“ประมนต์ สุธีวงศ์” ย้ำข้อเสนอต้านโกง หวังคอร์รัปชั่นลด ไม่ทำลายประเทศ!
“คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาโรคเรื้อรังทั่วโลก ไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีทุจริต แล้วแต่ว่ามีมากมีน้อย ... แต่เราจะทำอย่างไรให้ลดลงมาเหลือระดับที่ไม่ทำลายประเทศหรือไม่ทำลายสังคม สิ่งนี่น่าจะเป็นความหวัง ที่พอจะมีความหวังได้”
รัฐบาล“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประกาศให้เรื่องป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนแห่งชาติ และแทรกอยู่ในหัวข้อการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน
แต่คำถามคือ รัฐบาลและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จะปราบการโกงให้ลดลงอย่างไรและด้วยและวิธีใด ในห้วงเวลา 1 ปีแห่งการปฏิรูป?
“ ประมนต์ สุธีวงศ์” สมาชิกสปช. ในฐานะประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์พิเศษ ถึงข้อเสนอการต่อต้านคอร์รัปชั่นผ่าน “สำนักข่าวอิศรา” ว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นศึกษาเรื่องการแก้ไขหรือปรับปรุงเพื่อจะให้กระบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยลดลง โดยมีรณรงค์หาความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ สังคม และวิชาการ และภาคธุรกิจ ซึ่งเห็นตรงกันว่ามี 5-6 แนวทาง ที่จะต้องมีการปรับปรุง
เรื่องแรกคือ กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายในบางเรื่องที่ยังเป็นอุปสรรคทำให้การกำจัดการทุจริต เช่น กระบวนการยุติธรรมบางส่วนที่ค่อนข้างล่าช้าตั้งแต่มีการไต่สวนไปจนถึงการจับผู้กระทำผิด
“ล่าช้าในที่นี่ไม่ได้ช้าที่ศาล แต่ช้าตั้งแต่มีการไต่สวน จับผู้ทำผิด ย้อนไปดูในอดีตใช้เวลา 10-20 ปี กว่าจะตัดสินได้ ทำให้มีความรู้สึกว่าการทุจริตไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนที่ทำทุจริต เพราะเขาซื้อเวลาได้ และมีความหวังว่าเมื่อถูกจับ ก็อาจจะไม่มีความผิดด้วยซ้ำไป”
“ประมนต์” บอกว่า ไม่นานมานี้มีการลงนามในข้อตกลงในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 หรือ UNCAC 2003 (United Nations Convention Against Corruption) เพื่อร่วมมือกันต่อต้านคอร์รัปชั่นร่วมกัน เพราะยังมีกฎหมายหลายฉบับที่ไทยยังไม่ได้ทำเพื่อที่จะตอบสนองข้อตกลงดังกล่าว
ยกตัวอย่าง กรณีที่มีการพูดกันว่าอายุความของผู้ทุจริตควรมีมากน้อยเท่าไหร่ ของไทยยังไม่สอดคล้องกับสากล ผมเข้าใจว่าของเรา 15 ปีก็หมดอายุความ แต่ที่อื่นมี 20, 25, 30 ปี ตามแต่ความผิดว่าร้ายแรงขนาดไหน รวมทั้งข้อตกลงแลกเปลี่ยนผู้กระทำผิดความผิดข้ามแดนเราก็ยังไม่มี
“กรณีที่ทำผิดแล้วหลบหนี เราไม่สามารถเรียกร้องให้ต่างชาติส่งตัวมารับโทษในประเทศไทยได้ หรือกรณีที่ทรัพย์สินถูกย้ายออกไปต่างประเทศก็เช่นกัน ยังไม่มีสัญญาหรือกฎหมายรองรับ ไม่สามารถเรียกคืนได้ กว่าจะตัดสินได้ก็ยาวนานหรือตัดสินแล้วหลบหนีออกไปอยู่นอกประเทศก็ไม่สามารถตามตัวมาลงโทษได้”
“ฉะนั้นก็มีกฏหมาย 2-3 ฉบับที่กระทรวงยุติธรรมได้ยกร่างไว้แล้วเพื่อให้สอดคล้องกับ UNCAC ที่พูดเรื่องอายุความและการแลกเปลี่ยนผู้กระทำผิด ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)”
ต่อมาคือประเด็นกระบวนการยุติธรรม “ประมนต์” เห็นว่า ต้องมองให้กว้างกว่าการพูดกันว่าจะต้องปฏิรูปหน่วยงาน ตำรวจ อัยการ และศาล แต่มีการพูดกันในทำนองที่ว่าควรจะมีศาลพิเศษเพื่อรับเรื่องคอร์รัปชั่นโดยตรงมั๊ย เพราะวันนี้ศาลมีคดีเยอะมาก คดีมโนสาเร่ก็เยอะ คดีสำคัญก็ไม่สามารถแยกออกมาได้ แต่หากมีศาลพิเศษก็น่าจะทำให้การพิจารณาเรื่องเหล่านี้รวดเร็ว
