ทีดีอาร์ไอแนะเร่งสร้างบุคลากรท่องเที่ยว สร้างโอกาสแรงงานไทยรับเออีซี
นักวิชาการแนะภาคท่องเที่ยวไทยในบริบทใหม่เออีซีเร่งสร้างบุคลากรรองรับให้เพียงพอ ยกระดับความพร้อมภาษาต่างประเทศ หวั่นถูกแย่งงานจากประเทศที่พร้อมกว่า
ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงความท้าทายของแรงงานไทยเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยระบุว่า สำหรับประเทศไทยเมื่อรวมตัวเป็นประเทศอาเซียนแล้วในปลายปี 2558 ยังไม่ต้องห่วงมากนักเกี่ยวกับ 7 วิชาชีพที่ได้ทำข้อตกลงกันเอาไว้คือ แพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกรรม ช่างสำรวจ สถาปนิก พยาบาล และวิชาชีพบัญชี ซึ่งทุกกลุ่มจะมีสภาวิชาชีพดูแลอยู่แล้วตามกติกา
เมื่อเริ่มเคลื่อนย้ายบุคลากรเสรีปลายปีหน้าทุกประเทศที่สนใจที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายและกฎระเบียบในการประกอบวิชาชีพเหล่านี้ในประเทศไทยอยู่ดีเเละว่าขณะเดียวกันแรงงานฝีมือของไทยปกติไปทำงานในประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าประเทศไทยคือประเทศสิงคโปร์เป็นหลัก
ส่วนการขาดแคลนบุคลากรในบางสาขา นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ยกตัวอย่างสาขาด้านที่เกี่ยวข้องกับช่างเทคนิคหรือช่างฝีมือชั้นสูง ทุกวันนี้มีแรงงานจากต่างประเทศทำงานอยู่ในประเทศไทยนับหมื่นคนอยู่แล้วภายใต้กรอบกติกาการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยหรือในกรณีที่ขาดแคลนบุคลากรด้านการศึกษาและ/หรือการวิจัยก็สามารถนำเข้าและขอใบอนุญาตทำงานได้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรจากต่างประเทศทำงานในภาคการศึกษานับหมื่นคน
ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าห่วงคงเป็นอาชีพอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้ทำข้อตกลงกับประเทศในกลุ่ม 10 ประเทศไปแล้วคือ ได้มีการลงนามตามกรอบความร่วมมือแห่งอาเซียนใน 6 สาขาอาชีพ (32 ตำแหน่งงาน) ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยว(MRA- Tourism Professional (TP)) ประกอบด้วย...
ด้านบริการโรงแรม (Hotel Services) มีแผนกต้อนรับ แผนกแม่บ้าน แผนกอาหาร แผนกอาหารและเครื่องดื่ม
ด้านการเดินทาง (Travel Services) งานบริษัททัวร์ และตัวแทนท่องเที่ยว ซึ่งมีคนทำงานอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวในอาเซียนมากกว่า 25 ล้านคน
เมื่อพิจารณาสภาพตลาดแรงงานด้านท่องเที่ยวพบว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียนนี้ ประเทศไทยขาดแคลนมากที่สุด ขณะที่มาเลเซียขาดแคลนบางสาขา ขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีแรงงานส่วนเกิน
"จากข้อมูลปี 2556 ประเทศไทยมีแรงงานทำงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากกว่า 4.8 ล้านคนจากจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 24 ล้านคน กระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวของไทยทั่วประเทศ ซึ่งบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของไทยยังมีจุดอ่อนที่สำคัญคือ ด้านภาษาต่างประเทศและความสนใจในอาชีพด้านการท่องเที่ยว" นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว เเละว่าถ้าจะเทียบกับประเทศที่มีแรงงานส่วนเกินจำนวนมาก และมีประสบการณ์อยู่ในกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่า ซึ่งประเทศเหล่านี้มีแรงงานระดับล่างทำงานอยู่ในประเทศอาเซียนอยู่แล้ว อาทิ แรงงานอินโดนีเซีย พม่าและไทยทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียรวมหลายล้านคน รวมทั้งบางอาชีพในประเทศสิงคโปร์
