“สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ” "สารคดี” นิวลุค(young) ยุคบก.เปลี่ยนผ่าน
"โจทย์ของผมคือ ทำอย่างไรให้นิตยสารแก่ไม่ได้ การปรับก็ต้องทำให้มีลุคที่เสพง่ายขึ้น ผมใช้คำว่า look young ทำยังไงให้กลับมา fresh ทันสมัยกับคนรุ่นปัจจุบัน ผมมั่นใจในคุณภาพเรื่องที่เราคัดสรรมานำเสนอผู้อ่าน แต่ทำยังไงให้ผู้อ่าน อยากอ่านเรา
“นิตยสารสารคดี” อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนานกว่า 30 ปี เป็นตำราบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมืองไทย มาหลายยุค หลายสมัย
สารคดี เปลี่ยนบรรณาธิการ มาแล้ว 3 ยุค 3 รุ่น ตั้งแต่ "สุชาดา จักรพิสุทธิ์” "วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” ล่าสุดคือ "สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ” ลูกหม้อสารคดี ขึ้นเป็นบก.ต่อจาก พี่จอบ วันชัย ที่อยู่มายาวนานกว่า23 ปี ก่อนตัดสินใจอำลาสื่อกระดาษไปทำทีวี
"สุวัฒน์" ถ่อมตัวว่า “...ผมเป็นเพียงบก.สารคดียุคเปลี่ยนผ่าน จากการเสพสื่อยุคกระดาษไปสู่การเสพทุกสิ่งบนสื่อดิจิทัล
และบอกในอีกแง่หนึ่งว่า "...ถึงวันหนึ่ง ผมก็คงแก่เกินไป ถ้าจะให้หนังสือไม่แก่ ต้องมีบรรณาธิการรุ่นใหม่มารับช่วงต่อ"
ทิศทางสารคดีในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร? การทำนิตยสารในยุคที่คนรุ่นใหม่อ่านหนังสือและวรรณกรรมผ่านมือถือ แท็บเล็ต ยากง่ายขนาดไหน? เขามองอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ผ่านงานอีเว้นท์หนังสืออย่างไรบ้าง
สำนักข่าวอิศรา พาคุณผู้อ่านไปรู้จักและพูดคุยกับ “สุวัฒน์" บก.สารคดีรุ่น3 ถึงสำนักพิมพ์สารคดีในซอยวัดปรินายก ย่านพระนคร ก่อนงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 19 จะเริ่มขึ้นไม่กี่วัน
…………
@ ตั้งแต่ขึ้นเป็นบก.สารคดี ชีวิตเปลี่ยนไปมั๊ยครับ
เปลี่ยนครับ งานมันเยอะขึ้น(หัวเราะ)
@ ก่อนหน้านี้ทำอะไรอยู่ในสารคดี
ผมเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์สารคดี เพราะในองค์กรของสารคดีมีทั้งนิตยสารสารคดี แต่เริ่มต้นจากมีวารสารเมืองโบราณก่อน แล้วก็มาทำนิตยสารสารคดี สักพักหนึ่งก็แตกมาเป็นสำนักพิมพ์สารคดี และสำนักพิมพ์เมืองโบราณ
ผมเข้ามาในช่วงที่นิตยสารสารคดี มีพี่สุชาดา เป็นบก.คนแรก แล้วก็มาเป็นพี่วันชัย ช่วงแรกผมเข้ามาในฐานะฝ่ายวิชาการ ต้องประสานกับนักวิจัยข้างนอกพอสมควร เพื่อจะนำเรื่องราวที่ยังไม่ค่อยมีใครได้รับรู้มาเผยแพร่