เรื่องต่อมาคือ การทำให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของรัฐบาล หมายความว่า รัฐบาลควรจะเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นข้อมูลที่ประชาชนควรจะรับทราบ เช่น เรามีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ. 2540 ก็เขียนไว้ว่าควรมีข้อมูลประเภทไหนบ้างที่เปิดเผย
“แต่ในทางปฏิบัติจริงไม่เกิดขึ้น ข้อมูลก็ยาก มีอ้างเรื่องความลับ ซึ่งในกฎหมายประเภทนี้มีบอกว่าอะไรที่เป็นความลับก็ไม่ควรเปิดเผย แต่ต้องมีความชัดเจนว่าขอบเขตอยู่แค่ไหน สิ่งที่เราคาดหวังอยากจะเห็นก็คือ ถ้าปรับปรุงพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น เช่น การใช้งบประมาณของรัฐในโครงการต่างๆ ใช้งบประมาณเท่าไหร่ สร้างที่ไหน อยากให้มีข้อมูลเหล่านี้เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนสนใจเข้าไปดูได้”
“ผมหวังว่านี่เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้การทุจริตในวงการนี้ลดลง เพราะเมื่อตัวเลขออกมาคนก็มองเห็น คนที่ประมูลได้งานหน้าซ้ำๆอยู่เรื่อยก็ฟ้องว่ามีอะไรน่าสงสัยหรือไม่ หรือวิธีการประมูลถูกต้องหรือไม่ เหล่านี้เราคิดว่าต้องมีข้อมูลชัดเจน” ประมนต์ กล่าว
นอกเหนือจากนั้นยังมีการหารือว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าไปตรวจสอบหรือเป็นผู้ดูการกระทำของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างใหญ่ๆ มีข้อเสนอที่เราทำไว้เรียกว่าข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact ) เราไปศึกษามาจากองค์กรโปร่งใสนานาชาติ หลักการคือ หากคุณจะมีการประมูลงานใหญ่นอกเหนือจากรัฐซึ่งเป็นเจ้าของงานหรือผู้เข้าประมูล จะต้องมีกลุ่มบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมด้วย มาเป็นผู้สังเกตการณ์ว่ากระบวนการที่ทำถูกต้องหรือไม่
“คนเขียนทีโออาร์เป็นอย่างไร ให้เปรียบใครหรือเปล่า เวลาเชิญคนมาเข้าประมูลครบถ้วนหรือไม่ หรือกีดกันคนอื่นมีแต่เฉพาะพรรคพวกตัวเอง เพราะสิ่งที่เกิดบ่อยครั้งคือ งานจริงกับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างไม่ตรงกัน มีการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ฉะนั้นน่าจะมีกระบวนการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม”
ซึ่งขณะนี้กำลังจะมีการนำเรื่อง Cost (Construction Sector Transparency Initiative )มาใช้ เป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดยประเทศอังกฤษ ลักษณะการทำงานคล้ายกับที่ผมพูดเมื่อสักครู่แต่จะเน้นเรื่องการก่อสร้างโดยเฉพาะ
ล่าสุด ขณะนี้ทางซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจเห็นชอบที่จะให้นำเครื่องมือนี้มาใช้กับโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 ซึ่งกำลังเตรียมการกัน ซึ่งนอกจากเปิดเผยข้อมูลแล้วจะต้องให้มีกลุ่มบุคคลที่3 ที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเข้ามามีส่วนร่วม
เรื่องที่สามคือ หน่วยงานอิสระที่ปราบปรามทุจริต เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น(ป.ป.ช.) หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ควรจะได้รับการยกเครื่องหรือปรับปรุงบ้าง รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ
