"ภาษีมรดก เก็บแบบเมตตาธรรม เป็นคุณแก่นายทุนเยอะนะ" มุมมองศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์
"หากจะถามเศรษฐีเมืองไทยเห็นด้วยหรือไม่ กับการเก็บภาษีมรดก คุณต้องถามจะเลือกแบบไหน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีการยกเว้น ในมาตรา 42 (10) เอาไหมมาจำกัด - ยกเลิกข้อยกเว้นตรงนี้ หรือจะเก็บภาษีมรดก ซึ่งถูกกว่าเยอะ"
ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ หนึ่งในบุคคลที่ใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือคนพิการและผู้ด้อยโอกาสอย่างจริงจังมาโดยตลอด นับเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีอากร นอกจากเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว วันนี้สวมหมวกอีกใบก้าวเข้ามาทำหน้าที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสังคม
อาจารย์วิริยะ เปิดเผยกับ “สำนักข่าวอิศรา” ถึงความตั้งใจการทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะจะผลักดัน “การสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” 4 เรื่องหลัก ได้แก่
1.การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อสำหรับทุกคน
“ผมพยายามทำมาตลอด และที่บรรลุผลไปแล้ว 1 เรื่อง คือการจัดซื้อรถโดยสาธารณะเอ็นจีวี 3 พันคันของขสมก. ซึ่งต้องขอบคุณ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้เป็นรถเมล์ชานต่ำทั้งหมด เราสู้มาหลายปี ตอนแรกๆ ยอมให้เป็นรถเมล์ชานต่ำครึ่งเดียว ปัจจุบันนี้ให้ทั้งหมดแล้ว”
2.การขจัดการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรม เช่น เรื่องการดูถูกเหยียดหยาม
3.ส่งเสริมงานจิตอาสา
และ 4.สร้างชุมชนให้แข็งแรง ให้สามารถยืนได้ด้วยขาตัวเอง โดยปรับเปลี่ยนสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้เงินของคนจนกลับสู่คนจน
“พอจะเก็บภาษีมรดกบ่นกันเชียว แล้วทีเก็บภาษีสลากกินแบ่งฯ 28% ทำไมไม่คืนกลับไปใช้เรื่องการศึกษา พัฒนาคนไม่มีโอกาส ทำไมเข้าหลวง เงินก็วิ่งไปหาคนรวยเหมือนเดิม”
สำหรับเรื่องการเก็บภาษีมรดก ที่กำลังผลักดันออกมาเป็นกฎหมายนั้น โดยอัตราการเก็บภาษีมรดก จะเก็บอัตราสูงสุดไม่เกิน 10% สำหรับวงเงินมรดกสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป
ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายที่เห็นว่า การเก็บอัตราเริ่มต้นน่าจะต่ำกว่า 10% รวมถึงควรขยายวงเงินไปที่ 100 ล้านบาทขึ้นไป อาจารย์วิริยะ ยืนยันว่า เขาไม่เห็นด้วย หากขยายวงเงินไป 100 ล้านบาท เพราะตัวเลขยิ่งถ่างออกไปอีก เก็บภาษีได้น้อยไปใหญ่ แล้วในที่สุดคนก็จะบอกว่า เก็บได้น้อยไม่คุ้ม
“ผมไม่เห็นด้วย แล้วเวลาคนจนคุณขูดรีดจังเลย ภาษีของคนจน ก็คือหวย เก็บ 28% ส่วนอัตราภาษีมรดกที่จะจัดเก็บจะอยู่ที่ 10% นิดเดียวเอง”
เมื่อถามถึงรายได้รัฐที่คาดว่าจะเก็บได้ จากภาษีมรดก ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ 2,000 -3,000 ล้านบาทนั้น ศ.วิริยะ บอกว่า “ไม่ง่ายที่จะได้ขนาดนั้น “ผมว่า 1,000 ล้านบาทก็หรูแล้ว”