รวมทั้งได้เขียนลงสารคดีด้วย ต่อมานิตยสารสารคดีก็เกิดความคิดว่าน่าจะนำเรื่องที่เคยลงในแต่ละฉบับมารวมเป็นเล่มพิเศษหรือเรียกว่าสารคดีฉบับพิเศษ เล่มแรกคือเรื่องสัตว์ป่าเมืองไทย หลังจากนั้นก็เริ่มมีฉบับพิเศษเยอะขึ้น งานเล่มพิเศษดูแลโดยฝ่ายวิชาการก็พัฒนามาเป็นสำนักพิมพ์
@ ก็มีเวลาเดินป่า ถ่ายรูป เขียนหนังสือ
ใช่ครับ แต่ตอนนี้ก็น้อยลงล่ะ(หัวเราะ) หลังจากเริ่มเป็นผู้อาวุโส ผมทำอยู่ที่นี่ 20 ปีได้ มาตั้งแต่ปี2532 หลังจากนั้นปี 2533 พี่สืบ(นาคเสถียร)ก็เสีย ก็มีโปรเจ็กต์ที่จะทำเรื่องเกี่ยวกับป่าหลายเรื่อง ผมมาครั้งแรกก็ไปทำเรื่องปลวก แต่ฝ่ายวิชาการก็ต้องคอยประสานกับนักวิจัยด้วย ยังไม่ได้เขียนหนังสืออะไร แต่ต้องไปเอาจอบทุบปลวกในป่า(หัวเราะ)
@ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของคุณคือ วันที่พี่จอบลาออก
จริงๆจุดเปลี่ยนมันเยอะนะครับ พอทำสำนักพิมพ์ก็ต้องต่อสู้เยอะ เพราะว่าเราทำพ็อกเก็ตบุ๊ค แล้วองค์กรก็เคยเผชิญปัญหาหลักในการต่อสู้เชิงธุรกิจเมื่อปี 2540 ก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจบูม โฆษณาก็เข้าดีทุกอย่าง แต่ปี2540 เกิดจุดเปลี่ยน เพราะแต่ก่อนเราทำหนังสือเพราะคนทำอยากทำ (หัวเราะ) แต่ขายได้ด้วย(นะ) มันไม่มีอะไรมาจำกัด แต่พอปี40 ทุกอย่างเปลี่ยน ก็ต้องเริ่มวิธีคิดใหม่
หลังจากนั้นก็ออกเซตท่องเที่ยวนายรอบรู้ ปัจจุบันก็ยังเป็นตัวขายซับพอร์ตเข้าองค์กรพอสมควร เหมือนเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ช่วยให้องค์กรอยู่ได้เหมือนกัน แต่สำนักพิมพ์ที่ออกพ็อกเก็ตบุ๊คก็ต้องเริ่มปรับวิธีคิด คิดเรื่องการตลาด ทั้งองค์กรต้องคิดเรื่องการตลาด ก็เอาตัวรอดมาได้ ส่วนนิตยสารสารคดีก็ปรับตัวจนมาถึงวันที่พี่จอบไม่อยู่
@ วันที่พี่จอบบอกว่าจะลาออก คุณคิดอะไร
มันไม่เหลือใคร(หัวเราะ) คือผมทำพ็อกเก็ตบุ๊คมานาน ก็ยังรู้สึกสนุก เล่มหนึ่งก็จบไปเลย แล้วก็คิดซีรีส์ใหม่ได้เรื่อยๆ ก็สนุกอีกแบบ
@ ได้คุยอะไรกับพี่จอบบ้างมั๊ย
ก่อนออกพี่จอบไม่ได้คุยด้วย พี่จอบก็ให้คนที่อยู่ตัดสินใจกันเองว่าใครจะมาดูแลต่อ พอรับว่าจะมาดูแลต่อ ก็คุยรับมอบงานกัน
@ เครียดมั๊ยครับ
ไม่นะครับ เพราะทีมงานของกองบก.ค่อนข้างเข้มแข็ง ทั้งฝ่ายออกแบบ ฝ่ายภาพ และทีมนักเขียน พอผมเข้ามาก็ยังไม่เปลี่ยนอะไร เพราะทุกคนทำงานเต็มที่กันอยู่แล้ว เราเพียงแต่ดูทิศทางและความเป็นไปในช่วงแรก แล้วก็ต้องฟังความเห็นของทุกคนมากขึ้นในการประชุม สร้างการมีส่วนร่วมว่าแต่ละคนคิดเห็นยังไง เอาหลักคิดหรือทิศทางมาปรับว่าไปทางนั้น ทางนี้มันถูกหรือเปล่า ก็ทำให้มันสมูทขึ้น
@ ว่ากันว่าหนังสือเป็นหน้าต่างของบก.