“ยกตัวอย่าง ที่มาของป.ป.ช. ที่กำหนดไว้เดิมเหมาะสมหรือไม่ อายุการทำงานเป็นอย่างไร เราจะช่วยทำให้มีความเข้มแข็งได้อย่างไร หรือหากการทำงานขององค์กรอิสระอยู่กับฝ่ายบริหาร ก็อาจจะถูกขัดแข้งขัดขาได้ เหล่านี้เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นก็อาจจะมีการปรับปรุง”
“ประมนต์” กล่าวต่อว่า เรื่องที่สี่คือ การที่จะได้มาซึ่งนักการเมือง ทั้งด้านการเมืองหรือการบริหารการปกครอง สิ่งที่หวังก็คือ จะได้ผู้การบริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาดีกว่าที่ผ่านมา
“เรื่องนี้อยากเสนอแนะว่า การได้มาซึ่งนักการเมืองในอนาคตควรเป็นอย่างไร ทำอย่างไรให้การซื้อสิทธิขายเสียงลดลงหรือว่าไม่เกิดขึ้น หรือคนดีที่มีโอกาสอยากเข้ามาทำงานจะมีโอกาสได้อย่างไร ซึ่งจะต้องไปทำงานร่วมกับทางภาคการเมืองที่เขาดูเรื่องนี้”
สำหรับเรื่องสุดท้าย “ประมนต์” มองว่า รัฐบาลจะต้องมีโครงการระยะยาวที่ปลูกฝั่งประชาชนการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง ต้องทำให้เห็นถึงความเลวร้าย ไม่ยอมรับการทุจริตออกมาในรูปแบบของแคมเปญผ่านสื่อทีวี หนังสืออย่างต่อเนื่อง
“สำคัญที่สุดคือ เรื่องที่เราทำทั้งหมดจะไม่ยั่งยืนเลยหากพฤติกรรมของคนไม่เปลี่ยนแปลง ยังไม่คิดว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องสำคัญและไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ก็ไม่ยั่งยืน แต่หากเริ่มทำตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ที่จะโตขึ้นมาในอีก 20 ปีข้างหน้า เขาก็จะได้มีความรู้สึกว่าเรื่องการทุจริตเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นเมื่อเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้องเขาก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้ ดังนั้นหากประชากรของประเทศเห็นว่าไม่ควรยอมรับการทุจริต ก็จะทำให้เกิดการแก้ไขอย่างถาวร”
ถามว่า ที่ผ่านมางานต้านโกงขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทยเกิดมรรคผลแค่ไหน? เขาตอบว่า ...ได้ผลในระดับหนึ่งและมีผลในเชิงบวกมากพอสมควร
“มองย้อนไปเมื่อ4-5 ปีที่แล้วเราเริ่มรณรงค์เรื่องนี้ ตอนนั้นความรู้สึกของประชาชนบอกว่าทุจริตก็ช่างเถอะ ไม่ใช่เรื่องของฉัน และยังมีประเด็นบอกว่าถ้าตราบใดที่ฉันได้ประโยชน์ด้วย ก็ไม่ว่ากัน”
“แต่หลังจากเราสร้างแคมเปญ จัดสัมมนา ก็มีผลในเชิงบวกมากพอสมควร ล่าสุด จากการสำรวจคนทั่วไปพบว่าทัศนคติเริ่มเปลี่ยน ถามว่า รับการทุจริตได้มั๊ย คำตอบที่ได้มาคือการยอมรับน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับ 4 ปีที่ผ่านมา”
ประธานต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย ชี้ว่า ตัวแปรที่สำคัญที่ประชาชนตื่นตัวมากขึ้นเกิดจากกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
“ตอนที่เราเริ่มรณรงค์หลายคนก็เห็น แต่ไม่ได้เข้าไปในหัวใจ แต่พอมีพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทำให้จุดกระแสคนลุกฮือขึ้นมา ส่งผลให้พฤติกรรมและความนึกคิดของคนเปลี่ยนไปเยอะ ฉะนั้นผมคิดว่าถ้าให้วัดว่าเราทำอะไรสำเร็จมั๊ย ก็ต้องถือว่าเรามีส่วนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”
ทว่าในเชิงการปฏิรูป “ประมนต์” กล่าวว่า การทำเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่นต้องทำไปพร้อมๆกันหลายเรื่องกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยของสมาชิกสปช.
