นักวิชาการ จี้รบ.เปิดร่างกม.ภาษีมรดก หวั่นตั้งธง เข้าสภาฯ แก้ยากแล้ว
อ.นิติศาสตร์ มธ.แนะศึกษาบทเรียนกม.ภาษีมรดกในต่างประเทศ เชื่อเป็นวิธีทางหนึ่งในการป้องกัน ไม่ให้กม.ไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ อยากเห็น ข้อยกเว้น ไม่เก็บภาษีใครบ้าง
กรณีความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดกใกล้เสร็จแล้ว และมีการคาดกันว่า จะเสร็จก่อนสิ้นปี 2557 นั้น ศ.ดร สุเมธ ศิริคุณโชติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งในเวทีงานเสวนาวิชาการ ภาษีมรดก : ประโยชน์(ภาระ) ตกกับใคร จัดโดยสาขาภาษีอากร คณะนิติศาสตร์ มธ. เนื่องในงานวันรพีว่า ช่วงที่ผ่านมามีการขอดูร่างกฎหมายนี้กับหน่วยงานราชการ แต่ได้รับการตอบกลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ก่อนส่งมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป
“เท่าที่ทราบปัจจุบันร่างกฎหมายนี้ออกจากกฤษฎีกาแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม 2557 ซึ่งการนำร่างกฎหมายภาษีที่มรดกเปิดเผยต่อสาธารณะ จะเป็นประโยชน์ เพื่อดูว่ากระทบกับใคร อย่างไรบ้าง รวมถึงจะมีการวางแผนอย่างไรในอนาคต แต่หากภาษีนี้ออกมาแล้วบังคับใช้ทันที โดยสาธารณชนไม่ได้รับรู้จะทำให้หลายคนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการออมทรัพย์ได้รับการกระทบกระเทือนจากกฎหมายใหม่จากที่ไม่เคยมีการเก็บภาษีชนิดนี้มาก่อน”
ศ.ดร สุเมธ กล่าวถึงการจะร่างกฎหมายควรมีความระมัดระวัง ซึ่งการศึกษาบทเรียนจากกฎหมายต่างประเทศก็เป็นวิธีทางหนึ่งในการป้องกัน ไม่ให้เกิดกฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีกฎหมายภาษีมรดกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 แต่ไม่เคยนำมาใช้เลย
ขณะที่ ศ. (พิเศษ) ดร. ปรีชา สุวรรณทัต นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าวถึงการไม่เปิดเผยร่างกฎหมายภาษีมรดก อาจเป็นเพราะรัฐบาลตั้งธง และกำหนดตายแล้วจะไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ อีก โดยเฉพาะ “ข้อยกเว้น”ภาษีมรดกซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ทราบมีใครบ้างได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี รวมไปถึงเพดาน หรือวงเงินเท่าไหร่ จึงจะเสียภาษี
“ที่พูดกันว่า วงเงิน 50 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสียภาษี หากมีการตั้งธงไว้ที่ 50 ล้านบาท ตัวเลขนี้จะนิ่งแล้ว โดยหลักการร่างกฎหมาย แม้จะผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นสภาที่ปกติ วงเงิน หรือข้อยกเว้น อาจเปลี่ยนแปลงได้" ศ. (พิเศษ) ดร. ปรีชา กล่าว และว่า แต่การที่รัฐบาลมีธงแน่นอนอยู่แล้ว ร่างกฎหมายภาษีมรดกฉบับนี้ ก็จะเหมือนร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2558 วันที่เข้าสภาฯ ไม่มีใครขอแปรญัตติ”
ส่วน ผศ. ดร. ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครเคยเห็นร่างภาษีมรดก สังคมยังไม่เห็นมีการเสนออะไรกันอยู่ ซึ่งติดตามจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน พบว่า จะเก็บจากผู้รับมรดก ทรัพย์สินมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ทรัพย์สินที่จะนำมาคำนวณภาษี เป็นทรัพย์สินที่จดทะเบียนชัดเจน เช่น ที่ดิน บ้าน เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น รถยนต์ ฯลฯ ส่วนทรัพย์สินที่ไม่ได้จดทะเบียน เครื่องประดับ งานศิลปะ พระเครื่อง วัตถุโบราณไม่ถูกนำมานับเก็บภาษี
ผศ. ดร. ดวงมณี กล่าวด้วยว่า คาดว่า กฎหมายภาษีมรดกมีข้อยกเว้น ยกตัวอย่าง กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต ไม่ต้องเสียภาษี และให้เอาหนี้สินมาหักลบก่อน เป็นต้น ซึ่งก็สมเหตุสมผล รวมถึงกระแสข่าวที่ว่า จะมีการยกเว้นเก็บภาษีมรดก กรณีเป็นที่ดินของชาวนา หรือเกษตรกร บิดา มารดาเป็นเกษตรกรเสียชีวิตลง เมื่อมรดกตกถึงบุตรจะไม่ต้องเสียภาษี