ผมคงไม่เป็นแบบนั้น สารคดีมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว สิ่งที่พี่จอบทำมาได้สร้างอุดมคติ หรือว่าอะไรบางอย่างให้ความเป็นสารคดีที่เราก็เข้าใจ ก็ยึดแนวทางที่มุ่งไปสู่อุดมคตินั้นเหมือนกัน ที่ทำมาก็ไม่คิดว่าผิดเพี้ยนไปนะ แต่สิ่งที่กังวลตอนนั้นคือ สารคดีแก่ไปหรือเปล่า จริงๆ พี่จอบหรือทีมงานก็จับกระแสได้อยู่แล้ว ตอนครบ 20 ปี ทีมงานก็มองว่าสารคดีต้องปรับลุค ปรับโฉม ก็ดูทันสมัยขึ้นในตอนนั้น แต่โลกหนังสือเคลื่อนไหวเร็ว ปัญหาของสารคดีคือทำอย่างไรไม่ให้มันแก่
@ แคแรกเตอร์สารคดียุคคุณเป็นแบบไหน
ผมก็อยู่มานาน แก่แล้วเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่เราก็วิเคราะห์นะ ช่วงสารคดีครบ20ปี ก็มีการเปลี่ยน พยายามปรับ เพราะมันนิ่งไป ก็ค่อนข้างสนุกสนาน เช่น คอลัมน์ฟังเด็ก ไปสัมภาษณ์เด็กรุ่นใหม่ที่ทำโน่นทำนี่ แล้วก็ไปคุยกับผู้ใหญ่ที่มีความคิดร่วมสมัยด้วย
ตอนนั้นก็น่าสนใจ แต่ก็นั่นแหละวงการนิตยสารเปลี่ยนไปเร็ว คนออกแบบนิตยสารค่อนข้างทันสมัยมากขึ้น ทิศทางไลฟสไตล์มีมากขึ้น มีนิตยสารที่เป็นนิชมาร์เก็ตมากขึ้น ทุกรูปแบบ ทุกเซ็กชั่น เจาะทุกความสนใจ ขณะที่สารคดี ต้องยอมรับว่าเป็นหนังสือที่ไม่ได้ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะทาง แต่เราทำทุกเรื่อง ตั้งแต่การเมือง ประเพณี วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ
สิ่งที่เรากังวลคือ คนอ่านประเภทที่สนใจเรื่องทุกอย่างเริ่มไม่ค่อยมีแล้ว เทียบกับผู้อ่านรุ่นใหม่จะอยู่กับอะไรที่เขาสนใจ ให้ความสุขกับเขาในมุมนั้นๆไปเลย แต่ก็อาจจะไม่รู้อีกเรื่องหนึ่งไปเลยเช่นกัน ฉะนั้น คนอ่านที่เลือกซื้อสารคดี แต่ก่อนซื้อทุกเล่ม วันนี้เปลี่ยนไปเป็นลักษณะเลือกซื้อเฉพาะปกที่สนใจ กลุ่มนี้จะกลายเป็นสัดส่วนที่สูง ขณะเดียวกันก็ยังมีสมาชิกประจำที่เหนียวแน่นเพื่อที่จะได้หนังสือทุกเล่มเช่นกัน อีกส่วนก็เป็นนักอ่านหน้าใหม่ที่ไม่รู้จักสารคดี แต่พอเราทำเรื่องไหนที่ตรงความสนใจของเขาขึ้นมาปุ๊บ เขาก็อาจมีคำถามว่า มีนิตยสารชื่อสารคดีด้วยเหรอ(หัวเราะ)
@ แล้วจะปรับอย่างไรให้ตอบโจทย์กลุ่มคนอ่านได้ทั่วถึง
โจทย์ของผมคือ ทำอย่างไรให้นิตยสารแก่ไม่ได้ การปรับก็ต้องทำให้มีลุคที่เสพง่ายขึ้น ผมใช้คำว่า “look young” ทำยังไงให้กลับมา fresh ทันสมัยกับคนรุ่นปัจจุบัน ผมมั่นใจในคุณภาพเรื่องที่เราคัดสรรมานำเสนอผู้อ่านนะ แต่ทำยังไงให้ผู้อ่านอยากอ่านเรา
