูปสื่อของสมาชิก สปช.ว่า ไม่เเน่ใจเกี่ยวกับเเนวทางเเละการวางเเผนทำงานจะออกมาในรูปเเบบใด รวมถึงรัฐบาล เเละคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) เอาจริงเอาจังเเค่ไหน เเต่เท่าที่สัมผัสได้ คือ การปฏิรูปสื่อครั้งนี้อาจมุ่งไปประเด็นสื่อวิทยุโทรทัศน์เเละสื่อใหม่ ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ตนเองคิดว่าได้รับการพัฒนาในระดับหนึ่งเเล้ว
ทั้งหมดนี้ คือ มุมมองการปฏิรูปสื่อของ 'ภัทระ คำพิทักษ์' ที่ชวนคิด .