สนช.สมัครร่างรธน.แล้ว 4 คน-“วิทวัส” เผยเสียงส่วนใหญ่หนุนทำประชามติ
สนช. สมัครนั่ง กมธ.ยกร่างรธน.ใหม่แล้ว 4 คน ปิดวันที่ 30 ต.ค.นี้ “วิทวัส” เชื่อฉบับใหม่ปรับปรุงให้ดีกว่าของเก่า ยันไม่มีการกีดกันพรรคใดพรรคหนึ่งห้ามลงเล่นการเมือง เหตุสังคมโลกจับตา-ทำยาก ชี้ช่วง มี.ค.-พ.ค. ขัดแย้งหนักปม ม.35 รธน.ชั่วคราว เผยเสียงส่วนใหญ่หนุนให้ ปชช. โหวตลงประชามติรับ-ไม่รับ
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 นายวิทวัส บุญญสถิตย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สนช.) ปี 2557 อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ปี 2550 เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีการคัดเลือก สนช. เข้าไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขั้นตอนของเราคือให้โอกาส สนช. เข้ามาสมัครจนถึงวันที่ 30 ตุลาคมนี้ หากมีผู้สมัครเกิน 5 คน เราก็จะมีการโหวตกันในสภา แต่ถ้าไม่ถึง 5 คน เราก็จะหาคนที่สมัครใจประกาศรับอีกสักนิดหนึ่ง เพื่อที่จะนำ 5 คนนี้ไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
“ตอนนี้เท่าที่รู้วันก่อนมี สนช. มาสมัครแค่ 4 คน แต่ตอนนี้ผมไม่ได้ตามเรื่องว่าปัจจุบันมีกี่คน ส่วนสายทหารไม่แน่ใจว่ามีเข้ามาสมัครบ้างไหม เพราะไม่ได้ถามเขาว่ามีใครบ้าง” นายวิทวัส กล่าว
เมื่อถามว่า เคยเป็น สสร. ปี 2550 มาก่อน มองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็นอย่างไร นายวิทวัส กล่าวว่า ต้องไปดูว่าในรัฐธรรมนูญปี 2550 ข้อไหนเป็นจุดอ่อนบ้าง ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ ก็คงจะหยิบยกมาดู และคงจะมีการเขียนต่าง ๆ ให้ดีกว่าเก่า ถ้าเขียนไม่ดีกว่าเก่า เดี๋ยวก็เกิดปัญหาอีก เช่น ประเด็นไหนมีข้อขัดแย้งสูง ก็ต้องคุยกันว่า ตรงนี้น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งคงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าเดิม
นายวิทวัส กล่าวด้วยว่า สำหรับบางฝ่ายที่มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจมีการเขียนกีดกันพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไม่ให้ลงเล่นการเมืองนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะสังคมโลกจับตาอยู่ มันไม่ง่ายแบบนั้น คือบางคนต้องการให้เขียนแบบนี้เพื่อให้พรรคหรือตัวเองได้เปรียบ แต่บางคนหรือบางพรรคไม่เอา ต้องการเขียนแบบนั้นเพื่อให้ได้เปรียบ ซึ่งจุดนี้เราจะหาข้อตกลงกันให้ได้ และต้องดูว่าแบบไหนดีที่สุดสำหรับสังคมไทย
เมื่อถามว่า หากมีข้อขัดแย้งบานปลายจะใช้เวลาร่างนานหรือไม่ นายวิทวัส กล่าวว่า เรื่องนั้นมันมีระยะเวลาของมัน แต่คิดว่าคงจะลากยาวไปถึงเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคมปี 2558 ซึ่งช่วงนั้นแหละที่อาจจะมีอะไรแรง ๆ ออกมา เนื่องจากในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่มีนโยบาย 10 ประการ เช่น ห้ามประชานิยม เป็นต้น
“ถามผมว่าประชานิยมเลวร้ายไหม ผมว่าประชานิยมต้องทำช่วงสั้น ๆ ไม่ใช่ทำช่วงยาว ประชานิยมไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ต้องทำแล้วหยุด ไม่ใช่ทำแล้วเลยเถิด มันไม่ได้” นายวิทวัส กล่าว
นายวิทวัส กล่าวอีกว่า ส่วนที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีการเปิดให้ประชาชนลงประชามติหรือไม่นั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้บอกไว้ แต่ท้ายสุดคงจะมีการเปิดให้ลงประชามติ เพราะมี สนช. หลายคนสนับสนุนให้ลงประชามติด้วย ไม่อย่างนั้นส่วนหนึ่งอาจถูกประชาชนต่อต้าน แต่ที่สำคัญคือหากทำประชามติจะทำอะไรต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
“อาจจะมีการเปิดให้ลงประชามติ เพราะมันจะทำให้ทำอะไรต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น แต่พอลงประชามติ บางทีเสียงที่มันมาเขาก็บอกว่าเป็นเสียงจัดตั้งอีก ตรงนี้มันก็อย่างว่า” นายวิทวัส กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายวิทวัส บุญญสถิตย์ จาก senate.go.th