ก็เพิ่มคอลัมน์ในส่วนที่เป็นสัดส่วนการดู เป็นการ์ตูน มีอินโฟกราฟิกมากขึ้น ลดทอนความยาวต้นฉบับลง คอลัมนิสต์เขียนเพียงคนละ2หน้าทำให้ดูอ่านง่ายขึ้น ถูกทำให้สั้นกระชับขึ้น แม้แต่สกู๊ปหลักก็คุยกันในกองว่าพยายามเขียนยังไงให้สั้นอย่างที่เราต้องการ แต่คงประเด็น คงข้อมูล
นอกจากนี้เรามีมอตโต้เรื่อง “Go green” ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมสารคดีทำมาตั้งแต่แรก ให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ พืชพันธุ์สัตว์ป่า เราก็มีคอลัมน์ Green planet รองรับรองตรงนี้สำหรับผู้อ่าน
ตอนนี้ปัญหาใหญ่มากคือ การก้าวไปสู่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ต้องติดตาม มอนิเตอร์ เพราะมันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เช่น พายุขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลสรุปจากนักวิจัยว่าเป็นผลจากโลกร้อน สารคดีมองว่าเราคงไม่ได้ทำเรื่องนี้เป็นวาระ แต่เหมือนเราประกาศจุดยืนว่า ผู้อ่านควรติดตามอ่านอย่างจริงจัง เพราะโลกร้อนมาเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้ แล้วก็จะเสริมแนวทางแก้ปัญหา เช่น การขี่จักรยาน การใช้ชีวิตกรีนหน่อย วันนี้ก็มีคนทำเยอะ ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมกับผู้อ่าน นี่คือทิศทางเลยนะ ถ้าเราไม่สื่อสารเรื่องพวกนี้ อาจจะอยู่บนโลกใบนี้ยากขึ้น
ส่วนเรื่องภาพถ่าย สารคดีก็เป็นที่ยอมรับมาตั้งแต่ทำงานแรกๆ ในแง่การออกแบบเดิม บางครั้ง บางเรื่องเป็นเชิงวิชาการไปมีแต่ข้อความ หนังสือก็ดูหนัก ที่ประชุมก็คุยกันว่าภาพถ่ายต้องทำงาน ต้องเล่าเรื่องได้ มีเนื้อเรื่องอยู่ในภาพ การออกแบบก็จะให้พื้นที่แสดงพลังของภาพถ่ายมากกว่าแต่ก่อน
ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้ช่างภาพอิสระที่มีฝีมือ มาแสดงฝีมือเป็น Photo Essay สารคดีก็จะทำหน้าที่เป็นเวทีนี้ให้สอดคล้องกับคอนเซ็ป look young เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาแสดงผลงานกับเรา ถ้าเราทำเองอย่างเดียวก็เหมือนกับองค์กรที่ปิดไปหน่อย สารคดีอยู่มานานก็เหมือนผู้ใหญ่ ก็ควรจะสนับสนุนให้เวทีกับคนรุ่นใหม่ด้วย ปรับตัวให้ร่วมสมัยขึ้น ทั้งคนอ่านและคนทำ และพยายามสื่อสารกับคนอ่านด้วย
@ มีฟีดแบคจากคนอ่านอย่างไรบ้าง
ก็ค่อนข้างดี อย่างงานหนังสือหรืองานมหกรรมหนังสือทุกครั้ง บางคนที่เคยเป็นสมาชิกแล้วหยุดไปช่วงหนึ่ง พอกลับมางานหนังสือ เขาเห็นลุคใหม่ของเราก็สมัครใหม่เลย สำหรับผมโอเค แต่บางครั้งก็ผู้อ่านรุ่นเก่าก็ติว่าฟอนต์เล็กไป แต่เราก็รู้ว่าเพื่อให้ดูวัยรุ่นหน่อย ฟอนต์ใหญ่ก็อาจจะดูแก่ไป(หัวเราะ)
