"ปณิธาน"ไขข้อข้องใจ คสช.สร้างเอกภาพดับไฟใต้ ทำไมเหตุรุนแรงยังเกิด
เหตุการณ์เผาโรงเรียน 6 แห่งใน อ.ทุ่งยางแดง และ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ต.ค.57 ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหลายมิติ
ข้อมูลมีทั้งที่ถูกต้อง มีทั้งที่ผิดพลาด...
บ้างก็ว่าเหตุเผาโรงเรียนในลักษณะพร้อมกันหลายแห่ง ไม่ได้เกิดขึ้นมานานมากแล้ว ทั้งที่จริงๆ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 เพียงไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุเผาโรงเรียน 2 แห่งใน อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งในวันเดียวกันนั้นยังเกิดเหตุรุนแรงอีกหลายสิบจุดในหลายอำเภอ
ขณะที่ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเหตุรุนแรงที่กระทำถึงในโรงเรียนหรือหน้าโรงเรียนนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเหตุระเบิด หรือแม้แต่ยิงครูต่อหน้านักเรียน
ส่วนเหตุเผาสถานที่ราชการพร้อมกันหลายๆ แห่ง ก็ยังปรากฏอยู่เนืองๆ เป้าหมายเปลี่ยนไปจากโรงเรียน เป็นอาคารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้าง เทศบาลบ้าง
ทั้งนี้ การก่อเหตุเผาสถานที่ราชการ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือสำนักงานของหน่วยราชการใดก็ตาม หากไม่ใช่ในพื้นที่อำเภอเมืองแล้ว ต้องถือว่าเกิดขึ้นค่อนข้างง่าย คล้ายๆ กับการเผากล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้จริง สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพพื้นที่ในสามจังหวัดส่วนใหญ่เป็นถนนในป่ายางพารา ซึ่งเปลี่ยวและง่ายต่อการถูกซุ่มโจมตี ทำให้การออกลาดตระเวนหรือตั้งด่านในเวลากลางคืนในพื้นที่ห่างไกล เป็นเรื่องยากมาก
ขณะที่ฝ่ายผู้ก่อการมีจุดแข็งที่การเป็นคนในท้องถิ่น มีหูตาในพื้นที่ที่จะก่อเหตุ และเป็นเสมือนกลุ่มอิทธิพล เพราะมีอาวุธ จึงเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านทั่วไปจะกล้าให้ข้อมูลแจ้งเตือน หรือออกมาขัดขวางขณะเกิดเหตุ
เพราะหากทำอย่างนั้นก็เท่ากับหาที่ตาย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่อาจแบ่งกำลังไปรักษาความปลอดภัยให้ใครได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นี่คือ "จุดอ่อน" ของการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงกำลังปิดจุดอ่อนนี้ด้วย "ทุ่งยางแดงโมเดล" โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับกองกำลังประจำถิ่น หรือภาคประชาชน เพื่อให้ช่วยกันดูแลพื้นที่กันเอง ขณะที่กำลังทหาร ตำรวจ หรือทหารพราน ทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยง
ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต่างของมุมมองในระดับนโยบาย หรือคนที่อยู่นอกพื้นที่ กับผู้ปฏิบัติจริงที่ขับเคลื่อนงานอยู่ในสามจังหวัดซึ่งหลายๆ ครั้งมีข้อจำกัดมากพอสมควร
และนั่นก็สอดรับกับเสียงสะท้อนที่เป็นคำถามว่าเหตุใดสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ยังไม่ดีขึ้น ทั้งๆ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ประกาศใช้กฎหมายพิเศษเต็มพิกัด พร้อมกำหนดทิศทางของนโยบายและการใช้งบประมาณดับไฟใต้เองแบบ 100% ผ่านการขับเคลื่อนงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และแม่ทัพ
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) อธิบายเรื่องนี้เอาไว้ แม้จะเป็นการพูดก่อนเกิดเหตุเผาโรงเรียน 6 แห่ง แต่ข้อสังเกตของเขาก็ยังทันสมัย
"การปรับโครงสร้างการทำงานแก้ไขปัญหาภาคใต้ของ คสช. ทำให้การบริหารงานกระชับขึ้น และแนวโน้มก็ควรเป็นอย่างนั้น คือ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) กับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า) เริ่มนำงบประมาณมาบูรณาการกันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ศักยภาพในการแก้ปัญหาจึงสูงขึ้น โดยในเชิงโครงสร้าง คสช.มาจัดสายบังคับบัญชาให้สั้น กระชับ และให้บทบาทกองทัพมากขึ้นกว่าเดิม"
อย่างไรก็ดี ดร.ปณิธาน มองว่า ยุทธศาสตร์การให้น้ำหนักกองทัพมากขึ้นนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องตอบคำถามด้วยว่ามากไปหรือไม่ เพราะเริ่มจะชนเพดานแล้ว
เขาชี้ว่า ปัญหา ณ วันนี้อยู่ที่ภาคปฏิบัติมากกว่าระดับนโยบายที่เป็นเอกภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
"ปัญหาวันนี้อยู่ที่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ อยู่ที่ความชำนาญ อยู่ที่ประสิทธิภาพของฝ่ายกองกำลัง ถ้าตั้งด่าน แต่ไม่ตรวจจริง ก็ป้องกันเหตุร้ายไม่ได้อยู่ดี แม้ระดับบนทำได้ดี ผลักดันนโยบายได้ดี แต่การปฏิบัติต้องดีด้วย จุดเด่นในยุคนี้ชัดเจนคือเรื่องเอกภาพ ไม่ต้องมานั่งคุยกันมาก แต่ความสำเร็จต้องดูที่การปฏิบัติจริง"
นักวิชาการด้านความมั่นคงผู้นี้ ยังขยายภาพให้เห็นเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วเอกภาพที่พูดกัน ยังเป็นเอกภาพเชิงการทหาร ไม่ใช่การเมือง ฉะนั้นระยะยาวจึงต้องรวมใจ รวมความร่วมมือของภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคการเมือง ไม่ใช่ทหารอย่างเดียว
"ระยะเวลาของ คสช.หรือรัฐบาลชุดนี้มีสั้นๆ ไม่เป็นไร แต่ต้องทำงานรองรับไว้สำหรับระยะยาว ไปสู่หลังเลือกตั้ง ต้องให้พลเรือนนำทหารมากขึ้น โดยที่เอกภาพยังคงอยู่ ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารต้องเดินต่อ โครงสร้างต้องกระชับที่สุด ถ้าทำเรื่องเหล่านี้ได้ ปัญหาก็จบได้จริง"
"วันนี้เอกภาพของระดับนโยบายไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แต่การปฏิบัติ ตรวจตรา ปิดล้อม ตรวจค้น ต้องไม่ก่อเงื่่อนไข ถ้านโยบายดี คุมพื้นที่สำเร็จ คุมการก่อเหตุรุนแรงได้ การเจรจาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ก็จะง่ายขึ้นด้วย" ดร.ปณิธาน กล่าวทิ้งท้าย