“แต่ภาษีมรดกมีผลข้างเคียง (side effect) ที่ดี คนรวยก็จะไปทำประกันชีวิตมากขึ้น เช่น ทำประกันชีวิตให้ลูก จ่ายเบี้ยปีละ 2-3 ล้านบาท เวลาเสียชีวิต การจ่ายเงินชดเชยจะไม่ถือเป็นมรดก เพราะได้หลังจากตาย ซึ่งจะเห็นว่า ในต่างประเทศมีคนทำประกันชีวิตเยอะมาก ธุรกิจประกันก็จะบูม รวมถึงมูลนิธิ ก็จะบูม คนนำความมั่งคั่งไปใส่ไว้ในมูลนิธิ เราจึงเห็นกรณี บิล เกตส์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ ตั้งมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ เป็นต้น”
เมื่อถามว่า จะฝันไปหรือไม่ ที่เราจะเห็นกรณีแบบบิลเกตส์ เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้น ศ.วิริยะ มองว่า หากอัตราการเก็บภาษีมรดกแค่ 5-10% ก็ไม่มีทาง เพราะสหรัฐฯ เก็บภาษีมรดกถึง 50% ประเทศไทยเก็บแค่ 10% แทบไม่มีผลกระตุ้นอะไรมากเลย
แล้วการเก็บภาษีมรดก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้หรือไม่ สศ.วิริยะ มองว่า เปรียบเหมือนเราไปดึงเงินจากคนรวยมากๆ มาช่วยคนจนมากๆ โดยเฉพาะการนำเงินที่เก็บได้จากภาษีมรดก มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง (Earmarked taxes) สามารถทำได้ เติมเข้าไปในกฎหมายหน่อยเดียวไม่ได้ยุ่งยากอะไร เช่น ใช้เพื่อการศึกษา เป็นต้น
“การเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อหวังลดความเลื่อมล้ำ เก็บมาใส่กลับไปในระบบ เงินก็วิ่งเข้าหาคนรวยเหมือนเดิม อย่าลืมว่า งบประมาณกระตุ้นการลงทุน ก็ทำให้เกิด GDP ซึ่ง GDP 100 บาท วิ่งไปที่คนรวยสุด 20% บน ไปถึง 50% ส่วนข้อท้วงติง เก็บภาษีมรดก ยุ่งยาก เก็บไปก็ไม่คุ้ม ถามว่า ทีกรณีคดีโด่งดัง น้องสาวยกหุ้นให้พี่ชาย คุณยังไปไล่บี้เก็บ ทำไมตอนนั้ไม่บอกว่า เก็บทำไมมันนิดเดียวเหมือนกัน
หากจะถามเศรษฐีเมืองไทยเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีมรดก ศ.วิริยะ บอกว่า คุณต้องถามว่า จะเลือกแบบไหน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่คุณต้องเสียอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีการยกเว้น ในมาตรา 42 (10) เอาไหมมาจำกัด หรือยกเลิกข้อยกเว้นตรงนี้ดีหรือไม่ หรือจะเก็บภาษีมรดก ซึ่งถูกกว่าเยอะ
“หากใช้ภาษีเงินได้อย่างไรเศรษฐีเมืองไทยก็โดนอยู่แล้ว 35% แม้กระทั่งโครตเพชร หรือสะสมปืน พระเครื่อง ก็โดนหมด แต่ภาษีมรดกไม่เก็บ แถมยังเก็บอัตราที่ต่ำกว่า อีกทั้งเก็บเฉพาะทรัพย์สินที่มีทะเบียน หากมีการพูดคุยทำนองนี้ ในเชิงเปรียบเทียบจะทำให้การเก็บภาษีมรดกเป็นบุญเป็นคุณแก่นายทุนเยอะนะ
การเปรียบเทียบระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาตรา 42 (10) กับภาษีมรดก แบบนี้เราจะสามารถอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจดีขึ้น พูดถึงภาษีมรดกอย่าพูดมิติเดียว ต้องเชื่อมโยงกัน บางประเทศไม่ได้เก็บภาษีเงินได้อย่างเดียว เก็บภาษีมรดกด้วย สุดท้ายเมื่อเห็นภาพเชื่อมโยงแบบนี้ การที่เมืองไทยจะเก็บภาษีมรดก ถือว่า เก็บแบบเมตตาธรรมนะ ”