@ ในเชิงธุรกิจ สารคดีมั่นคงแค่ไหน
อยู่ในภาวะที่เรียกว่าอยู่ตัว แต่ไม่มีทุนสะสมมากนัก หากต้องเผชิญกับคลื่นลมแรงหน่อย ก็อาจจะลำบาก ยืนระยะไม่ง่ายหากต้องเจอวิกฤตเศรษฐกิจหนักๆ ปีนี้ก็ถือว่าพอเอาตัวรอด (หัวเราะ) ต้องขอบคุณเจ้าของคือคุณสุวพร ทองธิว ที่ช่วยประคับประคองสถานการณ์ให้สารคดีทุกครั้งที่ต้องเผชิญอะไรหนักๆ
อย่างการเลือกสกู๊ปปกก็สำคัญมาก ในช่วงหนึ่งถ้าเราทำสิ่งแวดล้อมเยอะๆก็จะมีปกสัตว์ติดๆกัน หรือเรื่องประวัติคนก็ทำติดๆกัน ทิศทางแบบนี้อาจจะทำให้ผู้อ่านเบื่อ ฉะนั้นสมัยผมก็พยายามกระจายความหลากหลาย เพราะวันนี้คนอ่านเลือกจากปกที่หลากหลายอีกต่างหาก ก็พยายามกระจายประเด็น
บางครั้งก็ต้องเลือกเรื่องให้เข้ากับกระแสความสนใจของคน เพราะเดี๋ยวนี้มีกลุ่มคนที่สนใจอะไรคล้ายๆกันเป็นเรื่องๆไป เช่น เรื่องวิ่งมาราธอน คนวิ่งเยอะมากแต่เราไม่ค่อยรู้ แล้วก็มากขึ้นเรื่อย ๆเป็นการดูแลสุขภาพ พอสารคดีทำเรื่องนี้ ก็มีคนสนใจเยอะมาก หรือกลุ่มเด็กแต่งตัวคอสเพลย์ก็น่าสนใจ หลายคนอาจมองเด็กกลุ่มนี้ว่าไร้สาระ แต่ผมคิดว่าสังคมไทยควรมีพื้นที่ให้เด็ก เพราะที่ผ่านมาก็เป็นปัญหาพัวพันไปถึงเรื่องการศึกษา ว่าเรามีพื้นที่ให้เด็กน้อยเกินไปหรือเปล่า
หรือปก แชมป์ไทยไปแชมป์โลก จริงๆเรามองว่าเด็กไทยมีความสามารถในหลายรูปแบบ เพียงแต่ระบบการศึกษามัวแต่วัดเด็กด้วยคะแนนสอบเท่านั้น ไม่มีใครไปชื่นชมเขาจนกว่าจะเป็นฮีโร่หรือได้แชมป์อะไรกลับมา ซึ่งการศึกษาน่าจะมีพื้นที่ให้เด็กสะสมความภูมิใจในตัวเองไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม มีเรื่องให้ทำเยอะมาก แต่สารคดีก็ทำมาเยอะมากเช่นกัน บางเรื่องเคยทำแล้วจะทำใหม่ก็ต้องหามุมแก๊กใหม่ๆมานำเสนอในสิ่งที่ผู้อ่านสนใจด้วย
@ ก็ต้องมาปรับที่คอนเทนต์ หรือเปล่า
วันนี้มันนิชไปเรื่อยๆ ความอยู่ยากคือ มีกลุ่มผู้อ่านที่ตอบสนองเรามากพอให้เราทำงานต่อหรือเปล่า อันนี้สำคัญ บางคนนิชแต่มีก้อนคนอ่านที่ทำได้ ก็อยู่ได้
ต้องยอมรับว่าธุรกิจนิตยสารมีรายได้อยู่3 ส่วน 1. โฆษณา 2.ยอดขายในตลาด 3.สมาชิก ซึ่งหลายนิตยสารอยู่ได้ด้วยโฆษณาเลยเพราะเขาตอบโจทย์สินค้าได้เป๊ะ เพราะเมื่อมันนิช แล้วมีคอนเทนต์ที่ตรงกับผู้อ่าน โฆษณาก็มา
แต่สำหรับสารคดีวันนี้ต้องอาศัยทั้ง 3 ช่องทาง ต้องประคองสามขานี้ให้ได้เพราะมันแบ่งเกือบเท่าๆกัน โฆษณาของสารคดีลำบากอยู่ครับ เพราะเราไม่ได้มีคอนเทนต์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายแน่ชัดว่าคุณเป็นหนังสือผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นหนังสือเด็กหรือเปล่า วัยรุ่นหรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจ แต่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย พยายามทำให้คนทุกกลุ่มอ่าน