“ผมเองยังไม่ทราบว่าสปช. จะทำงานอย่างไร แต่หลังจากเปิดประชุมเช้าวันนี้แล้ว คงต้องปรึกษากันว่ากระบวนการทำงานเป็นอย่างไร หากเป็นอย่างที่ผมคาดหวัง คงมีตั้งกรรมาธิการเหมือนสนช. อย่างน้อยก็ต้องมี11 ด้าน เนื่องจากเรื่องทุจรติไม่ได้กำหนดชัดเจนในหัวข้อการปฏิรูป11 ด้าน แต่นายกฯพูดเสมอว่าเรื่องทุจริตอยู่ในทุกด้าน”
“ผมมีความคาดหวังว่าน่าจะมีกรรมการชุดหนึ่งที่มาทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ หากเป็นจริง ไม่ว่าสมาชิกกรรมาธิการจะมีกี่ท่านก็แล้วแต่ เชื่อว่าจะมาช่วยกันทำงานเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าในสมาชิกสปช.ทุกคน คงไม่มีใครปฏิเสธในการแก้ไขเรื่องนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องที่ถกเถียงกันเหมือนเรื่องการเมือง
“ถ้าจะถกเถียงคงมีว่า ทำไมไม่ทำอย่างนี้ อย่างนั้น ซึ่งผมยังหวังว่าเราจะมีวิธีการหาข้อยุติที่เป็นความเห็นคนส่วนใหญ่ได้และจะพยายามทำให้เสร็จรวดเร็ว ส่วนไหนแก้ไขได้โดยระบบจัดการบริหาร ก็เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อให้นำไปปฏิบัติเลย ส่วนไหนต้องแก้กฎหมายก็ต้องไปที่สนช. ที่ยากที่สุดคือ หากต้องร่างกฎหมายใหม่เพื่อจะให้เกิดมรรคผลคงต้องใช้เวลา ฉะนั้นช่วง1ปีคงสั้น แต่นี่คือโจทย์ที่ท้าทาย” ประมนต์ กล่าว
เมื่อถามว่า อะไรคือโจทย์ใหญ่ประเทศไทยที่ควรปฏิรูปที่สุด?
สมาชิกสปช. ตอบทันทีว่า “ผมไม่สันทัดการมองภาพใหญ่ เพราะมีทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แต่ความมุ่งหวังของผมขณะนี้คืออยากทำเรื่องนี้ ซึ่งเป็นหัวใจ ทำอย่างไรที่จะลดการทุจริตคอร์รัปชั่นลงได้ ผมมีความเชื่อมั่นว่า นี่คือสิ่งสำคัญอันหนึ่ง หากเราแก้ตรงนี้ได้ ปัญหาอื่นๆที่มีอยู่วันนี้ ก็จะได้รับการผ่อนปรนไปโดยปริยาย”
"เพราะรากเหง้าของปัญหาหลายเรื่องมีพื้นฐานมาจากการทุจริต หากการทุจริตถูกตัดทอนออกไป ปัญหาอื่นก็เบาบางลง ถ้าซื้อเสียงเข้ามาไม่ได้ปัญหาการเมืองก็ลดลง ถ้าไม่ทุจริตปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ลดลง ผมมองว่าถ้าผมช่วยตรงนี้ได้ ผมไม่ต้องไปมองเรื่องอื่นที่หนักหนาสาหัสมากนัก เพราะเรามีเวลาเท่านี้ เราแก้ปัญหาตรงนี้เสียก่อน ถ้าคนอื่นแก้ปัญหาเรื่องอื่นได้ก็จะยิ่งดี”
กับคำถามว่า หนักใจมั๊ยหรือไม่?
เขาตอบว่า “ผมหนักใจที่อยากจะเห็นผล แต่ไม่กดดันแต่จะช่วยกันพยายามทำให้ดีที่สุด ถ้าไม่เป็นไปตามคาดหวังก็ถือว่าเป็นความโชคร้าย แต่ผมยังเชื่อว่า คนที่จะมาร่วมกันในสปช. คงจะทำอะไรได้บ้าง อาจไม่100% แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
กับคำถามสุดท้าย ...การทุจริตคอร์รัปชั่นจะหมดไปจากสังคมไทยได้จริงหรือ?
“มันไม่หมดไปหรอก เพราะคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาโรคเรื้อรังทั่วโลก ไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีทุจริต แล้วแต่ว่ามีมากมีน้อย แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ ทำให้คนของเรา ให้ระบบของเราตื่นตัวกับเรื่องนี้พอที่เก็บ หรือกดมันไว้ ไม่ใช่เป็นอย่างปัจจุบันที่โรคนี้แพร่หลายเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว"
"เราจะทำอย่างไรให้ลดลงมาเหลือระดับที่ไม่ทำลายประเทศหรือไม่ทำลายสังคม สิ่งนี่น่าจะเป็นความหวัง ที่พอจะมีความหวังได้” ประมนต์ สุธีวงศ์ สรุปทิ้งท้าย