ขณะที่แรงงานเวียดนามทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียอยู่หลายแสนคนและมีบางส่วนลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทยในภาคบริการเป็นส่วนใหญ่มากกว่า 5 หมื่นคน ขณะที่แรงงานพม่าทำงานที่ประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และทำงานอยู่ในมาเลเซียหลายแสนคน อย่างไรก็ตาม แรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้ทำงานอยู่ในประเทศอาเซียนบางส่วนถูกกฎหมายบางส่วนผิดกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนมากที่ลักลอบทำงานอยู่ในภาคบริการโดยเฉพาะภัตตาคาร ร้านอาหาร และกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สำคัญมีบางประเทศในอาเซียน อาทิ ประเทศฟิลิปปินส์มีความพร้อมเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาทำงานในสาขาบริการ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการต้อนรับ งานนักร้อง งานแม่บ้าน งานด้านบริหาร เป็นต้น ซึ่งอาศัยความได้เปรียบด้านภาษาอังกฤษ และเป็นภาษากลางของอาเซียน และความมุ่งมั่นในการทำงานในต่างประเทศมากกว่าหลายประเทศในอาเซียน
อีกประเทศที่น่าจับตามากที่สุดคือ แรงงานจากประเทศเวียดนามมีการเตรียมพร้อมเรียนภาษาอังกฤษในหลักสูตรเป็นปีๆ และบางส่วนยังเรียนภาษาไทยอีกด้วย กอรปกับประเทศสังคมนิยมเวียดนามมีจำนวนแรงงานมาก มีค่าแรงที่ต่ำกว่าประเทศไทยมาก จึงมีโอกาสเข้ามาแย่งงานที่คนไทยเกี่ยงกันทำในหลายตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว
"ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานทั้งระดับฝีมือและกึ่งฝีมือ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการจัดการเรียนการสอน มีผู้จบการศึกษาเกี่ยวกับสาขาการท่องเที่ยวในระดับประกาศนียบัตรจนถึงระดับปริญญาตรีจำนวนมากก็จริง แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจทำงานในภาคบริการโดยเฉพาะการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพราะบางคนที่จบคิดเลยเถิดว่าเป็นงานที่ หนัก ต่ำต้อย ไร้ศักดิ์ศรี และไม่มีอนาคต"
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า โดยสรุปประเทศไทยอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว แต่เนื่องจากขาดความพร้อมของบุคลากรโดยเฉพาะด้านภาษาอังกฤษและภาษาประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งภาษาอื่นๆ จากนักท่องเที่ยวนอกอาเซียน อีกทั้งผู้จบการศึกษาเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคิดแต่เพียงว่าเรียนอะไรก็ได้จบง่ายๆแต่เมื่อจบแล้ว "เสียของ" ไม่สนใจทำงานในสาขาเกี่ยวกับท่องเที่ยว
ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่มีความมุ่งมั่น (Commitment) ที่จะเร่งพัฒนาบุคลากรเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในที่สุดประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประเทศอาเซียนไม่มากดังที่คาดหวังไว้ แต่อาจเสียเปรียบให้กับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในอาเซียนที่มีความพร้อมกว่าประเทศไทยดังที่ได้กล่าวมา
"การเร่งจัดทำมาตรฐานสมรรถนะและทดสอบสมรรถนะให้กับแรงงานไทยที่ทำงานและที่คาดว่าจะเข้ามาทำงานจะทำให้แรงงานไทยมีความพร้อมที่จะแข่งขันได้กับทุกฝ่ายที่จ้องจะแย่ง 32 ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพท่องเที่ยวโดยเฉพาะในประเทศไทย" ดร.ยงยุทธ ทิ้งท้าย .