โฆษณาที่เป็นโปรดักส์ที่มาลงจึงค่อนข้างมีน้อย ส่วนใหญ่ที่เข้าเป็นลักษณะขายเชิงซีเอสอาร์ ภาพลักษณ์องค์กร เพราะสารคดีมีจุดคิดร่วมกันในเชิงทำงานเพื่อสังคม ก็จะได้โฆษณาแง่นี้เป็นหลัก แต่ถามว่าเราอยากได้โฆษณาเพิ่มขึ้นมั๊ย ตอบในเชิงธุรกิจเลยว่าต้องการมาก
แต่ปีที่ผ่านมา โฆษณาหดตัวพอสมควรโดยภาพรวมทั้งหมด เพราะสื่อที่กำลังดูดจากสิ่งพิมพ์ไปเยอะคือ การใช้เม็ดเงินโฆษณาไปกับการจัดอีเว้นท์หรือสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเจ้าของสินค้ามองว่าได้ประโยชน์กว่า ฉะนั้น องค์กรที่จัดอีเว้นท์ก็ค่อนข้างเติบโตขึ้น
ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ ผมเข้าใจว่าถูกตัดงบพอสมควรในหลายๆแห่ง ฉะนั้น หลายแห่งถ้าเป็นเจ้าใหญ่ ก็มีไพ่ในมือให้เล่นเยอะ ลงโฆษณาเล่มนี้แถมเล่มนั้น ขณะที่สารคดีเองมีนิตยสารอยู่เล่มเดียว ไม่รู้จะแถมตรงไหน(หัวเราะ) ไม่นับเรื่องต้นทุนการทำงานของสารคดีที่ต้องทุ่มเท จะเขียนแต่ละเรื่องเราลงพื้นที่จริง ถ่ายรูปจริง คนเขียนต้องใช้เวลากับมัน เดินทางและทำงานอย่างประณีต ต้นทุนทำงานจึงค่อนข้างสูง ยิ่งค่าน้ำมันสูง ค่าเดินทางเป็นปัจจัยหลักมาก สำหรับคนทำงานที่ลงพื้นที่ขณะเดียวกันคนทำงานก็ต้องการเงินเดือนทุกคน ต้องตามเงินเฟ้อ ของสังคมให้ทัน
ส่วนการขายในตลาด บางเล่มก็หมดเร็ว บางเล่มก็อืด ผมเชื่อว่าทุกสำนักพิมพ์แบกสต๊อกอยู่ แต่บางคนที่มีโฆษณาเข้ามา เขาไม่กังวลจุดนี้เท่าไหร่ ขณะที่เรากังวล สารคดีกังวลกับยอดในตลาดการขาย ก็ต้องกลับมาพิถีพิถันกับการคัดเลือกเรื่อง แล้วก็ต้องมาเน้นในเรื่องของสมาชิก
ผมไม่รู้ว่านิตยสารอื่นมองจุดนี้มั๊ย แต่ผมว่านี่เป็นก้อนสำคัญที่หดไม่ได้ เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงต้องขอบคุณท่านที่เป็นสมาชิกประจำมากๆ เราพยายามรักษาตรงนี้ไว้ ระยะหลังก็จัดกิจกรรม สารคดีเอฟซี หมายความว่าแต่ก่อนเราอาจจะสื่อสารกันผ่านตัวหนังสืออย่างเดียว แต่ปัจจุบันเราก็สร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น จัดเป็นกิจกรรม ดูนก ดูผีเสื้อ ไปปลูกข้าวกันบ้างสำหรับคนที่เป็นแฟนประจำของเรา หรือจัดสารคดีทอล์กที่เราอยากจะคุยต่อจากสกู๊ปปก เป็นการขยายฐานความรู้จากตัวหนังสือมาพูดคุย มาฟัง มาถามกัน
นอกจากนี้ก็เพิ่ม Back issue ออนไลน์ สมาชิกประจำสามารถเข้าไปอ่านสารคดีฉบับย้อนหลังในเว็บไซด์ วันนี้เราใส่เข้าไปเล่มที่1-100 และจะทยอยใส่เพิ่มเข้าไปอีก บางครั้งช่วงงานสัปดาห์หนังสือก็จะมีสมาชิกมาต่ออายุสมาชิก เราก็จะมีลดราคา มีของขวัญพิเศษให้ ก็ต้องขอบคุณจริงๆ ก็พยายามบริหารจัดการกลุ่มเป้าหมายทั้งจากโฆษณา การขายทั่วไป และกลุ่มสมาชิก
@ แต่สื่อออนไลน์ ก็ไลล่าสื่อสิ่งพิมพ์เข้ามาทุกที ตรงนี้จะทำอย่างไร
ก็มีผลกับสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกระดาษค่อนข้างสูง ด้วยแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน แต่ก็กลายเป็นว่าคนที่ใช้ไม่ได้อ่านหนังสือเท่าไหร่ เข้าไปในสังคมโซเชียลแต่ไม่ได้อ่านหนังสือ ฉะนั้น ค่อนข้างเป็นห่วงว่า ผลกระทบของมัน คือ เวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือหายไป
ผมเองก็ถูกดูดเข้าไปในกระแสนั้นเหมือนกัน อ่านหนังสือเป็นเล่มๆน้อยลง แต่เข้ามาอยู่ในสังคมโซเชียล แฮ๊ปปี้และตอบสนองเร็วกว่ากับการโพสต์ กดไลค์ แชร์ มันทันใจ ก็น่ากลัวอยู่ว่าการอ่านจะเป็นอย่างไร ในงานมหกรรมหนังสือผมก็อยากดูนะว่ากระแสเป็นอย่างไร คนไปซื้อหนังสืออ่านมากน้อยขนาดไหน น่าสนใจว่าพฤติกรรมคนอ่านในช่วงหนึ่งปีเปลี่ยนไปมากมั๊ย
@ การประคองสื่อกระดาษในยุคของสื่อดิจิทัล ไม่ใช่เรื่องง่าย
ก็ต้องสู้นะ ผมเป็นบก.สารคดียุคเปลี่ยนผ่าน ก็ต้องปรับตัว เพราะเรากำลังเปลี่ยนผ่านจากกระดาษไปสู่การเสพทุกสิ่งบนสื่อดิจิทัล ขณะที่คนทิ้งกระดาษไปแต่ก็ไม่ได้อ่านหนังสือ เขาไปใช้ชีวิตออนไลน์
ฉะนั้นคอนเทนท์ที่อยู่ในสิ่งพิมพ์ ในนิตยสารแล้วไปอยู่ในดิจิทัล จะทำอย่างไรให้คนอ่านที่อยู่ในดิจิทัลสนใจอ่านในคอนเทนท์นั้นๆ ไม่แน่ว่าอาจจะเกิดรูปแบบอะไรใหม่ๆ เพราะดิจิทัลมีรูปแบบของตัวมันเอง อาจจะสร้างรูปแบบชีวิตบางอย่างของมันเองขึ้นมา ซึ่งเรายังตอบไม่ได้ว่าจะไปจบตรงไหน เพราะถ้าคนต้องการเสพสิ่งที่เร็ว ก็จะเป็นเรื่องวิดีโอ ภาพเรียลไทม์ ภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ แต่ไม่ใช่หนังสือที่อยู่บนโลก 2 มิติ ที่ไม่ต้องการความเร็วใดๆทั้งสิ้น เป็นโลกของคนอ่านหนังสือ ใช้สมาธิ ใช้ความช้า (หัวเราะ)
ถ้ามองโลกแง่ร้าย คอนเทนท์ที่อยู่บนโลกกระดาษ อาจจะไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดบนสื่อดิจิทัลได้เลย อ่านกันแค่สองบรรทัด เขียนอะไรเท่ห์ๆ สะกิดใจ สองบรรทัด จบ
สุดท้ายเราอาจจะต้องกระจุกตัวกับสื่อกระดาษต่อไป ส่วนสื่อดิจิทัลคงจะมีรูปแบบชีวิตที่สอดคลองกับรูปแบบของตัวเอง